นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า วันที่ 9 เมษายน กรมจัดสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) การตรวจสอบคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยทางกายภาพ ที่อาคารปฏิบัติการ 5 ชั้น กรมการค้าต่างประเทศ โดยจัดทำหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่มาตรฐานสินค้า และเซอร์เวย์เยอร์ ให้มีความรู้และทักษะในการตรวจสอบคุณภาพข้าวหอมมะลิ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวหอมมะลิไทยที่ไม่ได้คุณภาพหลุดออกสู่ท้องตลาดและส่งออกไปขายต่างประเทศ
นางอภิรดีกล่าวว่า ปัจจุบันระดับราคาข้าวหอมมะลิไทยส่งออกสูงมาก ทำให้มีการผสมปลอมปนข้าวพันธุ์อื่น นอกเหนือจากพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 โดยเฉพาะเจือปนพันธุ์ข้าวหอมปทุมธานี 1 ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับข้าวหอมมะลิไทยมาก ขณะที่ผู้ที่ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่มีประสบการณ์มีจำนวนน้อย และมีผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้ารายใหม่เพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการเพิ่มพูนความรู้และฝึกอบรมแนวทางในการตรวจสอบคุณภาพที่ถูกต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน
สำหรับหัวข้อในการฝึกอบรม ได้แก่ 1.ระบบ QC (Quality Control) ของผู้ส่งออก 2.ปัญหาและอุปสรรค เกี่ยวกับคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยในปัจจุบัน คือ การรับซื้อข้าวหอมมะลิไทยจากแหล่งผลิตต้นทาง และการส่งออกและตลาดต่างประเทศ 3.การตรวจสอบคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยเชิงปฏิบัติการ โดยวิธีการตรวจพินิจ พิสูจน์กลิ่น และการชิม การต้ม และเทคนิคการย้อมสี และอื่นๆ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า วันที่ 7 เมษายน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามติที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ)
เกี่ยวกับโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร สำหรับปีการผลิต 2551/52 ที่เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณ ปี 2553 เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อชดเชยให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะการค้ำประกันเงินกู้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 110,000 ล้านบาท จะใช้รับจำนำผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรรวม 8,725.62 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายของ ธ.ก.ส. 3,523.08 ล้านบาท องค์การคลังสินค้า (อคส.) 4,993.06 ล้านบาท องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) 179.48 ล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 30 ล้านบาท
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์