แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

สตูล, มท.3 ดันงบ 6 หมื่นล้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ 5 จชต. ( ข่าวสตูล )

ข่าวสตูล : มท.3 ดันงบ 6 หมื่นล้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ 5 จชต.

สตูล - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เผยวันพุธที่ 25 มีนาคมนี้ ครม.ในเขตพัฒนาพิเศษ 5 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดประชุมผลักดันงบ 60,000 ล้านบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต

วันนี้ ที่วิทยาลัยเทคนิคสตูล อำเภอเมือง จังหวัดสตูล นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยให้สัมภาษณ์หลังเดินทางมอบนโยบายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.ว่า การประชุม คณะรัฐมนตรีในเขตพัฒนาพิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จะมีการประชุมขึ้นในวันพุธ ที่ 25 มีนาคม นี้ที่กรุงเทพมหานคร โดยวาระการประชุม คือการกำหนดแผนการโครงการซึ่ง คณะกรรมการพัฒนาเขตพิเศษเฉพาะกิจภาคใต้ พร้อมด้วย ครม.ภาคใต้ได้กำหนดเอาไว้ว่า มีแผนงานโครงการที่สนองตอบต่อนโยบายประมาณ 600 โครงการ เงินงบประมาณในช่วงปี 2552-2553 และ2554 กว่า 60,000 ล้านบาท
 
โดยเน้นหนักในโครงสร้างพื้นฐานประกอบอาชีพ การศึกษา สังคม จิตวิทยา และที่สำคัญคือ การค้าชายแดนและสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวนี้เมื่อผ่าน ครม.ใต้แล้วก็จะเสนอ ครม.ชุดใหญ่ หลังจากนั้นก็จะเสนอสภาผู้แทนราษฎร์ ซึ่งตั้งใจจะเอาเข้าสู่สภาในเดือนกรกฎาคม ที่จะถึงนี้

สำหรับการกำหนดเม็ดเงิน 60,000 กว่าล้านบาท 600 โครงการใน 5 จังหวัดชายแดนใต้เพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน โดยในวันนี้จะสำรวจเส้นทางการทำถนนจาก จังหวัดสตูล รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากขณะนี้รัฐเปอร์ลิสได้ทำถนนมาจ่อยังประเทศไทยแล้ว เพื่อเชื่อมโยงการค้าชายแดน และการท่องเที่ยว และการเดินทางไปมาของพี่น้องประชาชน ซึ่งโครงการนี้รัฐบาลก่อนๆ ได้ดำเนินการไปบ้างแล้วแต่ไม่มีใครกล้าตัดสินใจ เนื่องจากกลัวในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถนนสายนี้รัฐบาลประชาธิปัตย์เคยดำเนินการในลักษณะนี้โดยทำถนนสายอำเภอระโนดไป จังหวัดพัทลุง ซึ่งข้ามผ่านทะเลสาบยกระดับขึ้นมา สิ่งแวดล้อมไม่ได้รับผลกระทบเลย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางใต้ต้องแข่งขันกับการพัฒนาภาคเหนือ ของมาเลเซีย และจะต้องตามให้ทันแผนพัฒนาภาคตะวันออกของมาเลเซีย ถ้าหากเราช้ากว่านี้เพียงก้าวเดียวก็จะทำให้เราเสียเปรียบ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยว และนักลงทุนไปลงทุนในประเทศมาเลเซีย อีกทั้งยังเชื่อมโยงไปยังสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือ IMG-GT ที่ยุคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการเอาไว้

สำหรับแผนงานการตอบสนองการดำเนินการความไม่สงบสุขนั้นต่อชายแดนแน่นอน พี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ได้เรียกร้องความเท่าเทียม และความยากจน เขาเรียกร้องให้คนว่างงานจะได้มีงานทำ และเขาได้เรียกร้องให้ผลผลิตทางด้านการเกษตรมีราคาสูงขึ้น นอกเหนือจากความยุติธรรมที่ประชาชนเขาเรียกร้องอยู่แล้ว ดังนั้น ครม.เขตพัฒนาพิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องเร่งการดำเนินการให้ไปสู่การปฏิบัติเพื่อจะได้จัดให้ทันปีงบประมาณ 53 นี้

ส่วนโครงการท่าเรือน้ำลึก นั้นเป็นโครงการใหญ่ระดับชาติที่ทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ได้ดำเนินการมาในระดับหนึ่งแล้ว โดยเราต้องการให้ จ.สตูลเป็นเมืองท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญในฝั่งอันดามัน และในท่าเรือน้ำลึกสงขลา เป็นท่าเรือมาฐานสำคัญในฝั่งทะเลจีนตอนใต้ ซึ่งหากมีท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งเกิดขึ้น มีสะพานเชื่อมโยงเศรษฐกิจเกิดขึ้น จะทำให้การขนส่งสินค้าจาก จ.สงขลา ที่เดินทางไปส่งที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ปีหนึ่งๆ เราขนส่งสินค้าประมาณกว่า 200,000 ล้านบาท ส่วนสินค้านำเข้าขึ้นผ่านด่านจากท่าเรือปีนังมาฝั่งไทยก็ประมาณ 200,000 กว่าล้านบาท สองช่องทางทั้งไปกลับก็ประมาณ 5 แสนล้านบาท

ถ้าหากเราทำท่าเรือให้ได้มาตรฐาน มีสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงให้ได้ในระดับสากลก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เมืองสองฝั่งอันดามัน-อ่าวไทยให้ได้มาตรฐานก็สามารถจะรองรับการลงทุนของโรงงานแยกแก๊ส ซึ่งเกิดขึ้นที่ จ.สงขลาแล้ว และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นที่ จ.สงขลา ก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาภาคใต้ ซึ้งจะเห็นรัฐเคดาห์ทางตอนเหนือของมาเลเซียได้ก่อตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม นำเอาแก๊สที่ผลิตจากโรงงานแยกแก๊สที่จะนะเอามาใช้ ซึ่งหากเป็นไปได้หากไทยเราสามารถผลักดันโครงการแผนงานนี้ได้ เราก็จะไม่ต้องเสียดุลทรัพยากรธรรมชาติที่ขึ้นจากอ่าวไทยก็เป็นทรัพยากรที่มีต้นทุนที่ถูกและเป็นพลังงานที่สะอาดที่สุด

ดังนั้น นอกเหนือจากสะพานเศรษฐกิจ ท่าเรือน้ำลึก การเชื่อมโยงชายแดนแล้ว จะมีอุตสาหกรรมที่เกิดจากเชื้อเพลิงหรือพลังงานที่บริสุทธิ์ที่สุด และคิดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวต่อ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215