ปธ.เครือข่ายพ่อ-แม่ ร้องสว.ขอให้เลิกใช้โอเน็ตเข้าหมอ เหตุเกณฑ์สอบ กสพท.สูงลิ่ว แถมมีชื่อเด็กติดแล้วร่วงภายหลัง 15 ราย โดยอ้างปัญหาเทคนิค ขณะที่สรุปยอดสมัครแอดมิชชั่น 52 เพิ่มขึ้นจากปี 51 เล็กน้อย สกอ.ยืนยันไม่ขยายวันรับชำระเงินอีกแล้ว มั่นใจนักเรียนมีที่เรียนทุกคนถ้าเลือกคณะที่เหมาะสม
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ขยายการรับสมัครและชำระเงิน เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือ แอดมิชชั่น ประจำปีการศึกษา 2552 จากเดิมรับสมัครถึงวันที่ 20 เม.ย. เป็นวันที่ 22 เม.ย. และชำระเงินถึงวันที่ 22 เม.ย. เป็น 24 เม.ย. ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า หลังจากปิดรับสมัครแอดมิชชั่นปี 52 สรุปว่ามีผู้สมัครทั้งสิ้น 124,821 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 51 เพียงเล็กน้อย ส่วนยอดผู้ชำระเงินต้องรอธนาคารและที่ทำการไปรษณีย์ไทยอีก 1-2 วันถึงจะทราบยอดทั้งหมด ทั้งนี้ สกอ.ยืนยันจะไม่มีการขยายวันชำระเงินอีกแล้ว เพราะจะส่งผลกระทบต่อการประมวลผล การประกาศผล และ การเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย
ดร.สุเมธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปีนี้มีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมแอดมิชชั่นจำนวน 96 แห่ง รับนักศึกษาใหม่ได้ 120,000 คน ซึ่งหากผู้สมัครแอดมิชชั่นกระจายการเลือกเข้ามหา วิทยาลัยได้อย่างเหมาะสม ตนมั่นใจผู้สมัครทุกคนจะมีที่เรียนแน่นอน อย่างไรก็ตามขอย้ำกับผู้สมัครอีกครั้งว่า ให้เข้าไปตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการสมัคร ทาง www.cuas.or.th ภายในวันที่ 25 เม.ย. และยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลส่วนตัว ทางโทรสาร 0-2576-5555, 0-2576-5777, 0-2354-5624, 0-2354-5598 ถึงวันที่ 27 เม.ย.นี้
ด้าน พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุ์ศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้รับการร้องเรียนจากนักเรียนที่สอบคัดเลือกระบบรับตรงของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ปีการศึกษา 2552 คนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. กสพท.ได้ประกาศผลสอบทางเว็บไซต์ โดยเด็กคนดังกล่าวสอบได้ที่คณะแพทย์ แต่ผ่านมาแค่ 1 วันรายชื่อกว่า 15 คนกลับไม่มีตามประกาศในวันแรกโดยอ้างว่ามีปัญหาทางเทคนิค นอกจากนี้การตั้งฐานคะแนนในการรับผู้ที่จะผ่านเกณฑ์ของคณะแพทย์ กสพท.ถือว่าสูงเกินไปโดยจะต้องได้ 60% ขึ้นไป แต่นักเรียนเห็นว่าไม่ยุติธรรม และต้องการให้ กสพท. ยกเลิกเกณฑ์ ดังกล่าว จึงได้มาร้องเรียนผ่านตน
พญ.กมลพรรณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีนักเรียนอีกจำนวนหนึ่งที่ร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ของเครือข่ายพ่อแม่ฯ โดยระบุว่าต้องการให้ กสพท.ยกเลิกเกณฑ์โอเน็ต 60% เช่นกัน ดังนั้นตนและนักเรียนคนดังกล่าวได้นำข้อร้องเรียนที่ร้องผ่านเว็บไซต์ ไปร้องเรียนต่อนายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ซึ่งนายสมชายก็รับเรื่องไว้แล้ว พร้อมกันนี้ตนยังได้ร้องเรียนกรณีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. จัดสอบคะแนนการวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT และคะแนนการวัดศักยภาพทางวิชาชีพหรือวิชาการ หรือ PAT โดยเก็บค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป และเห็นว่า GAT และ PAT เป็นข้อสอบที่ไม่ได้แตกต่างจากข้อสอบเอนทรานซ์ที่ใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพียงแต่เปลี่ยนชื่อและเก็บเงินสูงขึ้น ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก จึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกการสอบนี้เช่นกัน.
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์