ลุ้นกันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ว่า นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ซึ่งเป็นผู้บริหารบัตรไทยแลนด์ อีลิทการ์ด จะตัดสินอนาคตของอีลิทการ์ดอย่างไร ระหว่างเปิดให้ดำเนินการต่อไป ปิดกิจการ หรือให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมถือหุ้น แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อสรุป
ถ้าจะมองปัญหาให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น คงต้องย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาแนวทางการดำเนินงานของอีลิทการ์ดว่า สมควรที่จะดำเนินการต่อหรือไม่ เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง
หลังมีคำสั่งไม่กี่สัปดาห์ ทีพีซีก็ได้สรุปแนวทางออกมา 3 แนวทาง คือ 1.การปิดบริษัท ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 2,435 ล้านบาท เป็นเงินชดเชยให้สมาชิกที่มีอยู่ 2,570 ราย ทั้งหมด 2,240 ล้านบาท หนี้สินที่ต้องชำระให้กับผู้ให้บริการ (เวนเดอร์) ที่มีสัญญาผูกพันกันอยู่ 168 ล้านบาท และเงินสำหรับเลิกจ้างพนักงาน 16-17 ล้านบาท ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่สมาชิกบางรายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
นอกจากความเสียหายที่เป็นตัวเงินแล้ว ยังมีความเสียหายจากการที่ผู้บริหารระดับสูง ที่ถือบัตรสมาชิก เสียความรู้สึก ขาดความมั่นใจกับความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลไทยด้วย ซึ่งความเสียหายในส่วนนี้จะต้องใช้เวลาอีกนาน จึงจะทำให้ความรู้สึกกลับมาเป็นเหมือนเดิม
2.ดำเนินธุรกิจต่อไป แต่ต้องปรับโครงสร้างการดำเนินงานอย่างมาก เพื่อหาหนทางเพิ่มรายได้ ควบคุมค่าใช้จ่าย ปรับโครงสร้างหน่วยงานให้กระชับ ปรับลดอายุสมาชิกกลุ่มเดิมที่บัตรมีอายุตลอดชีพ เหลือระยะเวลาแค่ 30 ปี จำกัดจำนวนขายบัตรสมาชิก ไม่เกิน 20,000 ใบ เพราะหากขายมากไปจะเป็นภาระในอนาคต
และ 3.แปรสภาพบริษัทให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหาร ขายหุ้นให้เอกชนบางส่วน แต่ยังให้ถือหุ้นอยู่ เพื่อมีอำนาจชี้เป็นชี้ตาย โดยอาจให้เอกชนถือหุ้น 49% ส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะผู้ถือหุ้น 100% ในขณะนี้ลดการถือหุ้นลงเหลือ 51% หรือให้เอกชนถือหุ้น 75% ททท. 25% เป็นต้น ซึ่งแนวคิดนี้จะต้องคัดเลือกเอกชนที่มาร่วมหุ้นด้วย
เมื่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีพีซี อนุมัติตามแนวทางนี้ ก็ชงบอร์ด ททท.ทันที และในระหว่างที่บอร์ดประชุมอยู่นั้น นายชุมพลได้เดินทางเข้าไปมอบนโยบายถึงในห้องประชุม โดยสั่งการให้บอร์ดสั่งชะลอการดำเนินงานทุกอย่างของทีพีซี ที่จะก่อให้เกิดภาระผูกพัน จนกว่า ครม.จะมีมติสั่งออกมาว่าจะให้ปิด หรือให้ดำเนินการด้วยวิธีอื่น
ทันทีที่มีนโยบายออกมา ทำให้การสรรหาผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของทีพีซี ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึงการจำหน่ายบัตรสมาชิก และการพิจารณาให้เงินอุดหนุนองค์กรต่างๆ ต้องหยุดลง และในวันต่อมา นายชุมพลก็ตอกย้ำเรื่องดังกล่าวด้วยการออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกับยืนยันว่าจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกแนวทางไหน เสนอให้ ครม.พิจารณา โดยจะเลือกเพียงแนวทางเดียวเท่านั้น
กระทั่งสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็ยังไม่มีข้อสรุป โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความล่าช้าของฝ่ายบริหาร ททท. ที่ส่งเรื่องไปยังนายชุมพลล่าช้า เพราะกว่าจะส่งไปได้ก็เกือบจะสิ้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่แล้ว จนนายชุมพลออกมาโวยวาย ททท.ส่งข้อมูลให้ล่าช้า จึงไม่สามารถพิจารณาได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งข้ออ้างนี้พอกล้อมแกล้มไปได้
หลังจากที่นายชุมพลได้ข้อมูลจาก ททท.แล้ว แต่ยังเห็นว่ามีข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะต้องการข้อมูลที่เป็นผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับชะตาของทีพีซีประกอบด้วย ททท.จึงต้องกลับไปรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับผลการศึกษาทั้งหมด ส่งให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯอีกครั้ง
จนเวลาได้ล่วงเลยถึงช่วงปลายเดือนมีนาคม ทีพีซีจึงสามารถรวบรวมส่งรายละเอียดต่างๆ ให้กับ ททท.ได้ โดยข้อมูลที่ทีพีซีส่งให้กับ ททท. จะมีเอกสารเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับสมาชิกของอีลิทการ์ดด้วย ประมาณ 22-23 แฟ้ม หลังจากนั้น ได้ส่งเพิ่มอีก 1 แฟ้ม เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งทาง ททท.ได้นำส่งเอกสารทั้งหมดให้กับนายชุมพลทันที
เมื่อเอกสารทั้งหมดส่งถึงมือนายชุมพลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไร้วี่แววว่าจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร ท่ามกลางการเกาะติดสถานการณ์ของสื่อแขนงต่างๆ แต่คำตอบที่ได้รับมีแต่บอกให้ใจเย็นๆ หรือไม่ก็เลี่ยงไม่ตอบคำถาม จนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความพยายามที่จะยื้อเรื่องนี้ต่อไปอีกหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ยังมองโลกในแง่ดีว่าคงไม่เกินเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน ก็คงจะได้ข้อสรุป
แต่ทันทีที่ได้ยินปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ในฐานะประธานบอร์ดทีพีซี ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ถูกจับวางโดยนายชุมพล เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ และรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานของทีพีซีแทนนายสรจักร เกษมสุวรรณ ที่ลาออกตำแหน่งไป และได้รับการแต่งตั้งให้เข้าร่วมเป็นกรรมการในบอร์ดอีกครั้ง ออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมบอร์ด ในวันที่ 26 มีนาคม ว่า
ที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา เพื่อเร่งตรวจสอบการเงินของทีพีซี ทั้งในแง่เงินรายได้ เงินคงเหลือ ทรัพย์สิน รวมถึงการรื้อระบบฐานการคิดหนี้สินซึ่งเดิมคิดบนฐาน 10 ปี แต่เห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับหลักความเป็นจริง เพราะผู้ถือบัตรมีอายุถึง 30 ปี จึงให้นำเสนอรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้งภายในวันที่ 9 เมษายน
กว่าจะผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและเสนอเรื่องกลับไปที่ รมว.ท่องเที่ยวฯอีกครั้ง เริ่มไม่แน่ใจว่าจะ "เคาะ" ได้ตามเวลาที่กำหนดหรือไม่ หรือเป็นเพียงเกมซื้อเวลาของคนบางกลุ่ม
แต่ข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนต่อไปเรื่อยๆ คือ ภาระการขาดทุน หรือการเสียโอกาสของทีพีซี ที่จะเพิ่มทวีคูณขึ้น เพราะในระหว่างที่เรื่องนี้ไม่ได้ข้อยุติ ทีพีซีจะยังไม่สามารถขายบัตรสมาชิก หรือดำเนินการอะไรได้
ขณะเดียวกันยังต้องแบกรับภาระค่าบริการสมาชิกที่มีอยู่ 2,600 คน เป็นเงินกว่า 100 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังต้องรับภาระค่าบริการสปาและรถลิมูซีนรับ-ส่ง และค่าบริการต้นทุนการบริหารจัดการอีกปีละประมาณ 200 ล้านบาท โดยไม่มีรายรับ
ขณะที่กระแสเงินสดที่มีอยู่ในตอนนี้ก็เหลือเพียง 479 ล้านบาทเท่านั้น
หากปล่อยไว้แบบนี้อีกไม่นาน ไม่มีใครสั่งปิดก็คงต้องปิดตัวเองแน่นอน
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์