เด็กที่อยู่บนดอยไม่ค่อยมีไฟฟ้าใช้กัน ซึ่งลำบากต่อการทบทวนบทเรียนของเด็ก แต่ในทางกลับกัน คนเมืองมีแต่ความสะดวกสบาย
หากคนเหล่านั้นเสียสละสักนิดที่จะไม่ฟุ่มเฟือยพลังงาน เด็กบนดอยก็คงมีไฟฟ้าใช้บ้างนี้คือส่วนหนึ่งของคำบรรยายภาพจากประสบการณ์ของน้องทราย หรือน.ส.ชนัฎดา เมืองนำโชค จากโรงเรียนดาราวิทยาลัย ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า รุ่นที่ 30 ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
น้องทรายรู้สึกตื่นเต้นมาก เมื่อรู้ว่าตนผ่านการคัดเลือกจากผู้ที่ส่งประกวดภาพกว่า 700 ชีวิต ซึ่งตนเป็นหนึ่งใน 70 คนที่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้ เธอหวังว่าโครงการนี้จะให้ประโยชน์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดของตนเอง ตามหัวข้อเรื่อง “ไฟฟ้า...พลังงานเพื่อชีวิต” ที่เธอส่งประกวดได้ไม่มากก็น้อย
โครงการค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่าได้จัดฝึกอบรมเยาวชนมาตั้งแต่ปี 2540 นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป หรือพี่แฉ่งของน้องๆ บอกว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดจากโครงการป่ารักษ์น้ำที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เมื่อปี 2539 และได้มีการต่อยอดโครงการตั้งแต่นั้นมา เพราะเห็นว่าป่าต้นน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันป้องกันแก้ไขไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายอย่างไร้คุณค่า โดยเฉพาะป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งจะก่อให้เกิดแม่น้ำสายต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิต
ดังนั้น การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำที่จะก่อให้เกิดให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและยั่งยืน จะต้องมุ่งเน้นที่การปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของธรรมชาติทั้งระบบ พี่แฉ่งยังเสริมอีกว่า สิ่งสำคัญของการอนุรักษ์คือ จะต้องปลูกจิตสำนึกตั้งแต่เยาวชน เพื่อที่จะได้เป็นกำลังสำคัญ และมีบทบาทต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อไป
น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ โลกและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์ การนำทางด้วยดวงอาทิตย์และดวงดาว การดำรงชีวิตในป่า ตลอดจนการจัดการไฟป่าเพื่อลดภาวะโลกร้อน และส่วนภาคปฏิบัติ น้องๆ ก็ได้ลงมือทำกันอย่างสนุกสนานผ่านกิจกรรมต่างๆ ระหว่างเส้นทางการเดินป่า 2 วัน 1 คืน โดยมีครูธรรมชาติคือ ต้นไม้ สัตว์ป่า แมลง สายน้ำ หิน และสิ่งมีชีวิตต่างๆ เป็นตัวอย่างให้กับน้องๆ
วัลยชาติ ศิลป์แห่งป่า ศาสตร์แห่งความอยู่รอด เป็นกิจกรรมหนึ่งระหว่างเส้นทางเดินป่าที่น้องๆ จะได้เรียนรู้ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างเจ้าเถาวัลย์ที่ไม่มีแม้แกนกลางลำต้น ก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยการอาศัยการพันเกี่ยวต้นไม้อื่น อีกทั้งตัวของมันเองก็ยังเอื้อประโยชน์ให้สรรพสัตว์นานาพันธุ์
“ปิดตาให้สนิทนะน้อง แล้วค่อยๆ สัมผัสเพื่อนต้นไม้ข้างหน้าเรา” เสียงกระซิบของพี่เลี้ยงที่บอกให้น้องๆ ได้ลองทำความรู้จักกับต้นไม้ ผ่านกิจกรรม ต้นไม้เอย เพื่อนของเรา น้องบางคนพยายามโอบกอด แต่ก็ไม่มิด บางคนแตะไปตามลำต้น บางคนใช้หูแนบฟังเสียง เสียงบรรยายจากพี่เลี้ยงดังเป็นระยะถึงคุณประโยชน์ของต้นไม้ที่มีต่อมนุษย์เรา ทำให้น้องๆ เข้าใจถึงความเป็นมาเป็นไปของต้นไม้มากขึ้น
นักสืบสายน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ ที่น้องๆ ได้ศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ในแหล่งน้ำ แผ่นพับขนาดใหญ่แสดงลักษณะของสัตว์น้ำถูกกางออก พร้อมตัวอย่างสัตว์น้ำที่น้องๆ หามาได้จากลำธาร ทุกคนต่างสุมหัวเปรียบเทียบในคู่มือ และคิดคำนวณคะแนน เพื่อหาความสะอาดของแหล่งน้ำ บางคนถึงกับตื่นเต้นเมื่อเห็นสัตว์น้ำหน้าตาประหลาด สามารถบอกความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เกิดระหว่างการเดินป่า น้องๆ ต่างได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำ อันเป็นต้นกำเนิดของทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และสายน้ำ แต่สิ่งที่ช่วยเติมสีสันให้การเดินทางครั้งนี้มีชีวิตชีวาก็คงเป็นการเล่าเรื่องต่างๆ ผ่านประสบการณ์ของพี่ๆ พนักงานพิทักษ์ป่าอย่างลุงตั๋น มณีโต หนึ่งในพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ด้านการป้องกันและปราบปราม บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์กว่า 15 ปี ก่อนที่จะย้ายมาประจำอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุย
ลุงตั๋น เล่าถึงประสบการณ์อย่างเปิดใจว่า ตนรู้สึกเสียใจมากกับเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อน ขณะที่ตนลาดตระเวนบริเวณดอยอินทนนท์ แล้วถูกกลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้ยิงกระสุนเข้าที่ดวงตา “ลุงรู้สึกเสียใจมากที่สุด ตอนที่หมอผ่าตาบอกว่าได้ควักตาลุงออก ตอนนั้นความรู้สึกมันแย่มากๆ เจ็บปวด เริ่มคิดมาก คิดว่าเรายอมทำทุกอย่างเพื่อป้องกันป่าอย่างเต็มที่แล้ว ได้ดูแลอย่างดี แต่สุดท้ายตัวเองก็ต้องมาเป็นคนพิการ” ลุงตั๋นกล่าวพร้อมสีหน้าที่เศร้าอย่างเห็นได้ชัด
แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ไม่ได้ทำให้ลุงตั๋นหมดพลังใจที่จะรักษาผืนป่าดอยอินทนนท์ แต่ยิ่งทำให้ลุงตั๋นมีความมุ่งมั่นและคิดที่จะแก้ปัญหาต่อไป จนในที่สุดลุงตั๋นคิดว่าการลาดตระเวนเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ เพราะถึงแม้จะกวาดล้างอย่างไรก็ยังมีการลักลอบตัดไม้และฆ่าสัตว์ป่าอยู่ดี ดังนั้นการเข้ามาทำงานในลักษณะเข้าหามวลชน ให้ความรู้และความเข้าใจเรื่องป่าไม้ เป็นหนทางที่ยั่งยืนและได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ลุงตั๋นได้เข้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้ความรู้กับคนในชุมชน และทำค่ายเยาวชนในครั้งนี้
ขณะที่ลุงตั๋นกำลังเล่าประสบการณ์ด้านการดูแลป่าไม้ เสียงเพลงที่แว่วมาตามสายลมของน้องๆ ที่ร่วมร้องเพลง “แบ่งปัน” ก็ลอยมาจากลานกลางป่า พอจับใจความได้ถึงการแสดงความห่วงใยในเพื่อนมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งก็ได้ก่อตัวขึ้นตลอด 4 คืน 5 วัน ที่ผ่านมา “จับมือเราไว้นะ แล้วก็ค่อยๆ ก้าวตามมา ส่งเต็นท์มาให้เราก่อนเลย จะได้กระโดดข้ามมาง่ายๆ” สำเนียงแปร่งๆ ของน้องเอื้อย สาวใต้ หรือน.ส.วิภารัตน์ ประสิทธิ์นุ้ย จากโรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา ที่บอกกับเพื่อนภาคเหนือของเธอขณะกำลังก้าวข้ามลำน้ำ
น้องเอื้อย บอกว่า การที่เธอได้เข้ามาทำกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่เธอจะได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ และได้แลกเปลี่ยนความคิด วัฒนธรรมต่างๆ เช่น เรื่องของภาษา และอาหารการกิน นอกจากนั้นเธอยังรู้สึกประทับใจในไมตรีของเพื่อนๆ ชาวค่ายทุกคน รวมทั้งพี่เลี้ยงที่คอยดูแลเป็นอย่างดี และนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่เธอจะบันทึกไว้ในความทรงจำ
ขณะที่น้องกุ๊ก หรือน.ส.ณัฐกานต์ นำศรีสกุลรัตน์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็มีความรู้สึกไม่แตกต่างกันถึงความมีน้ำใจของเพื่อนๆ ความสามัคคีและมิตรภาพที่เกิดขึ้น แต่เหนือสิ่งใดคือ ความรู้ที่เธอได้รับและความเข้าใจในทรัพยากรธรรมชาติ
“พอได้เข้าป่า ได้เข้าใจถึงธรรมชาติอย่างแท้จริงว่า คนก็เป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของโลก บางทีเราอาจจะสำคัญตัวผิด คิดว่าเราเป็นตัวกำหนดทุกสรรพสิ่งได้ เป็นตัวสำคัญที่โลกจะขาดไม่ได้ แต่ความจริงแล้ว ทั้งคน สัตว์ ป่าไม้ และธรรมชาติต่างๆ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอยู่เสมอ” นี้คือเสียงสะท้อนเล็กๆ ของน้องกุ๊ก แต่ทำให้เราทุกคนต้องกลับไปคิดทบทวน ว่าวันนี้เราสำคัญตัวผิดไปหรือไม่ ต้นไม้ สัตว์ป่า สายน้ำ อากาศบริสุทธิ์ ถ้าขาดมนุษย์ไป สิ่งเหล่านี้ก็ยังดำรงอยู่ได้ แต่ถ้าวันใดมนุษย์ไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติเหล่านี้แล้ว เรา...จะอยู่กันได้อย่างไร
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์