ข้อมูลทั่วไป ประวัติ อาหารอร่อย สถานที่ท่องเที่ยว เทศกาล และ งานประเพณี
ภูเก็ต : กระบี่ : ระนอง : ตรัง : พังงา : สตูล
พังงา เป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีพื้นที่ 4,170.895 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 788 กิโลเมตร ชื่อของจังหวัดพังงานั้นเดิมน่าจะเรียกว่า เมืองภูงา ตามชื่อเขางา หรือเขาพังงา ซึ่งอยู่ในตัวเมืองพังงาในปัจจุบัน เมื่อตั้งเมืองขึ้นจึงเรียกกันว่า เมืองภูงา เมืองภูงานี้อาจจะตั้งชื่อให้คล้องจองเป็นคู่กับเมืองภูเก็ตมาแต่เดิมก็ได้ แต่เหตุที่เมืองภูงากลายเป็นเมืองพังงานั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากเมืองภูงา เป็นเมืองที่มีแร่อุดมสมบูรณ์จึงมีฝรั่งมาติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกันมาก และฝรั่งเหล่านี้คงจะออกเสียงเมืองภูงาเป็นเมือง พังงา เพราะแต่เดิมฝรั่งเขียนเมืองภูงาว่า PHUNGA หรือ PUNGA ซึ่งอาจอ่านว่า ภูงา หรือจะอ่านว่า พังงา หรือ พังกา ก็ได้
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดระนอง
ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดภูเก็ตตรงช่องแคบปากพระ เชื่อมกันโดยสะพานสารสินและสะพานเทพกระษัตรี
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดกระบี่
ทิศตะวันตก ติดกันทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดพังงา เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทอดเป็นแนวยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 239.25 กิโลเมตร มีพื้นที่ป่าไม้ เป็นป่าไม้ประเภทไม้ผลัดใบ มีชนิดป่าที่สำคัญ ได้แก่ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าชายเลน สำหรับบริเวณที่เป็นที่ราบจะลาดลงจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ลงสู่ทะเลอันดามัน ตามชายฝั่งทะเลจะมีป่าชายเลนเกือบตลอด พื้นที่ประกอบด้วยเกาะประมาณ 105 เกาะ และมีเกาะอยู่ในทะเลอันดามันจำนวนมาก เช่น เกาะยาว หมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน
ลักษณะภูมิอากาศ
พังงามีภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ได้รับอิทธิพลของลมมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มี 2 ฤดู คือ
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ไปถึง เดือนเมษายน
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไปถึง เดือนธันวาคม
จากการที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมในเขตร้อน อุณหภูมิในแต่ละฤดูกาลจึงไม่แตกต่างกันมากนัก คือ อยู่ระหว่าง 29 - 36 องศาเซลเซียส และปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 3,614.5 มิลลิเมตร
การปกครอง
การปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ 48 ตำบล 314 หมู่บ้าน
จากพงศาวดารปรากฏว่าก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเมืองพังงาเป็นเมืองแขวงขึ้นกับ เมืองตะกั่วป่าจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเทียบเท่าเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และโอนเมืองจากฝ่ายกรมท่ามาขึ้นเป็น ฝ่ายกลาโหมตั้งแต่นั้นมา โดยจาก ประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ และสืบค้นได้แน่ชัด ปรากฎว่าเมืองพังงาได้รับการจัดตั้งเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2352 ซึ่งในปีนั้นเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่าได้มอบหมายให้ อะเติงหวุ่น เป็นแม่ทัพ นำกองทัพเรือของพม่าได้เข้าตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง เมืองถลาง และได้กวาดต้อนผู้คนไปรวมไว้ที่ค่าย ของตน และเผาเมืองถลางเสีย ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์กรมพระราชวังบวร ยกทัพหลวงจากกรุงเทพฯ มาช่วย และได้มาทันขับไล่ทหารพม่าหลบหนี
ระหว่างศึกได้มีราษฎรบางส่วนอพยพไปหลบภัยอยู่ที่ กราภูงา (ภาษามลายู แปลว่า ป่าน้ำภูงา) ที่มีภูเขาล้อมรอบ ครั้งเสร็จศึกแล้วกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงพระราชดำริว่า พม่าได้เผาเมืองถลาง ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลงยากที่จะสร้างขึ้นใหม่ จึงโปรดให้รวบรวมพลเมืองจากถลางข้ามฝากมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ กราภูงา และจัดการปกครองเป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏว่ามีหมู่บ้านชื่อ ถลาง ซึ่งเป็นผู้คนที่อพยพจากอำเภอถลาง มาอยู่ในเขตท้องที่อำเภอตะกั่วทุ่งในปัจจุบัน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริที่จะปรับปรุงบูรณะหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกที่ถูกพม่าตีให้เข้มแข็ง จึงได้แต่งตั้งข้าราชการมาเป็นเจ้าเมืองดังกล่าว โดยให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาบริรักษ์ภูธร(แสง ณ นคร) เป็นเจ้าเมืองพังงาคนแรกในปี พ.ศ.2383 รวมทั้งได้ยุบเมืองตะกั่วทุ่ง เป็นอำเภอขึ้นกับเมืองพังงา ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ประชุมเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตจึงมีมติให้ยุบเมืองตะกั่วป่าให้ขึ้นกับจังหวัดพังงา ตั้งแต่
พ.ศ. 2474 เป็นต้นมา แรกเริ่มที่ตั้งเป็นเมืองนั้นที่ทำการของรัฐบาล อยู่ที่บ้านชายค่าย ต่อมา พ.ศ. 2473 จึงได้มาสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นที่บ้านท้ายช้าง ครั้น พ.ศ.2515 จึงได้สร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นบริเวณถ้ำพุงช้างจนถึงปัจจุบัน
งานประเพณีปล่อยเต่า
กำหนดวันจัดงานตรงกับเดือนมีนาคม ของทุกปี มีการจัดงาน เฉลิมฉลอง เป็นเวลา 7 วัน กิจกรรมที่สำคัญของงาน คือ การปล่อยลูกเต่าลงสู่ทะเล ที่บริเวณ หาดท้ายเหมือง