ดูท่าสถานการณ์การเมืองไทยคงจะไม่จบลงง่ายๆ หลังรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่าง “ร้ายแรง” ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวม 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าจัดการกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “ม็อบเสื้อแดง” ได้อย่างเต็มที่ เพื่อดำเนินการให้ประเทศเข้าสู่ความสงบภายใน 4 วันช่วงสงกรานต์
หลังจากกลุ่มเสื้อแดงได้นำกลุ่มคนบุกพัทยา ขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอย่างอุกอาจ ต่อหน้าต่อตาบรรดาผู้นำและสื่อต่างประเทศจากทั่วโลก พร้อมปิดถนนสายสำคัญหลายเส้นทางในเขตกรุงเทพฯ จนการจราจรเป็นอัมพาตไปทั่วกรุง
ทันทีที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลุ่มคนเสื้อแดงก็เริ่มใช้ความรุนแรง บุกเข้ากระทรวงมหาดไทยที่นายกรัฐมนตรีใช้เป็นที่มั่นสั่งการ มีการทำลายทรัพย์สิน ทุบรถนายกรัฐมนตรี พร้อมทำร้ายร่างกาย “นิพนธ์ พร้อมพันธุ์” เลขาธิการนายกฯ ต่อมารัฐบาลก็เริ่มใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมในบางจุด เพื่อเปิดเส้นทางการจราจร และใช้กำลังทหารเข้าตรึงพื้นที่สำคัญในอีกหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ
แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายกฯอภิสิทธิ์จะพยายามรายงาน ชี้แจงเหตุและผลต่อประชาชนทั่วประเทศ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ด้วยตัวเองเป็นระยะ พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม แต่ก็ไม่ได้ช่วยคลายความกังวลของสาธารณชนลงแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีใครทราบแน่นอนว่า สถานการณ์จะ “ยืดเยื้อ” ต่อไปอีกนานแค่ไหน และจะคลี่คลายไปในทิศทางใด
แต่สิ่งที่ทุกคนมั่นใจว่าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นั่นคือ ภาพลักษณ์ของประเทศที่จะต้อง “ติดลบ” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะในสายตาของต่างประเทศ ทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ที่จะชะลอการเข้าประเทศไทยทุกครั้ง หลังมีความวุ่นวายทางการเมือง โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดหุ้น ที่มักจะ “อ่อนไหว” ต่อสถานการณ์ต่างๆ ก่อนภาคส่วนอื่นเสมอ เห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขดัชนีหุ้นที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นเวลาการระดมแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ พบว่าตลาดหุ้นไทยจะยังไม่สดใสเท่าที่ควร โดยดัชนีแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบๆ เข้าสู่สภาวะ “ตลาดหมี” หรือ “แบร์มาร์เก็ต”
โดยตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม จนถึงจุดปิด ณ วันที่ 10 เมษายน ดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 453 จุด ปรับลดลงจากระดับ 478 จุดเมื่อต้นปี หรือลดลง 25 จุด ขณะที่มูลค่ารวมตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.61 ล้านล้านบาท จากระดับ 3.79 ล้านล้านบาท หรือลดลง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่การเทขายของนักลงทุนต่างประเทศก็เริ่มเบาบางลง มีการหันมาซื้อสุทธิบ้างในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศมีการขายสุทธิในช่วงที่ผ่านมาเพียง 253.96 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 9,394.99 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนรายย่อย ซื้อสุทธิ 9,648.95 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรับลดลงอย่างชัดเจน และเป็นที่กังวลของแวดวงตลาดทุน โดยเฉพาะบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ ก็คือ ปริมาณการซื้อขายหุ้น หรือวอลุ่ม ที่ปรับลดลงมากกว่า 50% จากปีที่ผ่านมา โดยวอลุ่มเฉลี่ยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 8,000 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มีวอลุ่มเฉลี่ย 16,000-18,000 ล้านบาท หลักๆ มาจากการเข้าลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ที่แม้จะเริ่มมีการซื้อสุทธิให้เห็นในช่วงท้ายไตรมาส แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับการเทขายไปกว่าแสนล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา
ในช่วงไตรมาสแรกของปี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้ “น้ำหนัก” ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เข้ามากระทบตลาดมากกว่าปัจจัยทางด้าน “การเมือง” โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ ที่เป็นตัวกำหนดทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นักวิเคราะห์มองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ค่อนข้างแรงและลึกกว่าที่มองเห็น ประกอบกับตลาดหุ้นไทยเริ่ม “ชาชิน” กับปัญหาการเมืองในประเทศที่ “เรื้อรัง” ยาวนานมากว่า 3 ปี นับตั้งแต่การเริ่มชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในช่วงท้ายรัฐบาลทักษิณ จนกระทั่งมีการปฏิวัติในช่วงปี 2549 เป็นต้นมา สถานการณ์การเมืองไทยก็ไม่เคยหยุดนิ่ง
จึงเห็นได้ว่า แม้จะมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมเป็นต้นมา ดัชนีหุ้นไทยไม่ได้ปรับลดลงแต่อย่างใด และในบางวันที่มีการเคลื่อนไหวรุนแรงขึ้น ดัชนีกลับสวนทางปรับขึ้น ทั้งในวันที่ 8 เมษายน ที่กลุ่มเสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่ หุ้นกลับเพิ่มขึ้น 1.01 จุด หรือ 0.23% ขณะที่ในวันที่ 9 เมษายน ที่ม็อบมีการปิดถนนสายสำคัญในเขตเมือง จนทำให้การจราจรติดขัดทั่วกรุง ดัชนีก็ยังปิดบวก 0.50 จุด จนกระทั่งปิดตลาดในวันส่งท้ายสัปดาห์ 10 เมษายน ก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตลาดหุ้นไทยก็ปรับขึ้นถึง 9.81 จุด
ขณะที่สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ก็ยืนยันว่า แม้สถานการณ์การเมืองจะร้อนแรง สมาคมก็ยังไม่ปรับประมาณการตัวเลขดัชนีหุ้นทั้งปี ที่ได้มีการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนมีนาคมไว้ว่า ดัชนีหุ้นไทยในช่วงปลายปี 2552 นี้จะอยู่ที่ระดับ 495 จุด โดยคาดว่าจุดสูงสุดของดัชนีปีนี้จะอยู่ที่ 527 จุด และจุดต่ำสุดจะอยู่ที่ 348 จุด ซึ่งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีจะติดลบ 1.8% คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะแตะจุดต่ำสุดภายในปีนี้ และเริ่มฟื้นตัวปีหน้า
ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ปัจจัยบวกอยู่ที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย รวมถึงโครงการลงทุนและเร่งการเบิกจ่ายภาครัฐ มาตรการส่งเสริมภาคธุรกิจต่างๆ มาตรการทางการเงินและการคลัง เช่น นโยบายอัตราดอกเบี้ย การดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าเพื่อช่วยภาคส่งออก เป็นต้น นอกจากนี้ การแก้ปัญหาวิกฤตและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น จีน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นของบริษัทจดทะเบียน โดยมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงกว่า 6% ต่อปี
ขณะที่มองว่า ปัจจัยลบที่กระทบต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทย คือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต และอาจถดถอยมากกว่าที่คาด ส่งผลให้การส่งออกของไทยดิ่งลง อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่หดตัวลง บริษัทมีการปรับลดปริมาณการผลิต ทำให้แนวโน้มอัตราการว่างงานในประเทศปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่ออุปสงค์และการบริโภคภายในประเทศให้ลดลง รวมถึงประมาณการรายได้ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปรับลดลง แนวโน้มของลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เพิ่มขึ้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เบาบาง และการเทขายหุ้นอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ
แนวทางการแก้ปัญหาที่นักวิเคราะห์ เสนอให้ภาครัฐต้อง “จับตา” และเตรียมมาตรการรับมือมากที่สุด จึงเป็นปัญหาการว่างงาน ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาการส่งออกที่หดตัว และปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวและอาจรุนแรงกว่าที่คาด
โดยนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่นักวิเคราะห์เห็นด้วยมากที่สุด คือ โครงการลงทุนภาครัฐ ในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ และโครงการชลประทาน นโยบายกระตุ้นธุรกิจรายกลุ่ม เช่น มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กระตุ้นการท่องเที่ยว ส่งเสริมการส่งออก และมาตรการเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว ส่วนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่นักวิเคราะห์ “ไม่เห็น” ด้วย คือ นโยบายแจกเงินสองพันบาท ให้กับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีนักวิเคราะห์บางส่วนที่มองว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองและเสถียรภาพรัฐบาลยังเป็น “ปัจจัยลบ” ที่กดดันตลาดหุ้นไทยต่อไปตลอดทั้งปี
สอดคล้องกับความเห็นของ “ภัทรียา เบญจพลชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่มองว่า “ปัญหาทางการเมือง ที่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในขณะนี้ได้ส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน ทำให้มีการชะลอการลงทุน ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป เชื่อว่าจะกระทบกับบรรยากาศการลงทุนอย่างแน่นอน สังเกตได้จากในแต่ละช่วงในอดีตที่เกิดการปฏิวัติและการชุมนุมในปีที่แล้ว นักลงทุนก็มีการชะลอการลงทุน จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของประเทศ”
อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นบทวิเคราะห์และความเห็น ก่อนจะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากนี้ไม่แน่ว่านักลงทุนอาจจะหันมาให้น้ำหนักกับปัจจัยการเมืองมากขึ้นพอๆ กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่ยังไม่เห็นวี่แววการฟื้นตัว
ไม่แน่ว่า การเปิดเทรดวันแรกหลังวันหยุดยาวสงกรานต์ ตลาดหุ้นไทยอาจจะรูดลงแรงผิดปกติ และยิ่งซึมลึกลงไปอีกต่อเนื่องตลอดทั้งปี เมื่อปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองกลับมากลายเป็น “ปัจจัยลบครั้งใหญ่”
จากเหตุการณ์ม็อบแดง “อาละวาด” วันสงกรานต์!!
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์