วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกคราวนี้ แม้จะส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างทั้งภาคการเงิน ส่งออก และภาคการผลิต
แต่หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ยังพอมีหวัง ก็คือ โทรคมนาคมไทย โดยเฉพาะหากปีนี้สามารถเปิดใช้บริการเทคโนโลยี 3 จี ทั้งบนคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ของหน่วยงานรัฐ และเอกชน
มีการคาดการณ์ว่าโครงการ 3 จี จะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนในอุตสาหกรรมโทรคมไทย เพิ่มขึ้นปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี
หากรวมกับการลงทุนของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายหลักในตลาด ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด เฉลี่ยประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี ก็จะมีเม็ดเงินลงทุนในประเทศสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท
โครงการ 3 จี ที่ดูจะเป็นความหวังของผู้ลงทุน และผู้บริโภคปีนี้จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เห็น สัมผัสได้เพียงแผนงานที่ดูเหมือนจะไม่คืบหน้ามากนัก
ดังนั้น การลงทุน 3 จีที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวมขับเคลื่อน รวมถึงสร้างความคึกคักให้กับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงดูเลือนรางอย่างเคย
หากแบ่งการลงทุน 3 จีบน 2 คลื่นความถี่ที่ดำเนินการได้ เวลานี้ 3 จี 1900 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยความรับผิดชอบของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผ่านล่วงเลยมาเกือบ 1 ปี ตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.)นายสมัคร สุนทรเวช อนุมัติเมื่อกลางปีที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที บอกได้เพียงว่า ภายในเดือนเมษายนนี้ จึงจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยเฉพาะแหล่งเงินทุน และวิธีการประมูล
ขณะที่ 3 จี 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์จากขณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กว่าจะเปิดประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) หากทำได้เร็วจริงก็ปาเข้าไป ไตรมาส 3 ของปีนี้แล้ว ซึ่งหมายความว่า กว่าผู้ประกอบการจะลงทุนได้จริงก็ต้นปี 2553 ดังนั้น ทั้งผู้ลงทุนและผู้บริโภคยังต้องร้องเพลงรอต่อไป
สิ่งที่ผู้ให้บริการมือถือทำได้ในปีนี้คือ การรักษาฐานลูกค้าเดิม เพื่อประคับประคองธุรกิจให้สามารถฝ่าปัจจัยลบต่างๆไปได้และรอให้โครงการ 3 จี ชัดเจนที่สุด ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงน่าจะมีความคึกคักมากกว่านี้
ก่อนหน้านี้ทางดีแทคได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนด้าน 3จี ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เทเลเนอร์มีการระมัดระวังในการลงทุน โดยจะเน้นการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพ และการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ เทเลเนอร์จะให้ความสำคัญที่จะลงทุนในประเทศอินเดียมาก ซึ่งผลกระทบในแง่ของการลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับไทยแล้ว ประเทศอินเดียน่าสนใจกว่า
โดยนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กล่าวว่า การที่ กทช. ยังคงล่าช้าในเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) 3 จีบนคลื่นความถี่ใหม่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการมือถือในเรื่องแผนการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะงบประมาณที่จะนำมาใช้ลงทุน
เมื่อ กทช.ไม่มีความชัดเจนว่าจะให้ไลเซนส์ได้เมื่อไหร่ ทำให้ผู้ให้บริการมือถือเองไม่สามารถมีรายละเอียด หรือ ช่วงเวลาที่แน่นอนไปเสนอต่อธนาคารเพื่ออนุมัติเงินลงทุนได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนของแต่ละบริษัท
“ขณะนี้เริ่มไม่มั่นใจว่า กทช.จะสามารถออกไลเซ่นส์ได้ทันไตรมาส 3 ตามที่ประกาศไว้จริง เพราะจะเห็นว่า กทช. จะประกาศว่าไลเซ่นส์จะได้ทุกปี แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็เลื่อนทุกครั้ง ซึ่งทำให้ทั้งผู้ให้บริการมือถือและสถาบันการเงินงงตามไปด้วย”
นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไอซีทีโดยรวม เนื่องจาก ผู้ประกอบการโน้ตบุ๊ค และ คอมพิวเตอร์ ที่ ต้องการนำสินค้าที่รองรับ 3 จี ได้เข้ามาจำหน่าย ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่แน่ใจว่า 3 จี จะใช้งานได้จริง
อย่างไรก็ตาม การที่ กทช.ตัดสินใจใช้รูปแบบประมูลนั้นไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่เป็นวิธีที่โปร่งใสที่สุด เพราะหากใช้วิธีอื่นอาจทำให้ไลเซ่นส์ 3 จีมีความล่าช้ามากกว่านี้
ทั้งนี้ ดีแทควางแผนลงทุนเฉลี่ยปีละ 5,000-10,000 ล้านบาท บนไลเซ่นส์ 3 จี จากกทช. โดยเป็นการลงทุนควบคู่ไปกับคลื่นความถี่เก่า หรือ เอชเอสพีเอ โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารและ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า ทรูพร้อมลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ทันทีที่ได้รับไลเซนส์ 3 จี โดยจะลงทุนควบคู่กันทั้งในรูปแบบไลเซ่นส์ใหม่ และ เอชเอสพีเอ หลังจากได้รับอนุมัติจากกสท โทรคมนาคม ให้ดำเนินการได้
แม้การประมูลไลเซ่นส์ 3จีนั้น จะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่ก็ยอมรับได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนและรายละเอียดหลักเกณฑ์ต่างๆ จาก กทช.
ด้านนายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ เอไอเอส ระบุว่า ไม่มีเหตุอะไรที่ กทช.จะไม่สามารถเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี ได้ในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลชุดนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ได้เร่งให้มีการลงทุนเรื่องนี้ ด้านผู้ประกอบการเองก็มีความพร้อมมาตั้งแต่สองปีที่แล้วแล้ว
“โครงการ 3 จี ไม่ใช่แค่กระตุ้นเงินลงทุนให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยในเรื่องของการสร้างงานด้วย รวมถึงดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น ตลาดรวม 8 ล้านเลขหมายปีนี้ กลยุทธ์สำคัญของผู้ให้บริการแต่ละรายจึงหนีไม่พ้นการรักษาฐานลูกค้าเดิมให้มากที่สุด โดยที่บริการที่ยังพอมีหวังและสร้างรายได้ให้เติบโต คือบริการเสริม (นอนวอยซ์)”
ขณะที่นายปกรณ์ พรรณเชษฐ์ รองประธานอาวุโส ส่วนธุรกิจบริการเสริม ดีแทค ระบุว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยในปี 2552 ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากปริมาณการโทรผ่านแต่ละเครือข่ายจะมีอัตราลดลง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นวอยซ์ (บริการด้านเสียง) มีปริมาณการใช้งานลดลงแน่นอน แต่จะไปเพิ่มในบริการด้านข้อมูลมากขึ้น (ดาต้า)
ด้านนายปรัธนา ลีลพนัง ผู้อำนวยการสำนักบริการเสริม เอไอเอส ให้ข้อมูล ในปี 2552 อัตราการขยายตัวของบริการเสริม (นอนวอยซ์) ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง หากเทียบกับการเติบโตบริการเสียง (วอยซ์) ที่คาดว่ารายได้จากนอนวอยซ์ น่าจะเติบโตได้ราว 10-15% อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท
“เศรษฐกิจโดยรวม ติดลบแต่ธุรกิจโทรคมนาคมในปีนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าจะโต 3-5% ซึ่งเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับ อัตราเติบโตของเคเบิลทีวีและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) เพราะตลาดมือถืออิ่มตัวโดยต้องการให้ รัฐบาลสร้างความชัดเจนเรื่อง 3 จี และไวแมกซ์ใภายในปีนี้ เนื่องจากบริการ 3 จีจะเข้ามาดันตลาดโทรคมนาคมให้มี อัตราเติบโตมากขึ้น อย่างไรก็ดีมองว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่ผู้ใช้มือถือไปถึง 100 ล้านเลขหมายได้ในปี พ.ศ.2556 เพราะผู้ใช้มือถือหลายเบอร์มากขึ้น”
อุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยเฉพาะมือถือคงต้องไปลุ้นครั้งใหญ่ต้นปี 2553 เพราะหาก 3 จี เปิดใช้อย่างสมบูรณ์ตลาดนี้คงจะกลับมาคึกคักไม่น้อย
ผู้ใช้มือถือเองก็คงได้สนุกกับเทคโนโลยีใหม่ และหวังว่าจะไม่ต้องเจอโรคเลื่อนอีก
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์