หลังจากที่ชาวภูฏานต้องตกตะลึงกับการประกาศสละราชสมบัติของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก พระชนมายุ 51 พรรษา เจ้าผู้ครองราชอาณาจักรภูฏานลำดับที่ 4 ก่อนเวลาที่ทรงกำหนดไว้ในปี 2551 แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระชนมายุ 26 พรรษา พระราชโอรส ขึ้นครองราชย์ เป็นเจ้าผู้ครองราชอาณาจักรลำดับที่ 5 แทน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเพิ่มเติมถึงบรรยากาศภายในประเทศภูฏาน เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันชาติของภูฏาน ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงแสดงความคิดเห็นถึงการประกาศสละราชสมบัติอย่างกะทันหัน ของกษัตริย์จิกมี วังชุก ซึ่งมีทั้งเศร้าและสุขใจคละเคล้ากันไป อาทิ นายเพนเดน จามต์โช เจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบรัฐบาล ในกรุงทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน กล่าวว่ารู้สึกหลายๆอย่างกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือทั้งเศร้าใจมากที่องค์พระประมุขทิ้งพวกเราไป ในเวลาเดียวกัน ก็รู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ โดยทรงเป็นผู้มีจริยวัตรงดงาม ทรงสุภาพ เป็นมิตร และอ่อนน้อมถ่อมตน
ส่วนเจ้าหน้าที่ของภูฏานหลายคนแสดงความคิดเห็นตรงกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่ของภูฏานจะเผชิญพระราชภารกิจอันท้าทาย โดยเฉพาะการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และสิ่งแวดล้อมอันงดงามของชาติที่มีขนาดเท่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยราชอาณาจักรภูฏานเป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ค่อนข้างเก็บตัวไม่ได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกมากนัก มีนักท่องเที่ยวมาเยือนในแต่ละปีจำนวนจำกัด เพิ่งมีโทรทัศน์ใช้ในปี 2542 และในปีถัดมาจึงมีการใช้ อินเตอร์เน็ต
ด้าน นายกอลิง ดอร์จี นักธุรกิจในเมืองซัมด์รัป จองคาร์ ของภูฏาน ที่มีชายแดนติดพรมแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออินเดีย กล่าวว่า เรามีความสุขที่อยู่ภายใต้การปกครองในพระบารมีของกษัตริย์จิกมี วังชุก ?เราไม่ อาจลืมความสุข สันติภาพ ความสงบ ที่พระองค์มอบให้พสกนิกรได้? นายดอร์จีกล่าว
อย่างไรก็ดี ผู้ลี้ภัยภูฏานในเนปาลหลายคนพากันตั้งข้อกังขา กรณีกษัตริย์ภูฏานสละราชสมบัติ เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งนายธินเลย์ เปนจอร์ ผู้นำกลุ่มผู้ลี้ภัยในเนปาลระบุเพียงสั้นๆว่า ความเคลื่อนไหวของกษัตริย์ภูฏานก็เพื่อบรรเทาความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้นในหมู่สมาชิกราชวงศ์
ส่วนนายดาโก เชอริง เอกอัครราชทูตภูฏานประจำอินเดีย ให้สัมภาษณ์ว่า การตัดสินพระทัยสละราชสมบัติของพระราชาธิบดีจิกมี วังชุก ก็เพื่อให้พระโอรสของพระองค์มีเวลามากพอที่จะคุ้นเคยกับการทำงานกับรัฐบาล เนื่องจากทุกวันนี้พระโอรสของพระองค์ก็มีพระราชกรณียกิจมากอยู่แล้ว รวมทั้งเพื่อความมั่นใจว่าคณะกรรมาธิการเลือกตั้งจะเตรียมการไว้พร้อมสรรพเพื่อให้ประชาชนได้มีระบบการเมืองแบบหลายพรรค
?จุดประสงค์ทั้งหมด ก็เพื่อทิ้งช่วงเวลาเพื่อให้พระโอรสมีเวลาปรับพระองค์ในการทำงานกับรัฐบาล? นายเชอริงกล่าวพร้อมให้ความเห็นว่า หลังอดีตกษัตริย์ภูฏานสละราชบัลลังก์ พระองค์จะใช้ชีวิตบั้นปลายในที่เงียบสงบ
ต่อมา สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานในช่วงค่ำตามเวลาประเทศไทยถึงบรรยากาศงานฉลองวันชาติ ที่มีชาวภูฏานหลายหมื่นคนมารวมกันที่สนามกีฬาชางกลีมิธัง เพื่อฟังพระราชดำรัสของกษัตริย์องค์ใหม่ หลังเถลิงถวัลยราชสมบัติได้ 1 วัน ซึ่งพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์องค์ใหม่แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ทรงให้คำมั่นว่าจะล้มเลิกการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ดำเนินมาเกือบ 100 ปี ถ่ายโอนอำนาจไปสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และจะปกครองประเทศตามแนวทางที่พระบิดาวางรากฐานไว้
?พระบิดาถ่ายโอนพระราชกรณียกิจความรับผิด ชอบทั้งหมดที่มีต่อพสกนิกรมาให้เรา บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะนำประเทศเดินไปข้างหน้าตามรอยเบื้องพระยุคลบาท? เจ้าผู้ครองราชอาณาจักรภูฏาน ลำดับที่ 5 ตรัส ทั้งนี้ ระหว่างที่สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงมีพระราชดำรัสเป็นครั้งแรก กินเวลาราว 20 นาที พสกนิกรชาวภูฏานต่างพากันฟังอย่างเงียบสงบ เนื่องจากตามประเพณีภูฏาน จะไม่มีการปรบมือหรือส่งเสียงเชียร์ระหว่างฟังคำกล่าวแต่อย่างใด
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์