แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ภายในประเทศ

ผ่ายุทธวิธีระดมเงิน ?คลัง?สู้ศึกเศรษฐกิจ ( ข่าวทั่วไป )

ผ่านปีงบประมาณ 2552 มาได้ครึ่งทาง และกำลังจะก้าวเข้าสู่ไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ อันเป็นช่วงชี้เป็นชี้ตายว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะอยู่หรือไป มาตรการของรัฐที่ผลักดันลงไปในระบบเศรษฐกิจจะเอาอยู่หรือไม่

เมื่อลองจับชีพจรเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ตั้งแต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรายเดือน และแนวโน้มในแต่ละไตรมาส ตัวเลขการส่งออก ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ดุลบัญชีเดินสะพัด และหนี้สาธารณะ จากสารพัดหน่วยงานในภาครัฐและเอกชน

ต้องบอกว่าท่าทางจะไข้ขึ้นสูง เพราะมีอาการร้อนๆ หนาวๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนไม่ค่อยน่าพิสมัยสักเท่าใด

และบางส่วนจำเป็นจะต้องบอกว่า น่าเป็นห่วง เพราะไม่ใช่แค่อาการจะดูแย่ แต่เผลอๆ ขาข้างหนึ่งอาจก้าวเข้าห้องไอซียู เพราะอัมพฤกษ์ อัมพาตกินไปครึ่งหนึ่งแล้ว และถ้ายังจ่ายยาไม่ถูก อาจเข้าขั้นโคม่าในเร็ววันก็เป็นได้

เริ่มจากตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ประกาศโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่มีแต่สาละวันเตี้ยลง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าปี 2552 เศรษฐกิจจะขยายตัว 0-2% กลายเป็นหดตัว 2.5% ในห้วงเวลาเพียง 2 เดือน

และยิ่งขวัญผวาหนัก เมื่อ “กรณ์ จาติกวณิช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมายอมรับว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยหดตัวหนักไปไกลถึงติดลบ 3% ด้วยปัจจัยความวุ่นวายทางการเมืองล้วนๆ

ตามติดมาด้วยตัวเลขการส่งออกที่หดตัวมโหฬาร จากเดิมที่คาดการณ์ว่าในปีนี้จะทรงๆ ตัวอยู่ที่ 12.5% กลายเป็น ไม่ติดลบก็โชคดีเหลือหลายแล้ว

แต่ที่ต้องจับตาให้มากคือ ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในปีงบประมาณ 2552 ที่ถือเป็นเงินกระเป๋าซ้าย เพื่อจะได้โยกมาจ่ายที่กระเป๋าขวาได้อย่างทันท่วงที เพราะตัวเลข 5 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551-กุมภาพันธ์ 2552 ต่ำกว่าประมาณการไปเรียบร้อยแล้ว 88,586 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดรัฐบาลปีนี้มียอดขาดดุลถึง 5.62 แสนล้านบาท

และสิ่งที่ทำให้ขุนคลังที่ชื่อ “กรณ์ จาติกวณิช” ต้องหัวเสียหนักขึ้น เมื่อได้เห็นตัวเลขประมาณการจัดเก็บรายได้โดยรวมทั้งหมด ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2552 ที่ดีดลูกคิดคำนวณจากสถานการณ์จริงของรัฐบาลจากสถานการณ์

ได้คำตอบเนื้อๆ เน้นๆ ที่คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าถึง 240,470 ล้านบาท จากเดิมที่ประมาณการไว้ว่าจะต่ำกว่าเป้า 130,000 ล้านบาท เมื่อรายได้ต่ำกว่าเป้าเนื่องจากการบริโภคในประเทศถดถอย ประกอบกับการนำเข้าที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รัฐบาลจำต้องงัดนโยบายการคลังมาดูแลเศรษฐกิจ ด้วยการออกงบประมาณกลางปีเพิ่มเติม 1.167 แสนล้านบาท การขาดดุลงบประมาณจึงเพิ่มขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ จาก 2.49 แสนล้านบาท เป็น 3.49 แสนล้านบาท

ขณะที่เพดานความสามารถในการขาดดุลตามกฎหมายของไทย กำหนดให้ขาดดุลได้สูงสุด 4.43 แสนล้านบาท เท่ากับว่า รัฐบาลเหลือช่องว่างในการทำงบประมาณขาดดุล หรือมีกระสุนสำรองอีกเพียง 9.4 หมื่นล้านบาท อีกเพียงนิดเดียวก็จะชนเพดานแล้ว

ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

ดังนั้น เพื่อให้มีเงินปิดหีบงบประมาณปี 2552 ให้ได้ ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2552 และพระราชบัญญัติงบกลางปี 2552 เราจึงได้เห็นกระทรวงการคลังขมีขมันจัดทำเรื่องส่งตรงถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอกู้เงินจำนวน 94,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้ที่จัดเก็บได้น้อยกว่ารายจ่าย และการกู้เงินครั้งนี้จะทำให้เต็มเพดานการกู้เงินของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2552 ทันที ตามกรอบกฎหมายของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ที่ขีดเส้นรัฐบาลสามารถกู้เงินได้ 20% ของวงเงินรายจ่าย ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องดำเนินการกู้เงินมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประสานเสียงกันถึงการที่เลือกกู้เงิน แม้ว่าในทางเศรษฐศาสตร์จะมีทางออกไว้ให้ 3 ทาง คือ 1.การจัดเก็บภาษีให้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าเลือกวิธีนี้จริง จะต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีนิติบุคคลกันครั้งมโหฬาร เพื่อให้เพียงพอกับการปิดหีบเงินของประเทศ 2.การขายสมบัติของประเทศชาติ เช่น การนำรัฐวิสาหกิจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่รัฐบาลมองว่าไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่ง และ 3.การกู้เงิน ที่ยังทำได้ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น วิธีนี้จึงน่าจะเป็นช่องทางที่เหมาะที่ควรที่สุด

เมื่อเลือกได้แล้วรัฐบาลจึงเตรียมกระสุนสำรองชุดต่อไป ด้วยการเร่งรัดสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เร่งศึกษาแนวทางและวางกรอบการจัดทำพระราชกำหนดเพื่อขยายเพดานเงินกู้ เปิดช่องให้รัฐบาลสามารถขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังเพิ่มจาก 50% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็น 60% ของจีดีพีได้เป็นกรณีพิเศษ แต่จะทำในช่วงเวลาสั้นๆ 2-3 ปี เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลังในระยะยาว

เท่ากับว่า ในยุคเงินช็อร์ตรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ได้เลือกการกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจเป็นตัวหลัก หนึ่งในนั้นคือ การเงินกู้จากต่างประเทศตามกรอบที่กฎหมายกำหนดให้สามารถทำได้ไม่เกิน 10% ของงบประมาณ โดยมีเงินกู้จาก 3 แหล่ง ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารโลก และองค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ป่น (ไจก้า) วงเงินรวม 2,000 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท แต่การกู้เงินยังไม่หยุดเท่านี้แน่ เพราะรัฐบาลยังมีแผนจะกู้เงินจากจีน มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย

คงต้องรอดูว่าจะกู้อีกสักเท่าใด และกู้ไปเพื่ออะไร จำเป็นหรือไม่

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้สั่งการให้ทุกกระทรวง ทุกกรม ทุกกอง เร่งควานหาเม็ดเงินจากสารพัดแหล่งเพื่อมาตุนไว้เป็นคลังสำรอง โดยเจ้าแรกพุ่งเป้าไปยังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แบไต๋ออกมาว่ากำลังหาช่องจะเอาเงินที่สะสมไว้จากการขายหวยบนดินในอดีต วงเงิน 17,000 ล้านบาท แทนที่จะให้สำนักงานสลากฯฝากธนาคารกินดอกเบี้ยเฉยๆ ว่าจะดึงกลับมาเป็นรายได้แผ่นดินได้หรือไม่

แต่ยังติดขัดอยู่ตรงที่ว่าเงินก้อนนี้ เป็นเงินที่ถูกสั่งการให้แช่แข็งไว้ เพราะเป็นเงินจากโครงการที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น เมื่อเป็นประเด็นทางกฎหมายจำต้องทำให้ถูกกฎหมาย ด้วยการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าเงินนี้จะดึงกลับมาเข้าแผ่นดินได้หรือไม่ ต้องอดใจรอ

แผนการระดมเงินในประเทศยังไม่จบเท่านั้น กระทรวงการคลังยังได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปเร่งตรวจสอบฐานะทางการเงินของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ในสังกัด ว่าหน่วยงานไหนมีเงินรายได้ที่เต็มไม้เต็มมือ และสมควรจะต้องส่งเข้าแผ่นดินให้มากขึ้นบ้าง

รัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่ถูกจับตามอง คือ โรงงานยาสูบ ที่แว่วๆ ว่ามีเงินสดๆ ตุนอยู่ในมือถึง 2,000 ล้านบาท ด้วยว่าเป็นเงินที่ถูกกันไว้เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ฉะนั้น เมื่อแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ยังไม่คลอด เงินที่กันไว้ก็ควรจะกลับมาในมือรัฐ

ทั้งหมดทั้งมวลให้เหตุผลว่าเพื่อจะได้นำไปให้โครงการที่มีความพร้อมมากกว่าได้ใช้แทน และเผื่อไว้ให้ใช้ในยามฉุกเฉินและจำเป็น

ขณะที่ฟากของกรมภาษี อย่าง กรมสรรพสามิต ที่มีนายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้กำกับดูแล ก็ไม่น้อยหน้า เร่งเครื่องก่อนใครเพื่อน ว่าจะศึกษาและปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ทั้งระบบ โดยพุ่งตรงไปที่ ภาษีบาป (sin tax) ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ ชา กาแฟ สุรา ยาสูบ เอสเอ็มเอส เกมออนไลน์ เป็นต้น

ตั้งความหวังไว้สูงมากว่าหากปรับโครงสร้างใหม่จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มอีกปีละเกือบ 30,000 ล้านบาท

แต่ต้องไม่ลืมว่าการปรับขึ้นภาษีในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังติดหล่ม ใช่ว่าจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้มากพอจะนำมาปิดหีบให้ลง เพราะขณะนี้เราผ่านปีงบประมาณ 2552 มาได้ 6 เดือนแล้ว

และถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง ถามว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยย่ำแย่ เลวร้ายแล้วหรือจึงต้องเร่งกรุยทาง ออกกฎหมายขยายเพดานเงินกู้ รวมถึงการเร่งขอกู้เงินจากต่างประเทศเป็นการด่วนแบบนี้

ต้องบอกว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่แห้งเหี่ยว จนกรอบ หรือจำเป็นขนาดนั้น ทุกอย่างยังเดินต่อไปได้ เงินคงคลัง ณ เดือนมีนาคม 2552 ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ คือ 30,000-40,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอกับค่าใช้จ่ายประมาณ 10-15 วัน ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

แต่การที่รัฐบาลรีบดำเนินการ ก็คงเป็นเพราะต้องการกระสุนสำรองและเพื่อความอุ่นใจ ว่ามีเงินตุนเอาไว้เพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ และรองรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ที่มีวงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท

เพราะเชื่อได้ว่าจะต้องมีโครงการที่มีนัยยะทางการเมือง เอื้อเฟื้อ และส่งเสริมฐานเสียงของรัฐบาลให้แข็งแกร่ง เพื่อรอรับการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

โปรดติดตามรอ...

ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215