แม้การแถลงตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคม 2552 และไตรมาสแรก 2552 กำหนดไว้หลังเทศกาลสงกรานต์ แต่ได้รับการยืนยันจากปาก “อลงกรณ์ พลบุตร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่าการส่งออกของไทยในไตรมาสแรก ติดลบ 26% เพราะเดือนมีนาคมการส่งออกยังติดลบในอัตราที่สูงกว่าเดือนมกราคมที่ติดลบ 26.5% และติดลบอีก 11.3% ในเดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ย 2 เดือนติดลบ 19% จากที่มูลค่าเคยส่งได้เดือนละ 1.3-1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เหลือ 1-1.1 หมื่นล้านหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบช่วงเดียวกับปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกแล้วเป็นหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
จากรายงานตัวเลขการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าการส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องมา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 โดยเดือนมกราคมติดลบมากสุดถึง 26.5% ส่วนการนำเข้าก็ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับจากเดือนธันวาคม 2552 โดยเดือนกุมภาพันธ์ติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 40.33% ทำให้การส่งออก 2 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่า 22,231.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 19.18% นำเข้ามูลค่า 17,277.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 38.92% และทำให้ไทยได้ดุลการค้ารวม 4,954 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 1.21 แสนล้านบาท
ขณะที่ตัวเลขสถิติการส่งออกของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เก็บตัวเลขจากการยื่นเอกสารส่งออกของเอกชน ติดลบมากสุดถึง 42% ในเดือนกุมภาพันธ์ แม้จะแตกต่างจากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่ติดลบเพียง 11.3% แต่เมื่อเช็คเป็นรายสินค้า พบว่าการส่งออกในสินค้าทุกหมวดไม่ว่าหมวดเกษตร เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรม และอื่นๆ ต่างติดลบหนักเบาแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 10-50% ยกเว้นทองคำหลังจากมีการนำเข้าสูงมาตั้งแต่ปีก่อนและราคาขยับขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อภาวะราคาน้ำมันลดลงและตลาดหุ้นเริ่มดีขึ้น ก็เริ่มมีการเทขายโดยการส่งออก ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ทำลายสถิติสูงสุด เพิ่มขึ้นถึง 1,148% หรือมูลค่า 1,864 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นตัวช่วยการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ให้การติดลบรวมลดลงเหลือแค่ 11.3% ทั้งที่ควรจะติดลบ 20-30%
เป็นที่รับรู้กันมาตลอดว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง คือการเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐ และลุกลามไปยังยุโรป ข้ามมายังเอเชีย กระทบต่อญี่ปุ่นและจีน โดยสถานการณ์ยืดเยื้อและซึมลึก ลามสู่วิกฤตปลดคนงาน กำลังซื้อหดตัว ซึ่งนั่นเป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่ปัจจัยลึกที่มีผลต่อการส่งออก คือปัญหาขาดความเชื่อมั่นต่อสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ ทำให้สถาบันการเงินแต่ละประเทศ ควบคุมและลดการปล่อยสินเชื่อและปล่อยเครดิตชำระค่าสินค้า มีการยืดการชำระหนี้จาก 15-30 วัน ขยายเป็น 90-120 วัน ทำให้การซื้อขายปกติหยุดชะงักและลดลงทันทีกว่าครึ่ง เป็นชะตากรรมเดียวกันไปทั่วโลก ทำให้ตลาดเก่าลดลง 29.8% โดยอาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐ ลดลง 33.2% 31.3% 28.8% และ 24.8% ตามลำดับ แต่ตลาดใหม่ยังเพิ่มขึ้น 9.3% โดยบางประเทศเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง ได้แก่ ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 49.7% ฮ่องกง เพิ่มขึ้น 274% ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 1.6% สวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 1,083% โดยเพิ่มขึ้นจาการส่งออกทองคำได้เพิ่มขึ้นถึง 5,106%
ในไทยเอง ก็เจอมรสุมความขัดแย้งทางการเมืองกระหน่ำซ้ำการส่งออกให้สะดุดลง จากเหตุการณ์ประท้วงของกลุ่มเสื้อเหลืองถึงขั้นปิดการขนส่งทางเรือและปิดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ จนเกิดการตกค้างของนักท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าไม่ว่าจะเป็นขาออกหรือขาเข้า กว่าจะใช้เวลาคลี่คลายก็เป็นเดือนๆ และเกิดการสูญหายและสูญเสียสินค้าจำนวนมากมายเป็นแสนๆ ล้านบาท และเป็นภาพหลอนมาถึงทุกวันนี้ เพราะตราบใดที่มีภาพการประท้วงต่อไปสู่สายตาชาวโลก ความมั่นใจต่อการสั่งซื้อสินค้าและวิตกต่อการจัดส่งสินค้าไม่ได้ตามกำหนดหรือตามคำสั่งซื้อมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
เมื่อถามถึงแนวโน้มการส่งออกในไตรมาส 2 ของปีนี้ ก็ได้รับการยืนยันว่า “ไทยยังยากลำบากที่จะทำตัวเลขการส่งออกให้ดีขึ้น หรือแม้จะรักษาการเติบโตให้คงที่ นอกจากปัจจัยภายนอกที่ยังไม่นิ่ง ไม่รู้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ ก็ยังเจอปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองภายในประเทศที่ลุกลามมากกว่าที่คาดไว้ กระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย หากปัจจัยต่างๆ อยู่ในภาวะซึมลึก การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจน่าจะได้เห็นในปี 2553”
ซึ่งการประมาณตัวเลขเศรษฐกิจของทุกสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) หรือกลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจและการพัฒนา (ไออีซีดี) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ต่างก็ออกมาระบุว่าปี 2552 เศรษฐกิจโลก การค้าโลกจะถดถอยรุนแรงสุดในรอบ 50 ปี โดยเศรษฐกิจโลกขยายตัวติดลบ 2.7% จากเดิมติดลบไม่เกิน 1% การค้าโลกขยายตัวต่ำกว่า 1-2% และมองเศรษฐกิจไทยติดลบ 4.9% ภายใต้สมมติฐานการส่งออกของไทยในปี 2552 ติดลบ 17% และนำเข้าติดลบ 16.4%
แต่เพราะเหตุใด กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันตัวเลขการขยายตัวการส่งออกของปีนี้ 0-3% ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุดที่พัทยา ซึ่งนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า “แม้การส่งออกในไตรมาส 2 จะยังติดลบและติดลบตัวเลข 2 หลัก แต่เชื่อว่ามาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างหนักในอเมริกาและยุโรป จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าของโลก รวมทั้งไทยด้วย ไม่เกินไตรมาส 3 ของปีนี้ จะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยให้ฟื้นตัวได้ ที่สำคัญเป็นเป้าหมายจิตวิทยาหากพูดในแง่ลบก็จะทำให้หดหู่ เชื่อว่าการไม่ย่อท้อและประคองตัวอีกระยะหนึ่ง สถานการณ์ก็จะดีขึ้น”
นายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความเห็นเรื่องส่งออกของไทยว่า “ อีก 3 เดือนการส่งออกก็ยังติดลบ คงต้องทำใจ ธุรกิจต้องดิ้นรนไปก่อน ความไว้เนื้อเชื่อใจตอนนี้ไม่มี การไม่ปล่อยสินเชื่อและเปิดแอลซีเพื่อการค้าขายหยุดชะงัก การส่งออกจะทำได้อย่างไร เชื่อว่าความเข้มแข็งของเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2553 ผมยังเห็นว่าการบุกตลาดใหม่ยังเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะชดเชยตลาดเก่าที่หดตัว 10-30% ไม่ได้หมดก็ตาม และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่จะสร้างความเข้มแข็งต่อธุรกิจให้ยั่งยืนในอนาคต”
ล่าสุด การประมาณการของหอการค้าไทย ที่ได้สำรวจกลุ่มนักธุรกิจทั่วประเทศ ระบุว่า ธุรกิจยังมีความหวังต่อการส่งออกที่ดีขึ้นหลังไตรมาส 2 โดยไตรมาส 2 ยังติดลบ 15-20% จากไตรมาส 1 ติดลบ 25-30% และไตรมาส 3 ติดลบ 5% ส่วนไตรมาส 4 กลับมาเป็นบวก 5-10% ทำให้ทั้งปีติดลบ 15% โดยความหวังการส่งออกจะอยู่ในกลุ่มอาหาร เกษตร และเบ็ดเตล็ดทั่วไป ขณะที่อุตสาหกรรมหนักโดยเฉพาะธุรกิจที่ลงทุนโดยต่างชาติจะเจอวิกฤตอีกนานและติดลบต่อเนื่องทั้งปี 10-30% ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของบริษัทแม่
เมื่อสอบถามภาคเอกชน ตัวหลักของภาคการเกษตร อย่างนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกไตรมาส 2 ยังเป็นขาลง เทียบกับไตรมาส 1 เพราะยังไม่เห็นจุดต่ำสุด และมาตรการที่แต่ละประเทศใช้ในการแก้วิกฤตภายในประเทศยังไม่เห็นผลต่อภาพรวม ความผันผวนของสถานการณ์ยังสูง ทั้งตลาดหุ้น ราคาน้ำมัน ค่าเงิน และความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่พัวพันกระทบต่อการส่งออกลดลงทั้งสิ้น
สำหรับการส่งออกข้าวไตรมาส 2 โอกาสลดลงจากไตรมาส 1 อีก 10-15% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะติดลบ 30-40% เฉลี่ยการส่งออกต่อเดือนไม่เกิน 5-6 แสนตัน จากเฉลี่ยไตรมาสแรกเดือนละกว่า 6 แสนตัน และยังไม่หวังว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้นมากนัก เพราะธุรกิจยังวิตกต่อปัญหาการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงหนักที่กระทบต่อภาพรวมและภาพลักษณ์ต่อการเจรจาการซื้อสินค้าไทย “ปกติตอนนี้กำลังซื้อเพื่อการส่งมอบในไตรมาส 3 ต้องเริ่มเข้ามาแล้ว แต่ปีนี้ยังไม่เห็น”
เมื่อถามภาคอุตสาหกรรมไม่ว่ายานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ระบุว่าคำสั่งซื้อกว่าจะกลับมาเท่าเดิมคงใช้เวลานานนับปี และยังมีโอกาสติดลบ 10-30% ตลอดทั้งปี โดยนายวัลลภ วิตนากร เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า อาหาร เกษตร และสิ่งทอ จะยังเป็นอุตสาหกรรมหนักที่ส่งออกได้ดี และเป็นรายได้หลักช่วยตัวเลขการส่งออกรวมไม่แย่ลงมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกสิ่งทอยังเจอการแข่งขันที่รุนแรง และภาพรวมติดลบ 7-10%
“หากไตรมาส 3 ส่งออกสิ่งทอไม่ดีขึ้น ภาพรวมการส่งออกไทยก็จะย่ำแย่ เพราะอาหาร สิ่งทอ เป็นดัชนีชี้ให้เห็นว่าการส่งออกฟื้นได้จริงหรือไม่ ที่น่าวิตก และรัฐบาลก็ไม่เคยออกมาแสดงความชัดเจนว่าจะดูแลอย่างไร คือการนำเข้าติดลบสูงถึง 40% สะท้อนถึงการลงทุนและส่งออกที่จะถอยหลังไปอีก 4-5 เดือน การนำเข้าติดลบไม่ใช่แค่น้ำมันหรือสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสินค้าทุนและวัตถุดิบเพื่อการผลิต ติดลบหนักๆ อย่างนี้ถือว่าอาการภาคลงทุนและอนาคตการส่งออกจะไม่ดีอย่างมากในระยะกลาง”
และทันทีที่เกิดเสียงปืน เกิดการจลาจลจากน้ำมือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ประกาศเรียกร้องประชาธิปไตย จนรัฐบาลต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง ใช้กองกำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ที่ภาพในกรุงเทพฯเผยแพร่ไปทั่วโลกไม่ต่างจากสงครามในอิรัก แทนที่จะเห็นภาพสาดน้ำสงกรานต์อย่างสนุกสนาน ภาคเอกชนทุกกลุ่มสินค้าบอกได้คำเดียวว่า
นี่คือวิกฤตของผู้ส่งออกอย่างแท้จริง ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์