ลำพังปัจจัยภายนอกจากวิกฤตการเงินยังส่งให้เศรษฐกิจไทยปี 2552 ต้องเผชิญกับแรงกระแทกหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เมื่อมาเจอแรงบวกของปัญหาการเมืองภายในประเทศ บานปลายเป็นการจลาจลเมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมา ยิ่งทำให้วิกฤตประเทศรุนแรงมากขึ้นเป็นทวีคูณ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องถูกลากยาวเนิ่นนานออกไป
เหตุการณ์จลาจลยังกลายเป็นน้ำหนักกดทับนักลงทุนและผู้ประกอบการให้ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นก่อนนี้ ต้องเลวร้ายลงไปอีก และสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังจับตาดูในระยะต่อไปคือ การทำงานของธนาคารพาณิชย์หลังจากพยายามป้องกันตัวเองจากเศรษฐกิจทรุดตัวในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการชะลอการปล่อยสินเชื่อเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ โดยเฉพาะมีการจัด 7 กลุ่มธุรกิจเสี่ยง จะมีการดูแลการปล่อยสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้นหรือไม่
ธุรกิจท่องเที่ยว
นับตั้งแต่เหตุการณ์ปิดสนามบินเมื่อปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวติดค้าง ไม่สามารถเดินทางได้ เป็นประสบการณ์เลวร้ายที่ยากจะลืมเลือน ส่งผลกระทบต่อความไม่เชื่อมั่นที่จะกลับมาเที่ยวเมืองไทยอีก
แม้เหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงต้นปีเริ่มสงบลง และเห็นสัญญาณว่าเริ่มมียอดจองห้องพักกลับเข้ามาบ้างในช่วง 1-2 เดือนแรก
แต่ในที่สุดสถานการณ์การเมืองก็ยังไม่วายรุมเร้ารอบใหม่ เมื่อกลุ่มเสื้อแดงกลับมาเป็นผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลแทนเสื้อเหลือง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวขณะนี้น่าเป็นห่วงมากกว่าเดิม เมื่อการชุมนุมถูกยกระดับความรุนแรงถึงขึ้นจลาจลทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักอาทิ จีน ญี่ป่น เกาหลี ยกเลิกเที่ยวบิน ยกเลิกห้องพัก กระทบต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย
ประเมินกันว่าเม็ดเงินที่หายไปจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะมีกว่า 1 แสนล้านบาท จากรายได้ท่องเที่ยวปกติปีละ 5-6 แสนล้านบาท และหากยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวได้กลับคืนมา ความสูญเสียจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมสภาพคล่องของภาคธุรกิจในกลุ่มนี้ทรุดหนักลงไปอีก
อุตสาหกรรมรถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ถูกจัดให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงสุดในขณะนี้ เห็นได้จากสัญญาณการชะลอตัวอย่างรุนแรงของยอดขายรถยนต์มาตั้งแต่ปี 2551 ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้กำลังซื้อทั่วโลกชะลอลง หนำซ้ำบริษัทรถยนต์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา คือ บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ หรือจีเอ็ม ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากภาวะเศรษฐกิจอเมริกาถดถอย จนต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ตามด้วยบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในเอเชีย ทั้งโตโยต้า ฮอนด้า ต้องประสบปัญหายอดขายติดลบเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี
บริษัทรถยนต์ในไทยก็คงมีชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก เพราะไทยถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกที่สำคัญในเอเชีย โดยคาดว่าในปีนี้ธุรกิจรถยนต์ในไทยจะขยายตัวลดลงมากกว่า 30%
จัดเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงในสายตาแบงก์!!
ธุรกิจส่งออก
วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ แตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ที่ครั้งนั้นผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรุนแรงกับภาคสถาบันการเงิน และอสังหาริมทรัพย์ แต่วิกฤตครั้งนี้ เริ่มต้นจากวิกฤตซับไพรม์ที่ส่งผลให้สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้รับผลกระทบโดยตรง ก่อนที่จะลุกลามไปสู่ภูมิภาคอื่น เมื่อกำลังซื้อของโลกหดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลต่อผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตสินค้าหลักจากเอเชีย ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่
เช่นเดียวกับผู้ส่งออกไทย เมื่อยอดการสั่งซื้อสินค้าเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ปลายปี 2551 ส่งผลให้การส่งออกลดลงอย่างรวดเร็ว จนเข้าขั้นติดลบต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว เป็นเหตุให้แบงก์จัดให้ธุรกิจส่งออกกลายเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้เสีย จำเป็นต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อไปโดยปริยาย
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ภาคธุรกิจที่ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ ต้องมีชื่อของอสังหาริมทรัพย์เข้าไปร่วมในดันดับต้นด้วยทุกครั้ง เนื่องจากบทเรียนคราวก่อนเมื่อวิกฤติปี 2540 อสังหาริมทรัพย์ถูกมองว่ากลายเป็นตัวร้าย ทำให้วิกฤติคราวนี้อสังหาริมทรัพย์จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ หลายโครงการที่ค้างตั้งแต่ปลายปีที่แล้วไปต่อไม่ได้ เพราะแบงก์ชะงักการปล่อยกู้ไป โครงการที่ไม่ใช่โครงการของบริษัทที่มีชื่อเสียงมากนัก อาจลำบากหน่อย ยิ่งถ้าทำเลไม่ดี ไม่ใช่แนวรถไฟฟ้า หรือในเมือง อนาคตที่จะไปต่อได้ยากกว่าเดิม
ขณะเดียวกันผ่านมา 1 ไตรมาสแล้ว อสังหาริมทรัพย์ยังสามารถยืนอยู่ในสถานะที่ไม่เลวร้ายมากนัก โดยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันว่า
“อสังหาถือว่ายังไม่มีอะไรเลวร้ายในตอนนี้ คงยังไม่ถึงคิวของอสังหาฯ แต่ต้องดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร บทเรียนจากวิกฤตคราวก่อนถือว่าเป็นภูมิต้านทานที่ผู้ประกอบสามารถพยุงธุรกิจไปต่อได้ แต่ปัญหาที่บอกว่าธนาคารไม่ปล่อยกู้นั้น ในยามนี้ธนาคารต้องพิจาณาความเป็นไปได้มากกว่า หากปล่อยให้ขึ้นโครงการแล้วขายไม่ได้ ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการอย่างเดียวที่จะแย่ แต่แบงก์ก็จะแย่ตามไปด้วย” นายอภิศักดิ์กล่าว
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นอีกภาคธุรกิจที่มีการให้ความเป็นห่วง เนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก สายป่านทางธุรกิจอาจไม่ยาวมากพอที่จะช่วยพยุงตัวเองได้ แต่ช่วงที่ผ่านมา 3 เดือนแรก ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถปรับตัวเองได้ดี ประกอบกับมาตรการของรัฐที่เพิ่มทุนให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) ทำให้ช่วยผ่อนคลายความเสี่ยงของเอสเอ็มอีให้กับแบงก์ได้ส่วนหนึ่ง จึงทำให้แบงก์มีความมั่นใจที่จะปล่อยกู้ได้มากขึ้น ทั้งนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมหลักๆ อย่างส่งออกอาจต้องระวังตัวเองมากขึ้น เพราะถือว่ายังมีความเสี่ยงในสายตาของแบงก์อยู่
“ธุรกิจที่จะสามารถอยู่และผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ สายป่านต้องยาว หากใครสายป่านยาวก็จะได้เปรียบ ซึ่งวิกฤติในครั้งนี้ไม่ได้มาอย่างฉับพลันแต่ค่อยๆ มามีเวลาได้ปรับตัว ซึ่งต้องพยายามอย่าก่อหนี้สูญ และลดต้นทุนการผลิต ธนาคารอยากปล่อยให้อยู่แล้ว แต่เมื่อมีความเสี่ยงก็ต้องระวังมากขึ้น” นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยกล่าว
นอกจากกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหล่านี้แล้วธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ธนาคารต่างเฝ้าระวัง และจับตามองไม่แพ้กัน คือธุรกิจที่อยู่ในข่ายสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากภาวะด้านกำลังซื้อที่ลดลง รายจ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งก็คือสินค้าเหล่านี้จึงถูกตัดออกไป โดยธุรกิจที่พึ่งพาการใช้วัตถุดิบการผลิตในประเทศเป็นหลัก เช่น อัญมณีเฟอร์นิเจอร์ จึงมีความเสี่ยงในระดับสูงอยู่
อุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณี
เครื่องประดับและอัญมณีเป็นสินค้าที่ประเทศไทยสามารถส่งออกได้ค่อนข้างมาก และมีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้นเมื่อกำลังซื้อต่างประเทศลดประกอบกับค่าเงินบาทผันผวน ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์
กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกและเป็นหนึ่งในสินค้าฟุ่มเฟือย แต่กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีการนำเข้าวัตถุดิบการผลิตด้วยไม่ใช่การพึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศอย่างอัญมณี จึงพอได้รับประโยนช์จากการแข็งค่าของค่าเงิบบาทที่อยู่ในช่วงผันผวนบ้าง ซึ่งทำให้นำเข้าวัตถุดิบในการผลิตถูกลง ซึ่งอุตสากรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีฐานกำลังการผลิตในประเทศไทย และมีการส่งออกในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เมื่อการส่งออกถูกกระทบอุตสาหกรรมนี้จึงได้รับผลกระทบไปด้วย
อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขณะนี้ผ่านมา 1 ไตรมาสแล้วก็ยังมองไม่เห็นจุดต่ำสุด ในเมื่อไม่รู้ว่าจุดต่ำสุดอยุ่ตรงไหนก็สามารถระบุได้ว่าเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อใด ดังนั้นยามนี้ทุกฝ่ายต่างต้องช่วยกันประคับประคองให้สามารถฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้
นิยามที่ว่า “ยามแดดออกแบงก์จะกางร่มให้ แต่ถ้าฝนตกแบงก์จะหุบร่มทันที” ท่ามกลางพายุที่กระหน่ำประเทศขณะนี้ธนาคารจะหุบร่มตอนนี้แล้วปล่อยให้ธุรกิจเดินฝ่าฝนไปนั้น
สมควรแล้วหรือ?
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์