จากกรณีมีข่าวอื้อฉาวการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ที่คุณสมบัติอาจไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในคุณสมบัติ การประกวดราคา (ทีโออาร์) โดยมีการอายัดรถพยาบาลฉุกเฉินจาก รพ.ชะอำ และ รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี แห่งละคันไว้ตรวจสอบนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่โครงการคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครเหนือ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผอ. สำนักงานตรวจสอบกิจการพิเศษ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พร้อมด้วย น.ส.เฟื่องฟ้า เทียนประภาสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน 8 และผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินจาก รพ.ตำรวจ รพ.ภูมิพล รพ.สมเด็จ พระปิ่นเกล้า คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางมาตรวจ สอบรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงของ รพ.ชะอำ และ รพ. พระจอมเกล้า โดยมีนายอดิศักดิ์ โตเลิศมงคล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา ปฏิบัติราชการแทน ผอ.วิทยาเขตพระนครเหนือ เป็นผู้ร่วมตรวจสอบด้วย
จากนั้นนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผอ.สำนักงานตรวจสอบกิจการพิเศษ สตง. เปิดเผยภายหลังการตรวจสอบ อุปกรณ์การแพทย์ ภายในรถพยาบาลฉุกเฉินทั้ง 2 คัน ว่า พบอุปกรณ์หลายอย่างไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในทีโออาร์ โดยในเบื้องต้นได้ตรวจสอบอุปกรณ์การแพทย์ จำนวน 3 รายการ คือ เตียงเข็นผู้ป่วย ซึ่งตามทีโออาร์ระบุว่าโครงสร้างต้องเป็นอะลูมินั่มอัลลอย แต่จากการใช้แผ่นแม่เหล็กทดสอบพบว่าบางชิ้นส่วนของเตียงเข็นผู้ป่วย ไม่ใช่วัสดุที่ทำจากอะลูมินั่มอัลลอย แต่มีโลหะผสม และเมื่อทดสอบการรับน้ำหนัก ซึ่งต้องสามารถรับน้ำหนักผู้ป่วยได้ถึง 160 กิโลกรัม แต่เมื่อให้คนที่มีน้ำหนักตัวเพียง 95 กิโลกรัม นอนบนเตียงเข็นผู้ป่วย ปรากฏว่าแผ่นรองนอนของเตียงผู้ป่วยมีการยุบตัวลง นอตที่ขันยึดระหว่างโครงรถกับแผ่นรองแอ่นตัวขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด
ผอ.สำนักงานตรวจสอบกิจการพิเศษ สตง. กล่าวอีกว่า ส่วนอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่ตรวจสอบคือ เก้าอี้ย้ายผู้ป่วย ซึ่งตามทีโออาร์กำหนดว่า โครงสร้างต้องเป็นโลหะปลอดสนิม แต่ปรากฏว่ามีการนำโลหะไปชุบสังกะสีแทน ซึ่งการชุบสังกะสีในระยะยาวสามารถขึ้นสนิมได้ ถือว่าไม่ตรงตามที่ทีโออาร์กำหนด นอกจากนี้ ยังพบว่าอุปกรณ์ควบคุมความดัน โดยเฉพาะวาล์วที่ติดกับถังออกซิเจนเป็นวาล์วที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะเป็นวาล์วชนิดที่ใช้กับงานเชื่อมโลหะ ไม่ใช่อุปกรณ์สำหรับที่ใช้ ในทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังพบว่าแผ่นรองหลังหรือสไปรัล บอร์ด ซึ่งใช้ในการขนย้ายผู้ป่วยไม่ได้มาตรฐานตามที่ระบุเช่นกัน โดยเมื่อรับน้ำหนักตัวของผู้ป่วยแผ่นดังกล่าวมีการยุบและแอ่นตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญคือ พ.ต.อ.เฉลียว หอมวิเศษ หัวหน้างานศูนย์ส่งกลับ รพ.ตำรวจ ระบุว่าแผ่นรองดังกล่าว เป็นแผ่นพลาสติกหล่อขึ้นรูป ซึ่งตามปกติแผ่นรองชนิดที่ใช้สำหรับรถพยาบาลฉุกเฉินจะต้องมีการอัดโพลียูรีเทนไว้ด้านใน เพื่อให้มีความยืดหยุ่น แต่แข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักตัวของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายพิศิษฐ์กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น สรุปได้ว่า รถพยาบาลฉุกเฉินมีหลายรายการที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ในรายละเอียดต้องฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง ยืนยันว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำให้รัฐได้ของดีมีคุณภาพ เพราะรถพยาบาลเป็นเครื่องมือที่ใกล้ชิดกับประชาชน เป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และจะได้เป็นแบบอย่างในการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ประเภทนี้ในอนาคตต่อไป ซึ่งการที่ สตง.เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นการจัดซื้อลอตใหญ่ถึง 232 คัน และ สตง.ได้ติดตามเรื่องมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เพิ่งมาทำการตรวจสอบในวันนี้ ส่วนข้อมูลที่สรุปจะนำส่งให้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อดำเนินการต่อไป ว่าจะส่งกลับให้ บริษัทไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามทีโออาร์ หรือจะดำเนินการในเรื่องทางวินัย เป็นหน้าที่ของ สธ.
ต่อมาในเวลาประมาณ 15.00 น. นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน พร้อมด้วย น.ส. เฟื่องฟ้า เทียนประภาสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน 8 สตง. ร่วมกันแถลงข่าว โดย นพ.สันต์กล่าวว่า จากการตรวจสอบในเรื่องความแข็งแรงของตัวรถ และความคงทนของอุปกรณ์ พบว่าอุปกรณ์หลายชิ้นไม่ได้มาตรฐาน และยังอาจจะเป็นอันตรายได้ด้วย เช่น แผ่นรองหลังหรือสไปรัล บอร์ด ที่ไม่มีความแข็งแรงเพียงพอ
นพ.สันต์กล่าวอีกว่า ส่วนวาล์ว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ปรับความดันออกซิเจน สำหรับเครื่องช่วยหายใจในรถทางผู้ผลิตใช้วาล์วที่ใช้สำหรับการเชื่อมโลหะในโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีราคาพันกว่าบาท แต่วาล์วที่ใช้สำหรับรถพยาบาลกู้ชีพที่ใช้โดยทั่วไป ราคาประมาณ 6 พันบาทที่ผ่านมา วาล์วที่ได้คุณภาพยังเคยมีอุบัติเหตุระเบิด จนพยาบาลมือถูกไฟลวกมาแล้ว นอกจากนี้ ในส่วนของโครงสร้างของหลังคารถ เมื่อใช้มือทุบ พบว่ามีแรงกระเพื่อมไม่แข็งแรง เมื่อเปรียบเทียบกับรถโตโยต้ารุ่นเดียวกันที่ยังไม่ได้ดัดแปลง จะมีความแข็งแรงมากกว่า ซึ่งคงต้องตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง ว่ามาตรฐานโครงสร้างของรถรุ่นนี้ ตรงตามมาตรฐานรถยนต์ที่ประกอบจาก โรงงานผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ เช่นเดียวกับสภาพพื้นของรถ ก็ไม่มีความแข็งแรง เพราะใช้ไม้อัดรองแผ่นไว้กับตัวรถ และแผ่นรองก็เหมือนแค่ไม้อัดธรรมดา ที่สำคัญไฟเบอร์กลาสที่ใช้ประกอบในอุปกรณ์ส่วนต่างๆ ของรถ เป็นไฟเบอร์กลาสคุณภาพต่ำ ที่เหมาะกับการทำผนังบ้านมากกว่าจะนำมาประกอบในรถฉุกเฉิน และยังไม่ได้หล่อเป็นชิ้นเดียวกับรถ แต่ใช้เจลโค้ดมาแปะไว้ เท่านั้น ซึ่งหากใช้ไประยะหนึ่งอาจหลุดลอกได้ ที่สำคัญรถพยาบาลมีการรับส่งคนไข้ ซึ่งต้องใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาต่างๆ ที่อาจจะทำให้กาวหลุดออกมาได้ง่าย
ด้าน น.ส.เฟื่องฟ้า เทียนประภาสิทธิ์ เจ้าหน้าที่จาก สตง. กล่าวว่า การตรวจสอบในวันนี้ เป็นการตรวจสอบในเบื้องต้นเท่านั้น สตง.ต้องนำความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดมาสรุปอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำเสนอต่อ รมว.สาธารณสุขคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เท่าที่ตรวจสอบดู คิดว่าการจัดซื้อครั้งนี้ ทำให้ราชการเสียหายแล้วหรือไม่ น.ส.เฟื่องฟ้า กล่าวว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ ขอให้รวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่า รถพยาบาลที่จัดซื้อครั้งนี้ มีการถกเถียงกันในเรื่องของสเปกมาโดยตลอด ล้มประมูลไปถึง 7 ครั้ง ก่อนหน้านี้ มีการพูดกันว่าล็อกสเปก ซึ่งเมื่อทางแพทย์มาชี้แจงให้เข้าใจว่าของบางอย่างจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้เฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณภาพเท่านั้น ที่เข้าประมูลได้ พูดง่ายๆคือเป็นการไล่กุ๊ยไม่ให้เข้ามาประมูล ตรงนี้เข้าใจได้ เพราะของบางอย่าง ถ้าจำเป็นต้องซื้อ เป็นของเฉพาะจริงๆ แม้มีชิ้นเดียวในโลก ก็ต้องซื้อ ที่สำคัญ รถพยาบาลฉุกเฉินของ สธ. ครั้งนี้ มีการปรับลดราคาลงมา จากที่ได้รับเงินจาก สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คันละ 2 ล้านบาท หักค่าเครื่องกระตุกหัวใจและกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าออกไปแล้ว 3 แสนบาท เหลือคันละ 1.7 ล้านบาทแต่ทาง สธ.เลือกที่จะซื้อในราคาที่ต่ำ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่ง สตง.ต้องไปประมวลอีกครั้งว่า คุณภาพของที่ได้มาเหมาะสมกับราคาหรือไม่ แต่ที่สำคัญคือ ของดีราคาถูกไม่มีในโลก
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์