องค์กรสุขภาพโลกรณรงค์ระวัง “เยื่อหุ้มสมองอักเสบ” โรคร้ายทำลายสมองของลูกรัก ขณะที่กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ เตือนพ่อแม่ที่มีลูกเล็กระวัง ว่าโรคนี้อาจทำให้พิการ หรือเสียชีวิตพร้อมระบุโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดจากเชื้อโรคได้หลายชนิด ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อโรคบางชนิดแล้ว
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความพิการทางสติปัญญาและร่างกาย และค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี หรือแม้แต่การสูญเสียชีวิต ซึ่งยังไม่นับรวมถึงเวลาที่ต้องเสียไปและสุขภาพจิตของบุคคลรอบข้างผู้ป่วยที่ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้น Confederation of Meningitis Organization (CoMO) ร่วมกับ Asian Strategic Alliance for Pneumococcal Disease (ASAP) ซึ่งเป็นองค์กรที่เผยแพร่ข้อมูล และการป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ที่มีองค์กรพันธมิตรในทุกภูมิภาคของโลก จึงได้กำหนดให้วันที่ 25 เมษายน ของทุกปีเป็นวันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งได้เริ่มในปีนี้เป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชนเกี่ยวกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงให้คำแนะนำในการป้องกันด้วยวัคซีนสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถลดอุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบทั่วโลกได้ ทั้งนี้ได้มีการจัดกิจกรรมมากมายในหลายประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา สเปน และออสเตรเลีย รวมทั้งยังได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและช่วยเหลือผู้ป่วยที่พิการจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
”โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเกิดได้จากการติดเชื้อหลายตัว ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสซึ่งพบได้มากที่สุด รองลงมาคือการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และหนอนพยาธิ ตามลำดับ สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงจะเป็นกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะภูมิคุ้มกันที่จะกำจัดเชื้อโรคบางส่วนยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เชื้อจึงมีโอกาสกระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ ได้มากกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ แม้ว่าโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะไม่ได้พบบ่อยมากนักในประเทศไทย แต่กรณีที่พบจะมีความรุนแรงมาก ขึ้นอยู่กับสุขภาพเริ่มแรกของผู้ป่วยว่ามีความแข็งแรงมากแค่ไหน ตลอดจนความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา ซึ่งโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจทำให้เกิดความพิการหรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้”
ศ.พญ.อุษา กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าปัจจุบันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะสามารถป้องกันด้วยวัคซีนได้แล้ว แต่พ่อแม่ส่วนมากยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยเข้าใจว่าวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรีย HIB ที่ฉีดให้กับเด็กทุกคนนั้น สามารถป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงยังมีเชื้อแบคทีเรียอีกหลายสายพันธุ์ที่สามารถก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและวัคซีน HIB ยังไม่สามารถคลอบคลุมได้ ซึ่งได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อซาลโมเนลลา และเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น เป็นต้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังด้วย โดยพบว่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมากเป็นอันดับหนึ่งในปัจจุบัน คือเชื้อ HIB และเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันได้แล้ว สำหรับวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส คือ วัคซีนไอพีดี ซึ่งนอกจากจะป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคติดเชื้อรุนแรงในกลุ่มโรคไอพีดีและโรคปอดบวมได้อีกด้วย แต่วัคซีนดังกล่าวยังเป็นเพียงวัคซีนทางเลือก และยังไม่ได้ถูกบรรจุเป็นวัคซีนขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ ซึ่งผู้ปกครองจะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดให้แก่ลูกหลานเอง ส่วนเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น มีวัคซีนป้องกันแล้วเช่นกัน แต่พบภาระของโรคในประเทศไทยน้อย สำหรับเชื้อซาลโมเนลลาที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันได้ “
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีระยะเวลาดำเนินโรคเร็วมากโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ดังนั้นเมื่อลูกไม่สบาย พ่อแม่ควรรู้จักสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กเล็กจะไม่สามารถบอกอาการเองได้ อย่างไรก็ตาม อาการของผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจไม่มีลักษณะจำเพาะที่ชัดเจน แต่จะเป็นอาการที่สามารถพบได้ในโรคอื่นๆ และไม่มีความแตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เช่น ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร กระสับกระส่าย นอกจากนี้ยังมีบางอาการแสดงที่สามารถสังเกตุได้ ได้แก่ ไข้ ตาไวต่อแสง ปวดต้นคอ ก้มคอลำบาก อาจมีอาการซึม ชัก ไม่รู้สึกตัว และแขนขาอ่อนแรง ซึ่งถ้าเกิดกับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ขวบ อาการมักจะไม่ชัดแจน แพทย์จำเป็นต้องตรวจน้ำไขสันหลังในกรณีที่ไม่แน่ใจ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และเป็นแนวทางในการรักษาต่อไป
ศ.พญ.อุษา กล่าวว่า “จะเห็นได้ว่าโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก และส่งผลกระทบกับระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความบกพร่องทางด้านสติปัญญา ความพิการทางด้านร่างกาย ตลอดจนการสูญเสียชีวิต และค่าดูแลรักษาพยาบาลอีกเป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้นการเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ปรุงสุกและสดใหม่ หมั่นล้างมือให้สะอาด รักษาสุขอนามัยภายในบ้านสม่ำเสมอรวมทั้งการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม จะช่วยเป็นเกราะป้องกันโรคต่างๆ ในเบื้องต้นให้กับเด็ก นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชน สถานที่แออัด และโรงพยาบาลที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เพราะเอื้ออำนวยต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคนี้ได้เป็นอย่างดี”
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์