แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ภายในประเทศ

นิสิต-นศ.ต้าน ออกนอกระบบ ( ข่าวทั่วไป )

ภาพประกอบ ข่าวสาร ข่าวทั่วไป : นิสิต-นศ.ต้าน ออกนอกระบบ

ภายหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทักษิณ และ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และยังมีร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยอื่นๆ จ่อคิวเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อออกนอกระบบ ส่งผลให้นิสิตนักศึกษาทั้งศิษย์ปัจจุบัน และศิษย์เก่า รวมถึงอาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง อาทิ ม.มหิดล ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.รามฯ ม.บูรพา ประมาณ 100 คน นัดมาชุมนุมคัดค้านการออกนอกระบบ ในเวลา 16.00 น. วันที่ 8 ธ.ค. ที่สนามหน้าสำนักงานอธิการบดีจุฬาฯ ประชาคมจุฬาฯ

ทั้งนี้ นายเก่งกิจ กิตติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตัวแทนนิสิตกล่าวว่า กลุ่มนิสิตได้เชิญคุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาฯ หรือผู้บริหาร ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง แต่ไม่ได้รับคำตอบว่าจะมาชี้แจง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรื่องการคัดค้านการออกนอกระบบ ไม่ใช่ปัญหาของนิสิตจุฬาฯ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องรับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะทำให้การศึกษาเกิดการแข่งขัน กลายเป็นการค้า ดังนั้น การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ แสดงให้ เห็นว่า รัฐบาลและ สนช.ไม่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน และคุณหญิงสุชาดาออกมาชี้แจงก็คงไม่เพียงพอ อยากให้รัฐบาล หรือนายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ ออกมาชี้แจง เพราะรัฐบาลไม่ได้ผลักดันจุฬาฯเพียงแห่งเดียว แต่นำมหาวิทยาลัยรัฐทั้ง 20 กว่าแห่งออกนอกระบบ

นายเก่งกิจกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อนิสิตนักศึกษา ประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้แล้ว ประมาณ 1,000 รายชื่อ และจะนำไปยื่นให้กับนายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ สนช. รัฐบาล ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ เพราะที่ผ่านมาทั้งคุณหญิงสุชาดา และนายวิจิตรระบุว่า ผู้คัดค้านคือคนกลุ่มน้อย จึงอยากให้ทราบว่าคนที่คัดค้านนับพันคนนั้น ไม่ใช่จำนวนที่น้อยๆ และเราจะล่ารายชื่อต่อไป และในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เกิดกระแสต่อต้านมหาวิทยาลัยนอกระบบเช่นกัน เพราะไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พวกเราเชื่อในพลังมวลชน อยากให้ประชาชน นิสิต นักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ออกมาแสดงพลัง เพื่อที่รัฐบาลและ สนช. จะได้ฟังเสียงมวลชนและยกเลิกนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยพวกเราจะจัดเวทีคัดค้านอย่างต่อเนื่องในทุกมหาวิทยาลัย

จากนั้นตัวแทนนิสิตได้อ่านแถลงการณ์เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 3 ข้อ โดยในแถลงการณ์ระบุว่า ข้อแรก ให้หยุดการยกร่าง พ.ร.บ.การแปรรูปมหาวิทยาลัยให้เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐเข้าสู่สภานิติบัญญัติโดยทันที ข้อสอง ให้มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบทั้งหมด โดยปราศจากการบิดเบือนข้อมูลโดยทันทีและอย่างต่อเนื่อง ข้อสาม ให้มีการจัดทำประชา-พิจารณ์ในลักษณะที่มีการลงประชามติ โดยจัดให้มีรูปแบบคล้ายคลึงการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิออกเสียงคือ นิสิต บุคลากร และอาจารย์ทุกท่าน เพื่อสอบถามความต้องการ โดยต้องยึดถือมตินี้เป็นเครื่องชี้ขาด โดยข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ ต้องมีการจัดทำในทุกมหาวิทยาลัย เพื่อความโปร่งใสและชัดเจนในกระบวนการ

นอกจากนี้ ตัวแทนนิสิตซึ่งใช้ชื่อว่า ?กลุ่มจุฬาฯ ต้านแปรรูปมหาวิทยาลัย? ได้อ่านแถลงการณ์ประณามผู้ผลักดันมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ โดยนายณัฐสิฎ รักษ์เกียรติวงศ์ นิสิตปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้อ่านแถลงการณ์กล่าวว่า เราชาวจุฬาฯ ได้เรียนรู้แล้วว่า เราไม่สามารถพึ่งอำนาจ เผด็จการที่ไร้การควบคุมได้ วันนี้ เราชาวจุฬาฯ ได้เห็นแล้วว่า ทั้ง ครม. สนช. ตลอดจนอธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัย มีพฤติกรรมอันเป็นเผด็จการไม่ได้ต่างจากระบอบทักษิณ ที่ไม่เคยยอมรับฟังเสียงของประชาชน โดยดำเนินการต่างๆ ตามอำเภอใจ และแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ทั้งนักวิชาการก็พึ่งไม่ได้ เพราะไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องนี้แต่อย่างใด และรัฐบาลชั่วคราวนี้ก็ไม่ได้มีความชอบธรรมในการดำเนินการนโยบายใดๆทั้งสิ้น

จากนั้นเวลา 18.00 น. นายเกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร จุฬาฯ กล่าวว่า ระหว่างนี้คงต้องเดินสายชี้แจงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกนอกระบบต่อประชาคม จุฬาฯ ซึ่งที่ผ่านมามีการทำประชาพิจารณ์มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2541 รวมถึงทำหนังสือตอบข้อสงสัยของกลุ่มนิสิต ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการออกนอกระบบ เพื่อสร้างความเข้าใจไปแล้ว และสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้พูดคุยตอบข้อซักถามกับองค์การนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) สภานิสิตจุฬาฯ และชมรมฯต่างๆไปแล้ว และในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ จะเข้าชี้แจงตอบข้อสงสัยในเวทีของนายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ สำหรับที่กลุ่มนิสิตเรียกร้องให้ทำประชามติใหม่อีกครั้ง มหาวิทยาลัยคงไม่ต้องดำเนินการอีก เพราะที่ผ่านมาเราทำประชาพิจารณ์ หลายรอบ และที่ว่ามหาวิทยาลัยไม่รับฟังเสียงประชามติ ก็ขึ้นอยู่ว่าเป็นประชามติกลุ่มไหน

?ส่วนที่ต้องเร่งออกนอกระบบ เนื่องจากขณะนี้จุฬาฯมีพนักงานมหาวิทยาลัยอยู่ 1 ใน 3 บุคลากรเหล่านี้ รอ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะขณะที่ข้าราชการได้ขึ้นเงินเดือน บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนด้วย การชะลอร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯคงเป็นไปไม่ได้ และเชื่อว่าสนช.จะผ่านร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯแน่นอน ซึ่งในประเด็นที่มีข้อห่วงใยนั้น ผมจะเตรียมข้อมูลสำหรับนำไปแปรญัตติเพิ่มเติม เช่น การประเมินผลพนักงานข้าราชการ การเพิ่มค่าหน่วยกิต เป็นต้น? รองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าว

จากนั้นเวลา 18.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิสิตได้ยุติการชุมนุม โดยร่วมกันจุดเทียนเพื่อส่องแสงสว่างให้แก่การศึกษาชาติ จากนั้น นายเก่งกิจประกาศเชิญชวนให้นิสิตนักศึกษา ประชาชน ที่คัดค้านการออกนอกระบบ ร่วมกันชุมนุมครั้งใหญ่ที่หน้ารัฐสภา ในวันที่ 13 ธ.ค. เวลา 10.00 น. เนื่องจากวันดังกล่าว ร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3

ขณะที่ในช่วงเย็นวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายภัทรดนัย จงเกื้อ นักศึกษาคณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ปีที่ 2 ในฐานะเลขาธิการองค์การนิสิตนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ว่านักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯกว่า 1 พันคน ได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 ภายในสถาบันฯ เพื่อร่วมกันแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการออกนอกระบบ โดยองค์การนักศึกษาฯ ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 เรียกร้องให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. และนำมาประชาพิจารณ์เพื่อลงประชามติ พร้อมทั้งขอให้มีการชี้แจงข้อดี ข้อเสียอย่างโปร่งใสและจริงใจ รวมถึงขอให้กำหนดเพดานค่าหน่วยกิตที่ชัดเจน และเป็นธรรม ส่วนแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ขอความเป็นธรรมให้นักศึกษาที่ออกมาคัดค้าน เนื่องจากมีการข่มขู่จากผู้บริหารสถาบัน ดังนั้น อยากให้ประชาคม สจพ. ร่วมกันแสดงพลังเพื่อคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วย

นายภัทรดนัยกล่าวด้วยว่า หลังจากที่ตนร่วมกับเพื่อนนักศึกษา 4 สถาบัน เคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และยื่นหนังสือต่อ สนช.ก็ได้ รับโทรศัพท์จากนายธีรวุฒิ บุญโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ให้หยุดการเคลื่อนไหวดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะถูกพักการเรียน 1 ปี เนื่องจากทำให้สถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียง

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายธีรวุฒิ ว่า นายภัทรดนัยเป็นฝ่ายโทรศัพท์ มาหาเอง โดยแจ้งว่าจะขอใช้สถานที่เพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านการออกนอกระบบ จึงบอกว่า การจะใช้สถานที่ภายในสถาบัน ต้องทำหนังสือขออนุญาต เพราะเป็นระเบียบและขั้นตอนของ สจพ.ที่กำหนดไว้อยู่แล้ว ซึ่งในระเบียบดังกล่าวระบุไว้ด้วยว่า หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี ตนก็แจ้งให้นักศึกษาทราบ ไม่ใช่การข่มขู่ ที่สำคัญสถานที่ที่นายภัทรดนัยขอใช้ในการเคลื่อนไหวนั้น อยู่ติดกับอาคารเรียนที่มีการเรียนการสอน หากมีการ ใช้เครื่องเสียงไฮด์ปาร์ก จะส่งเสียงรบกวนการเรียนการสอนของอาจารย์และนักศึกษาคนอื่น จึงห้ามไว้ ทั้งนี้ ระเบียบของสถาบันกำหนดไว้ว่า การเคลื่อนไหวใดๆของนักศึกษาต้องไม่สร้างความแตกแยกหรือแตกความสามัคคี

อธิการบดี สจพ. กล่าวอีกว่า สจพ.ต้องการออกนอกระบบ เนื่องจากมีพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวน 431 คน มีอัตรากำลังข้าราชการอาจารย์ 40 คน ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยมีมากกว่า แต่บุคลากรเหล่านี้ไม่มีสวัสดิการรองรับ สิทธิการรักษาพยาบาลต้องใช้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลของบุพการีได้ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาทางสถาบันยังประสบปัญหาอาจารย์ลาออกไปทำงานในองค์กรเอกชน เนื่องจากอาจารย์ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุน เมื่อใช้ทุนหมดก็ลาออกไป เพราะเห็นว่าไม่มีความก้าวหน้า หาก พ.ร.บ. สจพ. มีผลบังคับใช้ ก็จะมีระบบสวัสดิการต่างๆรองรับ และบุคลากรจะมีความมั่นคงมากขึ้นด้วย

ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215