แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ภายในประเทศ

การประชุมสุดยอดอาเซียนกลับมาอีกแล้ว(3) ( ข่าวทั่วไป )

เมื่อวานนี้เล่าให้ท่านผู้อ่านทราบถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกหนึ่งกับจีนและญี่ปุ่น วันนี้ขอต่ออีกสองประเทศที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี และการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย

3.การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ผู้นำจะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี และการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองโอกาสครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย ที่เกาะเจจู 1-2 มิถุนายนนี้ ซึ่งไทยจะเป็นประธานการประชุมร่วมกับเกาหลี

เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในฐานะประธานอาเซียนก็ได้เข้าร่วมในพิธีเปิดศูนย์อาเซียน-เกาหลีที่กรุงโซล เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน

เกาหลีเริ่มมีความสัมพันธ์กับอาเซียนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และได้รับสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาเต็มตัวของอาเซียนในปี 2534 เกาหลีได้ภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ลงนามในปฏิญญาร่วมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ครอบคลุมรอบด้านเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547

ในปี 2548 อาเซียนและเกาหลีได้ลงนามในความตกลง ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าในปี 2549 และความตกลงว่าด้วยการค้าบริการในปี 2550 แล้ว สำหรับความตกลงว่าด้วยการเปิดเสรีการลงทุนกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาและหวังว่าจะสามารถสรุปผลได้ในโอกาสแรก

ปัจจุบันมูลค่าการค้าอาเซียน-เกาหลี ประมาณ 7.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 และตลาดส่งออกอันดับที่ 4 ของเกาหลี

เกาหลียังได้จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยสมทบเงินเข้ากองทุนดังกล่าวปีละ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน อาเซียนและเกาหลีมีความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง การท่องเที่ยว การเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านวิชาการ การรักษาสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรม และการต่อต้านการก่อการร้าย ในด้านการลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียน เกาหลีสนับสนุนงบประมาณจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2546-2550 ให้แก่โครงการภายใต้ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน

ไทยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีในหลายด้าน โดยไทยมีส่วนในการทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างเส้นทางรถไฟสายสิงค์โปร์-คุนหมิงช่วงไทย-พม่า และการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในการใช้เทคโนโลยีไร้สายเพื่อลดช่องว่างดิจิตอล ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเกาหลี

4.การประชุมสุดยอดอาเซียนกับอินเดีย สองฝ่ายเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเมื่อ 17 ปีที่แล้ว และได้พัฒนาขึ้นสู่ระดับการประชุมสุดยอดครั้งแรก เมื่อปี 2545 ความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย เป็นความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนอย่างรอบด้าน โดยได้จัดตั้งกองทุน ASEAN-India Fund เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน

อินเดียได้เข้าร่วม ASEAN Regional Forum (ARF) ตั้งแต่ปี 2539 โดยมีบทบาทในเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล และได้ภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) เมื่อปี 2546 และรับรองแถลงการณ์ร่วมกับอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากลในปีเดียวกัน

อาเซียนและอินเดียได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน เมื่อปี 2546 ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายสรุปการเจรจาความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าได้เมื่อสิงหาคม 2551 โดยกำลังเร่งแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคเรื่องระยะเวลาการลดภาษีซึ่งคาดว่าจะตกลงกันได้ในเร็วๆ นี้ และน่าจะลงนามความตกลงด้านการค้าสินค้าได้ภายในปี 2552 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทย อาเซียนจะใช้ความตกลงดังกล่าวเป็นเครื่องมือเปิดตลาดขนาดใหญ่ของอินเดีย และเปิดประตูการค้าจากอาเซียนสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ ขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายเร่งเจรจาความตกลงด้านบริการและการลงทุนไปพร้อมกันด้วย และกำลังขยายความร่วมมือด้านการคมนาคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เภสัชกรรมและการแพทย์

ปัจจุบันอาเซียน-อินเดีย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนได้ดุลการค้าประมาณ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และตั้งเป้าหมายจะขยายมูลค่าการค้าเป็น 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553

ในด้านการพัฒนา อาเซียนเน้นความร่วมมือในสาขาที่อินเดียมีศักยภาพ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี IT เภสัชกรรมและการแพทย์ มีจัดตั้งกองทุน ASEAN-India Science & Technology Fund เพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งกองทุน ASEAN-India Green Fund เพื่อการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค อินเดียสนับสนุนการลดช่องว่างทางการพัฒนาในอาเซียนโดยตั้งศูนย์ฝึกอบรมภาษาอังกฤษและศูนย์ฝึกอบรมผู้ประกอบการ และศูนย์ฝึกอบรมด้าน IT ในประเทศ CLMV อีกทั้งมีโครงการเพื่อส่งเสริมการติดต่อระหว่างประชาชน อาทิ นักศึกษา ผู้สื่อข่าว นักการทูต และสมาชิกรัฐสภา

ไทยสนับสนุนและผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย เพื่อขยายโอกาสการค้าแก่สินค้าไทยให้เข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ของอินเดียได้มากขึ้นนอกเหนือจากสินค้าภายใต้ Early Harvest Scheme จำนวน 82 รายการในกรอบเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย ไทยผลักดันการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม เพื่อรองรับการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวกับอินเดีย อาเซียนและเอเชียใต้ รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งสภาธุรกิจอาเซียน-อินเดีย เพื่อความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนสองฝ่ายในการส่งเสริมธุรกิจการค้าระหว่างกันให้กว้างขวางและเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดียที่พัทยา คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างภูมิภาค ความร่วมมือเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย ความร่วมมือในโครงการด้านต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินการภายใต้กองทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอินเดียออกเงินตั้งต้น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การดำเนินการภายใต้กองทุน ASEAN-India Green Fund เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในการส่งเสริมการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคซึ่งอินเดียออกเงินตั้งต้น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้าน IT การพัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์และเภสัชกรรม การส่งเสริมติดต่อระหว่างประชาชน นอกจากนั้น คาดว่าจะมีการหารือถึงปัญหาท้าทายต่างๆ ในภูมิภาค และระดับโลก โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกด้วย

พรุ่งนี้กลับมาต่อ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกหรือที่เรียกเล่นๆ ว่าอาเซียนบวกหก

ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215