เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.) นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ. ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยการเปลี่ยนแปลงและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาเสถียรภาพของชั้นตะกอนการเกิดแผ่นดินถล่มใต้ ทะเลบริเวณขอบทวีปในทะเลอันดามัน เปิดเผยว่า ช่วงกลางเดือน พ.ย.-วันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยไทยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันทางธรณีวิทยาทางทะเลแห่งชาติ เมืองคีธ สหพันธรัฐเยอรมนี ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ออกสำรวจใต้ท้องทะเลลึกของไทยเป็นครั้งแรก ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 1,000-2,800 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่เรียกว่าสะดือทะเล บริเวณแถบไหล่ทวีปมะริด ห่างจากภูเก็ตราว 200 กม. ครอบคลุมพื้นที่ศึกษา 1,500 เมตร โดยใช้เวลาลงทะเล 16 วัน เพื่อเก็บตะกอนไหล่ทวีปมาศึกษาหาความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินถล่มใต้น้ำหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 26 ธ.ค. 47 ได้พบข้อมูลที่น่าตื่นเต้น คือพบโคลนภูเขาไฟใต้ทะเล (Mud Volcano) กระจายอยู่ในจุดที่สำรวจรวม 4 ลูก
ผอ.ศูนย์เครือข่ายฯกล่าวต่อว่า ลูกแรก มีฐานความกว้างถึง 1 กม. สูง 100 เมตร มีลักษณะเหมือนรูปเจดีย์คว่ำเจอที่ความลึก 650 เมตร ห่างจากภูเก็ต 200 กม. ลูกที่ 2 นั้นอยู่ห่างจากจุดแรกไปทางตะวันตก อีก 50 กม. ที่ระดับความลึก 1,000 เมตร ลูกที่ 3 และ 4 ห่างจากจุดที่ 2 ราว 60 กม. ไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานกว้างประมาณ 500 เมตร สูง 60-70 เมตร ที่ระดับความลึก 700-800 เมตร การค้นพบครั้งนี้มั่นใจว่าเป็นภูเขาไฟใต้น้ำ เพราะการตรวจสอบของเครื่องมือหยั่งน้ำแบบหลายความถี่ที่เป็นอุปกรณ์สร้างความสั่นสะเทือนและสะท้อนคลื่นว่าลักษณะพื้นท้องน้ำเป็นอย่างไร แต่จุดดังกล่าวสะท้อนคลื่นกลับมาได้ไม่ดี เนื่องจากเป็นตะกอนโคลนที่มีความนิ่ม อีกทั้งคลื่นสะท้อนไม่แรงมากนัก เบื้องต้นสันนิษฐานเป็นตะกอนที่มาจากแม่น้ำอิระวดีและสาละวินจากแถบพม่า นอกจากนี้ พบว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลตรงภูเขาไฟจะสูงถึง 100 องศาเซลเซียส แต่ข้างๆวัดอุณหภูมิได้แค่ 5 องศาเซลเซียสเท่านั้น ขณะที่ยังเคยพบภูเขาไฟใต้ทะเลในแถบทะเลอันดามันของประเทศอื่นๆ รวมทั้งหลักฐานหลังเกิดสึนามิ มีรายงานชัดเจนว่าโคลนภูเขาไฟที่อยู่บนเกาะอันดามันของอินเดียมีการแอ็กทีฟมากขึ้น
นายอานนท์กล่าวอีกว่า เบื้องต้นพบว่าโคลนภูเขาไฟใต้ทะเลที่พบ น่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกับโคลนภูเขาไฟใต้ทะเลของอ่าวเม็กซิโก โดยแหล่งความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นอาจเกิดจากตะกอนถูกบีบอัดโดยการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก แต่ไม่ได้หมายความว่ามีรอยแยกของเปลือกโลกในบริเวณนั้น ไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนก โดยเฉพาะข้อกังวลที่ว่าอาจเป็นภูเขาไฟที่จะปะทุในอนาคต และเป็นสาเหตุของคลื่นสึนามิ หากมองในแง่ดีค่อนข้างมั่นใจว่า บริเวณนั้นเป็นแหล่งที่มีศักยภาพของแอ่งน้ำมันเหมือนกับอ่าวเม็กซิโก อาจเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ทะเลแปลกๆ ทั้งนี้ หลังวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จแล้ว ต้องสำรวจข้อมูลเชิงลึก ด้วยการใช้ยานไร้คนขับ หรืออาร์โอวี ลงไปเก็บข้อมูลนำตะกอนโคลนมาศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน ดูแหล่งความร้อน หรือศักยภาพการเป็นแหล่งน้ำมัน สิ่งมีชีวิตอื่นๆ คาดว่าน่าจะเริ่มสำรวจในช่วงเดือน เม.ย. 2550 ซึ่งยอมรับว่าการทำงานครั้งนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะบริเวณที่เจอน้ำลึกมาก ประกอบกับคลื่นใต้น้ำค่อนข้างแรง การเก็บตัวอย่างต้องใช้เครื่องมือที่มีศักยภาพสูง ต้องใช้ความระวังมากเป็นพิเศษ แต่ในครั้งนี้สำเร็จได้ เพราะมีความร่วมมือจากนักวิจัยจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากร ธรณี นักวิจัยจาก ม.บูรพาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เยอรมนี มีการลงนามความร่วมมือโครงการสำรวจสะดือทะเลและไหล่ทวีปร่วมกันตั้งแต่ปี 2549-2551
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์