ในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกา ประชาคมยุโรป และญี่ปุ่น อันมีผลให้การส่งออกของทุกประเทศในเอเชียลดลงอย่างรุนแรง และกระทบถึงการขยายตัวของทุกประเทศในเอเชีย
ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ การส่งออกของประเทศไทยยังลดลงในอัตราสูงต่อไป และผู้คนเริ่มกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกและการจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกเป็นอย่างมาก จากการติดตามข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ในระยะหลังนี้ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่น่าจะทำให้เหตุการณ์พลิกกลับมาดีได้บ้าง ซึ่งใคร่ขอนำเสนอเป็นรายประเทศดังนี้
ประเทศที่เศรษฐกิจพลิกกลับขึ้นมาขยายตัวได้เร็วที่สุดคือประเทศจีน
ตารางชี้ให้เห็นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (PMI) ได้เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า ยอดขายรถยนต์ ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดขายอสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มสูงขึ้นถึง 2 ล้านคัน การปล่อยสินเชื่อรายใหม่ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน และเพิ่มสูงขึ้นถึง 24% ในเดือนกุมภาพันธ์ สิ่งที่ยังลดลงอยู่อย่างเดียวคือ การส่งออก ทั้งนี้เพราะประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวในระยะสองเดือนแรกนี้ เหตุการณ์นี้บ่งชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของยอดขายสินค้าเป็นการเพิ่มจากความต้องการซื้อภายในประเทศเป็นสำคัญ อีกนัยหนึ่ง การพลิกฟื้นของเศรษฐกิจจีนครั้งนี้ เป็นการพลิกฟื้นของเศรษฐกิจภายในของจีน
การพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจของจีนได้มีส่วนทำให้การส่งออกของเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งลดลงมาโดยตลอด เริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ (เทียบกับเดือนมกราคม) และมีส่วนช่วยให้การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวดีขึ้นกว่าเดือนมกราคมด้วย
ประเทศที่เริ่มมีเครื่องบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอาจจะพลิกกลับมาได้ในระยะไม่นาน คือ สหรัฐอเมริกา
ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคในสหรัฐอเมริกาเริ่มเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน และลดลงเล็กน้อยในเดือนธันวาคม ครั้นมกราคมกลับมาเพิ่มขึ้นอีกและต่อเนื่องถึงเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ สินค้าคงคลังที่เคยมีเหลืออยู่มากเริ่มลดลงบ้างแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ จนมีผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมกราคมได้เพิ่มขึ้นอีก 3.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ ยอดขายบ้านในสหรัฐและยอดการสร้างบ้านใหม่ได้เพิ่มสูงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์เช่นกัน และยอดขายรถยนต์ซึ่งลดลงในเดือนกุมภาพันธ์กลับมาเพิ่มขึ้นอีกในเดือนมีนาคม ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การผลิตที่ทยอยลดลงมาโดยตลอด น่าจะถึงจุดต่ำสุด และอาจเริ่มมีการผลิตเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ และการจ้างงานในสหรัฐซึ่งลดลงมาตลอดก็น่าจะใกล้จุดต่ำสุด อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของสหรัฐซึ่งหดตัวถึง 5.5% ในไตรมาสก่อน ก็คงจะหดตัวต่อไปอีกในไตรมาสแรกนี้ แต่จะหดตัวในอัตราที่ลดลง
สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ คือ การที่สถาบันการเงินยังไม่ปล่อยสินเชื่อเท่าใดนัก การบริโภคต้องอาศัยรายได้ที่ได้รับจริง จึงไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว หากสถาบันการเงินพร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อแก่ผู้บริโภคเมื่อใด เศรษฐกิจสหรัฐก็จะมีโอกาสขยายตัวได้เร็วขึ้นอีกครั้งหนึ่ง บังเอิญเมื่อปลายเดือนมีนาคม รัฐมนตรีคลังของสหรัฐได้ประกาศมาตรการใหม่สำหรับแก้ปัญหาสถาบันการเงิน โดยจะช่วยจัดหาเงินให้นักลงทุนเอกชนซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (หรือหนี้ที่มีปัญหา) ออกไปจากสถาบันการเงิน และเป็นที่น่าเชื่อว่ามาตรการนี้จะดึงดูดนักลงทุนให?เข้ามาช่วยซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกไปจากสถาบันการเงินค่อนข้างมาก สถาบันการเงินก็จะอยู่ในสภาพที่ขยายการปล่อยสินเชื่อได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐพลิกฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเร็วช้าเพียงใดเป็นเรื่องที่ติดตามต่อไป
สำหรับประเทศผู้ซื้อรายใหญ่อีก 2 แห่ง คือ ประชาคมยุโรปและญี่ปุ่นนั้น ยังไม่มีข่าวดีมากนัก โดยความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ (PMI) ในยุโรปยังลดลงตลอด เพิ่งจะเริ่มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือ บวก 1.4% ในเดือนมีนาคม แต่ยอดการขายสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงโดยตลอด เศรษฐกิจยุโรปในไตรมาสแรกคงจะหดตัวลงต่อไปอีกในไตรมาสนี้ มีข่าวดีเล็กน้อยที่ยอดขายรถยนต์ในยุโรปตะวันตกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นที่เชื่อกันว่า ถ้าหากการบริโภคในสหรัฐซึ่งเริ่มเพิ่มขึ้นแล้วยังคงขยายตัวต่อไป และหากการผลิตในสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นดังที่คาดคะเนข้างต้น ก็จะมีผลให้เศรษฐกิจของยุโรปซึ่งส่งออกไปสหรัฐเป็นสำคัญมีโอกาสเพิ่มการผลิตและเริ่มฟื้นตัวได้ แต่คงจะต้องเป็นเวลาหลังจากที่เศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวแล้วหลายเดือน
สำหรับประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะพลิกฟื้นกลับได้เลย ยอดการซื้อสินค้าทุกชนิดลดลงอย่างต่อเนื่องจนเชื่อว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งหดตัวถึง 12.7% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว จะหดตัวเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาสแรกนี้ ญี่ปุ่นคงต้องรอให้ทั้งสหรัฐและประชาคมยุโรปฟื้นตัวก่อน เศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งพึ่งพาตลาดใหญ่ทั้ง 2 เป็นสำคัญจึงจะฟื้นตัวได้
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขงานทั้งโลกแล้ว แรงส่งที่เป็นบวกเริ่มมีผลมากขึ้น
ยอดการสำรวจความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ (PMI) โดยรวมทั้งโลกชี้ให้เห็นว่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมา 2 เดือนติดต่อกันแล้ว ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ทั้งโลก ซึ่งลดลงมาตลอด เริ่มคงที่ในเดือนมกราคมและเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนยอดการขายสินค้าอุปโภคบริโภคของโลกซึ่งลดลงจนถึงไตรมาสที่ 4 นั้น ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ แม้ว่าขณะนี้ยอดการผลิตและการจ้างงานยังลดลงอยู่ต่อไป เชื่อว่าไม่นานนักการผลิตที่ลดลงและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ยอดสินค้าคงเหลือลดน้อยลงจนถึงจุดที่การผลิตจะเพิ่มขึ้นได้ตามปกติต่อไป ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นภายในไตรมาสที่ 2 นี้
ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีการส่งออกไปยังประเทศจีนมากจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ก่อน ตามมาด้วยประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปยังประชาคมยุโรปและญี่ปุ่นนั้น คงต้องใช้เวลานานพอควร ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐประมาณ 12.6% ส่งออกยุโรปและญี่ปุ่น ใกล้เคียงกันที่ 11-12% ขณะที่มีการส่งออกไปจีนเพียง 9.6% ซึ่งถือว่ายังน้อย ย่อมจะไม่ฟื้นได้เร็วเท่ากับประเทศอย่างไต้หวันและสิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนการส่งออกไปจีนสูงกว่า
โอกาสที่การส่งออกไปจีนของไทยจะเพิ่มสัดส่วนเป็นไปได้มาก เนื่องจากความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีขึ้น และการปรับตัวของผู้ส่งออกในภาคเอกชนที่ปรับเข้าหาตลาดของจีนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็ยังมีน้ำหนักที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและของไทย แต่คงต้องรอดูว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะค่อยๆ ฟื้นตัวในเวลาไม่นานนักจากนี้หรือไม่
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป!!
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์