แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ตรัง, เสนอจัดโซนอนุรักษ์หอยชักตีนเมืองตรัง ( ข่าวตรัง )

ข่าวตรัง : เสนอจัดโซนอนุรักษ์หอยชักตีนเมืองตรัง

ตรัง - สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง เปิดเวทีเสวนาหาแนวทางอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง โดยเฉพาะกรณีที่มีความหวั่นวิตกว่าหอยชักตีนกำลังจะสูญพันธ์ เนื่องจากมีการจับไปจำหน่ายโดยไม่สนใจต่อผลกระทบความเป็นอยู่ โดยผู้เข้าร่วมได้เสนอให้กำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์ตามแนวเขตที่มีหญ้าทะเล รวมทั้งยังมีการกำจัดการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง ได้ดำเนินการศึกษาเรื่องการจัดการใช้ประโยชน์หอยเศรษฐกิจในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดตรัง ระหว่างปี 2551-2552 ล่าสุดได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องการจัดการทรัพยากรหอยชักตีนชายฝั่งอ่าวกันตัง ณ ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก เช่น นายบุญครื้น พรเดชอนันต์ ประมงอำเภอกันตัง นายพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ นายกสมาคมหยาดฝน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง และเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน (SAN)

ผช.ศ.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาฝ่ายบริหารงานทั่วไป รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลมีจำนวนลดน้อยลง และสัตว์น้ำบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว หอยชักตีนก็เป็นสัตว์น้ำอีกชนิดหนึ่งที่กำลังจะสูญพันธุ์ จึงต้องหันมาหาแนวทางแก้ไข ซึ่งสาเหตุที่หอยชักตีนมีจำนวนลดลง เพราะหอยชักตีนเป็นที่ต้องการของตลาดสูง ส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง เช่น กระบี่ พังงา ภูเก็ต โดยชาวบ้านบางรายใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทำลายล้าง จนเสี่ยงที่หอยชักตีนจะเกิดการสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรัง เช่น การลากหอย หรือการดำโดยใช้เครื่องลม

สำหรับหอยชักตีนนั้น จะอาศัยตามหาดโคลนปนทราย ทั้งบริเวณที่มีหญ้าทะเล และตามปะการังทั่วไป แหล่งที่พบมากในจังหวัดตรัง คือ บ้านเจ้าไหม แหลมจุโหย เกาะมุกด์ หาดหยงหลิง หาดโต๊ะ และหาดยาว ส่วนจุดรับซื้อที่ใหญ่สุดอยู่ที่เกาะลิบง อำเภอกันตัง โดยจะสามารถเก็บได้ประมาณวันละ 1,000 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บด้วยมือ ด้วยวิธีการดำลงไปเก็บในน้ำลึกประมาณ 5-6 เมตร แล้วนำไปจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 25-35 บาท ซึ่งพ่อค้าคนกลางจะนำไปขายที่กิโลกรัมละ 50 บาท

ด้านชาวประมงพื้นบ้านยังได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาวิกฤติทางทะเลตรังอีกในหลายด้าน โดยเฉพาะการลักลอบทำประมงแบบผิดกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำทะเล และกระแสข่าวการลักลอบจับพะยูนเพื่อการจำหน่าย

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ก็คือ ให้แกนนำหรือคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์ ลงไปทำความเข้าใจกับกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพเก็บหอยชักตีน มีการกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์ตามแนวเขตที่มีหญ้าทะเล เช่น บริเวณหน้าหน่วยห้ามล่าสัตว์ป่าฯ หลังเกาะนก หน้าหาดมดตะนอย หาดหยงหลิง หาดยาว และเกาะมุกด์ รวมทั้งยังมีการกำจัดการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย

โดยในส่วนของหอยชักตีนนั้น จะมีการจัดเวทีชาวบ้านตามชุมชนสำคัญๆ ในพื้นที่ทั้งหมด 5 ครั้ง จากนั้น จะรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อนายอำเภอกันตัง ในวันที่ 25 เมษายนนี้ ขณะที่เรื่องการล่าพะยูนเพื่อการจำหน่าย ได้มอบหมายให้แต่ละคนลงพื้นที่ทุกชุมชน ลงไปรวบรวมข้อมูลในเชิงลึก และหาพยานที่ยืนยันได้ รวมทั้งวิธีการทำประมงแบบผิดกฎหมายที่แท้จริง

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215