แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ภายในประเทศ

นายกฯใช้เวทีเอเปคแจง คนไทยหนุนปฏิรูปการเมือง ( ข่าวทั่วไป )

ภาพประกอบ ข่าวสาร ข่าวทั่วไป : นายกฯใช้เวทีเอเปคแจง คนไทยหนุนปฏิรูปการเมือง

วานนี้ (17 พ.ย.) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ครั้งที่ 14 ที่กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยนายกรัฐมนตรีถือโอกาสนี้ชี้แจงต่อชุมชนธุรกิจต่างประเทศ เกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน และยืนยันว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ อาจรู้สึกแปลกใจต่อปฏิกิริยาของคนไทย ที่มีต่อการปฏิรูปการเมืองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ทั้งดอกไม้ประดับรถถัง การถ่ายรูปครอบครัวกับทหาร รวมถึงผลสำรวจความคิดเห็น ที่พบว่าคนส่วนใหญ่ทั้งในเมืองและต่างจังหวัดให้การสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้

?อาจจะยิ่งสงสัยว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างล้มลุกคลุกคลานตลอดช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ทำไมผู้คนถึงได้มีปฏิกิริยาในเชิงบวกต่อการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ที่ว่าถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่มีเสรีภาพและมีหลักกฎหมายที่ก้าวหน้า คำตอบสำหรับคำถามดังกล่าว อาจต้องกลับไปดูประเทศไทยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การตรวจสอบและการถ่วงดุลตามแนวทางประชาธิปไตยมีความอ่อนแอ สังคมไทยถูกกัดกร่อนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คนจนมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น มีการละเลยกฎหมายอย่างเป็นระบบ การอ้างเอาสิทธิมนุษยชนไปใช้แบบผิดๆ มีมากยิ่งขึ้น ปัญหาการคอร์รัปชั่น ประเทศมาถึงทางตัน? นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า การที่คนไทยมีปฏิกิริยาต่อการปฏิรูปการเมือง จึงเป็นลักษณะเฉพาะที่ต้องการเห็นการเมืองมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน ดังนั้นจึงเป็นการชะลอเวลา เพื่อให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อให้สถาบันประชาธิปไตยที่อ่อนแอกลับมาเข้มแข็ง ฟื้นฟูระบบการตรวจสอบและการถ่วงดุลที่ผุกร่อน และยึดถึงหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวถึงความท้าทาย ที่เป็นภารกิจสำคัญ 4 ประการที่รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าดำเนินงาน ตลอดช่วงระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้านี้ ประกอบด้วย การพัฒนาการปฏิรูปการเมือง การฟื้นฟูความสมานฉันท์ของคนในชาติ การแก้ไขการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม และการสร้างหลักนิติธรรมให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นการปูพื้นฐานสำหรับรัฐบาลชุดต่อไปที่มาจากการเลือกตั้ง และเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องมีความน่าเชื่อถือและมีความโปร่งใส การตรวจสอบและการถ่วงดุลจะต้องได้รับการปกป้อง รวมทั้งประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมมากกว่าการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว

?การปฏิรูปการเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้กำหนดกรอบเวลาเพียงหนึ่งปี สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งหน้า ก่อนจะถึงเวลานั้น รัฐบาลชั่วคราวจะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งเสริมให้มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง ใช้ประโยชน์จากช่องทางการสื่อสาร เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและให้ความรู้แก่ประชาชน โดยจะไม่มีการชี้นำแต่จะกระตุ้นให้เกิดการรับรู้? พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว

สำหรับความท้าทายประการที่สอง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คือ การสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การเมืองและสังคมภายในประเทศมีความแตกต่างกันอย่างรุนแรง จึงต้องการหยุดวัฒนธรรมการเผชิญหน้าที่กำลังรุนแรงขึ้น ส่งเสริมการเจรจาและการสมานฉันท์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย

?ผมได้กล่าวขอโทษต่อพี่น้องชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ ต่อการดำเนินการอย่างรุนแรงของรัฐบาลในอดีต ยกฟ้องผู้ต่อต้าน ฟื้นฟู ศอบต. ที่ถูกยกเลิกไปโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว และในการเดินทางเยือนมาเลเซียที่ผ่านมา เชื่อว่าจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของไทย จากการที่เคยได้ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมศักยภาพสังคมและประชาชนในพื้นที่ภาคใต้กว่าสามปีพบว่า ปัญหามีหลากหลายมิติ โดยแนวทางแก้ปัญหานั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และการดำเนินการที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ความยุติธรรม สันติภาพ ความปรองดอง และท้ายที่สุดคือความเจริญรุ่งเรืองของชายแดนใต้? พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับความท้าทายประการที่สาม คือ การแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้อย่างไม่เท่าเทียม แม้ไทยจะเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในโลก คนรวยกับคนจนก็ยังคงมีช่องว่างทั้งในด้านรายได้และโอกาสที่ห่างไกลกัน รัฐบาลจึงได้ดำเนินนโยบาย เพื่อให้คนจนมีโอกาสด้านการศึกษา การสาธารณสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยจะมีทั้งการกำหนดนโยบายใหม่ และการเดินหน้านโยบายที่ริเริ่มโดยของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีประสิทธิภาพและจะได้ทำให้อย่างโปร่งใสและยั่งยืน

?ความท้าทายประการสุดท้าย คือ การสร้างหลักนิติธรรมให้มีความเข้มแข็ง หากมีการนำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียม เป็นการเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่น คอร์รัปชั่นทำให้ประสิทธิภาพลดหย่อนส่งผลร้ายต่อธุรกิจ หากต้องการให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีความชอบธรรม มีความเท่าเทียม และเป็นประชาธิปไตย กฎหมายจะต้องเป็นหลักในการบริหารประเทศ ไม่ใช่ด้วยเงินหรือสิทธิพิเศษต่างๆ และกฎหมายสำคัญๆ จะต้องปรับให้ทันสมัยสอดคล้องกับความเป็นจริงของเศรษฐกิจโลก? นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า การดำเนินนโยบายจะอยู่บนหลักการ 4 ป คือ โปร่งใส เป็นธรรม ประสิทธิภาพและการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด หรือ ?เศรษฐกิจพอเพียง? ซึ่งจะเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ ยังได้ให้ความหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่บางคนอาจจะยังมีความสับสน โดยระบุว่า เป็นแนวทางที่อยู่บนหลักการพื้นฐาน คือ การเดินสายกลาง ความมีเหตุผล และภูมิป้องกันตนเองจากความรุนแรงต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ



?การเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจ ยังคงมีความสำคัญ แต่จะต้องไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากประชาชนหรือทรัพยากร การเติบโตอย่างมีคุณภาพถือเป็นสิ่งสำคัญในการวัดความสำเร็จ บางคนอาจมีคำถามว่า แนวทางดังกล่าวสามารถเป็นไปได้ในระบบทุนนิยมสมัยใหม่จริงหรือ ซึ่งหากความรับผิดชอบทางสังคมของภาคธุรกิจ หลักธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการความเสี่ยง สามารถไปกันได้ดีกับทุนนิยมสมัยใหม่แล้ว เศรษฐกิจพอเพียงก็เช่นเดียวกัน และภายใต้รัฐบาลชั่วคราวนี้ ประเทศไทยก็ยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจเสรีในเศรษฐกิจโลก? พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว

ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215