“เอสเอ็มอีแบงก์”เล็งขอคลังเพิ่มทุนอีก 5 พันล้านภายในปีนี้ โอดเงินทุนใกล้ชนเพดาน ชงเรื่องถึงมือ”กรณ์”หวังต่อยอดช่วยเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง รอช่วยเหลืออีก 2.4 ล้านราย พร้อมเสิร์ฟเมนูกู้วิกฤต สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หวังชะลอเลิกจ้าง ตั้งเป้าสางหนี้เสียปีนี้ 5 พันล้าน
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลธนาคารเพื่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ขณะนี้เอสเอ็มอีแบงก์ได้เสนอแผนการเพิ่มทุนอีก 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2552 ให้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกำลังต้องการความช่วยเหลืออีกถึง 2.4 ล้านราย
“เราได้นำเรื่องนี้ไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว ว่าเอสเอ็มอีแบงก์จำเป็นจะต้องได้รับการเพิ่มทุนให้มีเงินเพียงพอที่จะสนับสนุนแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากตอนนี้เงินที่มีอยู่หากปล่อยสินเชื่อไปจนครบทุกโครงการ ก็จะทำให้ช่องว่างระหว่างเงินที่ปล่อยไปกับเงินทุนที่มีอยู่ปริ่มๆ ใกล้กับเพดานแล้ว ดังนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ และหากจะดำเนินการจะต้องใช้แหล่งเงินจากที่ใด ซึ่งผมคิดว่าการเพิ่มทุนเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องทำให้ได้ภายในปี 2552” นายประดิษฐ์กล่าว
นายประดิษฐ์กล่าวว่า ขณะนี้เอสเอ็มอีแบงก์ได้ออกเมนูกู้วิกฤตเอสเอ็มอี โดยมีสินเชื่อโครงการพิเศษ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน อาทิ โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี สินเชื่อเอสเอ็มอีพาวเวอร์ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (เอ็มแอลอาร์) 7% ต่อปี สินเชื่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว อัตราดอกเบี้ย 1-2 ปีแรก เอ็มแอลอาร์ลบ โดยคาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับภาคแรงงาน การท่องเที่ยว และเอสเอ็มอีพาวเวอร์ได้ประมาณ 16,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันเอสเอ็มอีแบงก์มีทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นทุนที่ชำระแล้ว 9,100 ล้านบาท
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า เมนูกู้วิกฤตเอสเอ็มอี ผ่านสินเชื่อชะลอเลิกจ้างงาน 6,000 ล้านบาท โดยจะปล่อยให้กับผู้ประกอบการประมาณ 600 บริษัท รายละ 10 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถชะลอการเลิกจ้างงานได้ 12,000 คน ส่วนอีก 10,000 ล้านบาท จะเป็นการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้เอสเอ็มอีพาวเวอร์ ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแบงก์คาดว่าในปี 2552 จะสามารถล้างหนี้เสียออกจากพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่ 20,000 ล้านบาท ได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท ด้วยการแยกหนี้ดีและหนี้เสียออกจากกันโดยเด็ดขาด
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์