นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เปิดเผยว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการระบายข้าวโพดในสต๊อคของรัฐบาล จำนวน 4.5 แสนตัน จากทั้งหมด 8 แสนตัน ให้กับผู้ส่งออก ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการตลาดที่มีนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เสนอ จนทำให้ต้องสั่งระงับการประมูลไว้ก่อน มาจากปัจจัย 2 ประการ คือ 1.ราคาการประมูลที่ต่ำจนเกินไป 2.วิธีการทำงานของคณะอนุกรรมการที่อ้างมติของรัฐบาลเก่า มาเป็นเหตุผลในการเปิดประมูลขายข้าวโพด ทั้งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ มีตนเป็นประธาน ทำหน้าที่บริหารจัดการข้าวโพดทั้งระบบแล้ว ดังนั้น การดำเนินการควรยึดการตัดสินใจและมติของคณะกรรมการชุดปัจจุบัน
“ผมไม่เห็นด้วยกับกระทรวงพาณิชย์มาก โดยเฉพาะการอ้างมติของรัฐบาลชุดเก่า ผมว่ามันเป็นการทำงานแบบคาวบอยมากเกินไป ส่วนที่มีข่าวว่าผมถูกล็อบบี้จากบริษัทเอกชนบางกลุ่มให้ล้มการประมูล ใครอยากคิดอยากพูดอะไรก็ตามใจ ผมไม่แคร์ เพราะรู้ตัวดีว่าทำอะไรอยู่”
นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งต่อไป จะเสนอเรื่องการระบายข้าวโพดว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากการประมูลสินค้าเกษตรในสต๊อคของรัฐบาล เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลจะต้องขาดทุน และต้องหาเงินมาชดใช้ซึ่งเป็นเงินจากภาษีประชาชน และหนีไม่พ้นที่ครม.ต้องรับผิดชอบ “ผมคิดว่านับจากนี้ หากจะมีการระบายสินค้าที่ขาดทุนก็ควรต้องเสนอให้ ครม.ตัดสินใจ”
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวถึงรูปแบบการระบายสินค้าว่า ส่วนตัวมองว่าการซื้อขายระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจีทูจี เหมาะสมเพราะสามารถป้องกันปัญหาการวิ่งเต้นของบริษัทเอกชนได้ ซึ่งขณะนี้กำลังรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะเข้าข่ายมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากติดขัด การทำสัญญาซื้อขายระหว่างรัฐบาลกับบริษัทเอกชนในต่างประเทศ หรือจีทูพี ก็น่าจะพอรับได้ เพราะอย่างน้อยช่วยระบายสินค้าออกนอกประเทศ แต่หากเปิดประมูลให้ผู้ส่งออกภายในประเทศ จะมีความเสี่ยงสูงมากที่สินต้าจะวนกลับมาอยู่ในประเทศ
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์