วันนี้ (12 ธ.ค.) นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าถึงระดับ 35.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำสถิติแข็งค่าในรอบ 9 ปี ว่า เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากมีแรงเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ออกมามากเพื่อซื้อเงินบาท เป็นไปตามภาวะปกติของอุปสงค์และอุปทาน เพราะผู้ขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯยินดีที่จะขาย ขณะที่ผู้ซื้อก็เต็มใจซื้อ อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้มีหลายมาตรการดูแลเงินบาทอยู่ตลอด ทั้งด้านปริมาณ ราคา และการสกัดกั้น ส่วนจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ ธปท.ต้องขอเวลาดูผลของมาตรการควบคุมการลงทุนในตราสารและพันธบัตรระยะสั้นของบัญชีผู้มีถิ่นฐานต่างประเทศ (นอนเรสซิเดนท์) อีกระยะหนึ่ง เนื่องจากมาตรการหากมีออกมาบ่อยก็คงไม่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สายงานเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เผยแพร่รายงานวิเคราะห์ ?วิกฤตการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่ากับผลกระทบของอุตสาหกรรมส่งออกของไทยปี 2550? ว่า ภาคเอกชนเสนอแนะให้มีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา เช่น มาตรการทางภาษีในการดูแลเงินไหลเข้า การลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) การใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับธนาคารที่ทำการขายพันธบัตร โดยมีสัญญาซื้อคืนกับนอนเรสซิเดนท์ รวมทั้งเห็นว่ามาตรการของ ธปท.ที่ขยายระยะเวลาการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯจาก 7 วัน เป็น 15 วัน ไม่ใช่มาตรการที่แก้ปัญหาได้ เพราะยิ่งจะทำให้ผู้ส่งออกประสบปัญหาขาดทุนมากขึ้น
นอกจากนี้ รายงานระบุว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลทำให้การขยายตัวของการส่งออกในปีหน้าอยู่ประมาณร้อยละ 9-12 โดยในช่วงไตรมาสแรกปี 2550 อัตราการเติบโตจะต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ประมาณร้อยละ 3-4 แต่จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีมาอยู่ที่ร้อยละ 6 โดยเชื่อว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจปีหน้าจะอยู่ประมาณร้อยละ 4.5-5
ทางด้านนายดุสิต นนทนาคร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารประจำเดือน ธ.ค. ว่า ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้มาหารือ และมีมติให้หอการค้าไทยประสานงานกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการจัดการประชุมเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทเป็นการเฉพาะขึ้น โดยมีนายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธานการประชุม ซึ่งผลของการประชุมจะนำไปเป็นข้อเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทในระยะสั้น
?รัฐต้องสร้างความมั่นใจในเรื่องค่าเงินก่อนว่าจะอยู่ในระดับที่เท่าไร ไม่ใช่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จนไม่รู้ว่าจะอยู่ที่ระดับไหน ทำให้เอกชนไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะกำหนดราคาขายสินค้าล่วงหน้าเท่าไรดี หากดูค่าเงินบาทของเราแข็งค่าขึ้นกว่าประเทศคู่แข่งมาก ซึ่งทำให้เราเสียเปรียบในการแข่งขัน? นายดุสิต กล่าว
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์