สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวานนี้ (16 ธ.ค.) ว่า สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน พระชนมายุ 51 พรรษา ประกาศสละราชสมบัติแล้ว โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก มกุฎราชกุมาร พระชนมายุ 26 พรรษา พระราชโอรสองค์แรกของพระองค์กับสมเด็จพระราชินีอชิ เชอริง ยังดอน วังชุก พระมเหสีองค์ที่ 3 สืบราชบัลลังก์ต่อ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความงงงันให้พสกนิกรภูฏานไปทั่ว เนื่องจากกษัตริย์ภูฏานเคยตรัสเมื่อเดือน ธ.ค. 2548 ว่า จะทรงสละราชบัลลังก์ในปี 2551 อย่างไรก็ดี กษัตริย์จิกมี วังชุก ทรงมีพระราชดำรัสผ่านเว็บไซต์ นสพ. คุนเซล ของภูฏาน ว่า ?ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ภูฏานจะพบอนาคตอันรุ่งโรจน์มากภายใต้การปกครองของกษัตริย์ องค์ใหม่ และรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย?
การประกาศสละราชสมบัติของประมุขภูฏาน มีขึ้นขณะที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ภูฏานอยู่ในระหว่างดำเนินการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปิดฉากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ดำเนินมาเกือบ 100 ปี โดยตามที่กษัตริย์จิกมี วังชุก ทรงประกาศจะสละราชสมบัติในปี 2551 อันเป็นปีที่ภูฏานกำหนดจัดการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก และมกุฎราชกุมารจิกมีจะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ รัฐธรรมนูญพระองค์แรกของราชอาณาจักรภูฏาน ทั้งนี้ กษัตริย์จิกมี วังชุก ตรัสเมื่อปีที่แล้วด้วยว่า เวลาดีที่สุดสำหรับเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองคือ ช่วงเวลาที่ประเทศชาติมีเสถียรภาพและสันติภาพ และทรงค่อยๆ ลดบทบาทในการปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2541
เว็บไซต์ นสพ.คุนเซลยังระบุด้วยว่า คณะรัฐมนตรี และแขกผู้มีเกียรติ ได้มาร่วมประชุมพร้อมหน้ากัน ระหว่างกษัตริย์จิกมี วังชุก ประกาศสละราชสมบัติ โดยต่างอยู่ในท่าทีสงบนิ่งจนน่าประหลาดใจ เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการต่างประเทศภูฏานผู้หนึ่งไม่ขอเปิดเผย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีผ่านทางโทรศัพท์ ที่เมืองกูวาฮาติ ในรัฐอัสสัมของอินเดีย มีชายแดนติดภูฏาน ว่า ?กษัตริย์ภูฏานสละราชสมบัติแล้ว? และว่า ?ยังไม่มี การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ฉลองการขึ้นครองราชย์ ของกษัตริย์องค์ใหม่แต่อย่างใด แต่คาดว่า พระราชพิธี อย่างเป็นทางการและสมพระเกียรติจะมีในเวลาต่อมา?
รายงานข่าวแจ้งว่า เว็บไซต์ นสพ.คุนเซลไม่ได้ เปิดเผยรายละเอียดว่า เหตุใดประมุขแห่งภูฏานจึงสละราชบัลลังก์เร็วกว่าที่ทรงประกาศไว้ ขณะที่สื่อมวลชนอินเดียระบุว่า กษัตริย์ภูฏานตัดสินพระทัยให้มกุฎราชกุมารรูปงามสืบราชสมบัติต่อ เพื่อเปิดกว้างทางการเมืองมากขึ้น โดยการตัดสินพระทัยครั้งนี้ สร้างความรู้สึกช็อกให้พสกนิกรในราชอาณาจักรราว 700,000 คน โดยมีความคิดเห็นจากชาวภูฏานต่อคำประกาศสละราชสมบัติอย่างกะทันหันในครั้งนี้ อาทิ นายยู ดอร์จี นักธุรกิจในกรุงทิมพู นครหลวงภูฏาน ให้ความเห็นว่า การประกาศสละราชสมบัติ ทำให้คนช็อก และแทบไม่เชื่อ เพราะไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ประมุขภูฏานจะสละราชบัลลังก์ให้พระโอรสเร็วเช่นนี้
นายเคซังไม่ขอเปิดเผยนามสกุล เจ้าหน้าที่ด้านสื่อสารมวลชนให้สัมภาษณ์ในกรุงทิมพูว่า เราทุกคนคาดหมายว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะมีขึ้นในปี 2551 ตามที่พระองค์เคยตรัสไว้ ขณะที่นายมิงโบ ดุ๊กปา เจ้าหน้าที่กระจายเสียงภูฏานกล่าวว่า ในวันที่ 17 ธ.ค.นี้จะเป็นวันชาติภูฏาน และมีการเฉลิมฉลองขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติ เราต้องรอและจับตาดูว่า จะมีอะไรปรากฏสู่สายตาประชาชนจากงานนี้หรือไม่
ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี วังชุก ทรงขึ้นครอง ราชย์ปกครองราชอาณาจักรภูฏานมายาวนานถึง 34 ปี นับตั้งแต่ปี 2515 ขณะพระองค์มีพระชนมายุ 17 พรรษา ทรงเป็นเจ้าผู้ครองราชอาณาจักรลำดับที่ 4 แห่งราชวงศ์ วังชุก ขณะที่มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก หรือเจ้าชายจิกมี ประสูติเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2523 ทรงเป็นพระโอรสองค์แรกจากพระโอรสทั้งหมด 5 พระองค์ และพระธิดา 5 พระองค์ในกษัตริย์จิกมี วังชุก ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และยังไม่ทรงอภิเษกสมรส เจ้าชายจิกมีทรงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2547 จะขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าผู้ครองราชอาณาจักรในลำดับที่ 5 มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ที่ทรงได้รับฉายาจากสื่อไทยว่า ?เจ้าชายเจ้าเสน่ห์? ทรงเคยเสด็จ พระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการถึง 2 ครั้งในปีนี้ คือครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย.เพื่อทรงร่วมในงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เสด็จทอดพระเนตรงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ 2549 จ.เชียงใหม่ รวมทั้งทรงเข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิตทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งนอกจากพระสิริโฉมที่หล่อเหลาแล้ว เจ้าชายจิกมียังทรงมีพระจริยวัตรที่สง่างดงาม และทรงนอบน้อมถ่อมตน จากการที่ทรงยกพระหัตถ์ไหว้ และทรงมีพระปฏิสันถารอย่างเป็นกันเองกับผู้ที่พบปะอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นที่ประทับใจคนไทยเป็นอย่างมาก และทุกครั้งที่เสด็จฯ มา ก็จะมีคนไทยทุกเพศทุกวัยแห่ไปรอเฝ้ารับเสด็จ อย่างล้นหลาม ด้วยความปลาบปลื้มในตัวองค์ชายหนุ่มพระองค์ นี้ ซึ่งการเสด็จฯ เยือนไทยของเจ้าชายจิกมี แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรภูฏาน
สำหรับราชอาณาจักรภูฏานนั้น เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กในทวีปเอเชีย และมีภูเขาเป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ระหว่างประเทศอินเดีย และจีน มีภูมิประเทศสวยงามตามธรรมชาติดุจสรวงสวรรค์ จนได้รับฉายาว่า ?ดินแดนของมังกรสายฟ้า? ขณะที่ชื่อ ภูฏาน (Bhutan) มาจากคำสมาสในภาษาสันสกฤต ภู-อุตฺตาน อันมีความหมายว่า ?แผ่นดินบนที่สูง? โดยประเทศภูฏาน เป็นประเทศที่ประกาศว่า จะไม่สนใจ จีดีพี (GDP-Gross Domestic Product หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) แต่จะสนใจ จีดีเอช (GDH-Gross Domestic Happiness หรือ ความสุขรวมภายในประเทศ) แทน
ส่วนความเป็นมาของประเทศนั้น ในปี พ.ศ. 2173 ดุคพา ลามะ ลี้ภัยจากทิเบตสู่ภูฏาน ต่อมาได้ตั้งตัวขึ้นเป็น ?ธรรมราชา? ปกครองดินแดนด้วยระบบศาสน-เทวราช มีคณะรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง แม้ภูฏานจะพยายามแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ต่อมาก็ถูกรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้ง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ถึง 23 ในระยะต่อมายังถูกรุกรานโดยอังกฤษ ซึ่งมีอำนาจอยู่ในอินเดีย และได้เจรจาสงบศึกกัน ในปี พ.ศ. 2453 ประเทศภูฏานเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ 47,000 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่เหนือรัฐอัสสัมของประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และมีประชากร ณ ปี พ.ศ.2546 จำนวน 2,139,549 คน
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์