“ชูเกียรติ”ฉุนมาตรการพาณิชย์ไร้ผล ปัญหาลักลอบนำเข้าข้าวเพื่อนบ้านระบาดถึงข้าวนึ่ง ผู้ส่งออกร้องเรียนมีข้าวปลอมปนเป็นข้าวเมล็ดสั้น ลูกค้าบ่นข้าวไทยคุณภาพต่ำลง เร่งหาทางแก้ก่อนตลาดส่งออกข้าวนึ่งหลุดมือ เจ้าหน้าที่รายงาน “พรทิวา”พบข้อสงสัยตัวเลขรับจำนำในจังหวัดติดชายแดนกัมพูชาสูงเกินปกติ โครงการรับจำนำมันส่งกลิ่นทุจริต “ยรรยง”ตั้งกรรมการ 2 ชุดลงพื้นที่ตรวจสอบ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้รับการร้องเรียนจากผู้ส่งออกถึงปัญหารับมอบข้าวนึ่งไม่ได้มาตรฐานที่ผู้นำเข้าต้องการมากขึ้น มีการผสมข้าวเมล็ดสั้นซึ่งเป็นข้าวผลิตในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าข้าวเมล็ดยาวของไทย อีกทั้งข้าวเปลือกเมล็ดยาวเพื่อแปรสภาพเป็นข้าวนึ่งหายากขึ้น กระทบต่อมาตรการข้าวนึ่งไทยและกระทบถึงการต่อรองราคาจากผู้นำเข้าเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าการลักลอบนำเข้าข้าวตามชายแดนและมาตรการดูแลของกระทรวงพาณิชย์ไร้ผล
“เดิมนั้นข้าวนึ่งที่โรงสีส่งมอบจะมีข้าวเมล็ดสั้นผสม 30% แต่ตอนนี้ถึง 50% ปวดหัวมากกับเรื่องนี้ ลูกค้าเริ่มสอบถามว่าเหตุใดคุณภาพข้าวนึ่งไทยไม่เหมือนเดิม หากปล่อยไปจะกระทบต่อตลาดส่งออกข้าวนึ่งลดลงมหาศาล ทั้งถูกกดราคาและเจอข้าวนึ่งอินเดียที่ราคาถูกกว่าเกือบตันละ 200 เหรียญสหรัฐ ได้ประกาศจะระบายในตลาดถึง 2 ล้านตัน ตีตลาด”
นายชูเกียรติกล่าวว่า สมาคมได้นำเสนอขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ไขมาตลอด แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้จะนำเรื่องเข้าหารือเพื่อขอให้กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อออกมาตรการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐอีกครั้ง
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ทำรายงานถึงนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าขณะนี้มีข้อสงสัยต่อตัวเลขรับจำนำในจังหวัดที่ติดชายแดน โดยเฉพาะกัมพูชามีปริมาณสูงกว่าปกติ และมีการตั้งข้อสังเกตว่ายังมีความพยามลักลอบนำเข้าเพื่อเก็งกำไรส่วนต่างตันละ 2,000-3,000 บาท พร้อมกับตรวจสอบปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศเพื่อนบ้านว่ามีปริมาณเท่าไหร่แน่ อาจสูงกว่าที่แจ้งไว้ โดยสังเกตว่าผลผลิตข้าวในกัมพูชาอาจเพิ่มจากหลักแสนเป็นหลักล้านตัน ประกอบกับ ก่อนหน้านี้บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าวได้ส่งรายงานว่ามีการตรวจพบข้าวในโกดังรัฐบาลคุณภาพไม่ตรงกับข้าวที่รับมอบ ขอให้เร่งรัดในการกวดขันการดูแลข้าวในสต๊อครัฐบาล
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนว่ามีการลักลอบนำเข้ามันจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิเข้าโครงการจำนำที่จังหวัดสระแก้ว บุรีรัมย์ และนครราชสีมา และมีเจ้าของลานมันหลายแห่งฉวยโอกาสหาประโยชน์จากโครงการรัฐเข้าตัวเอง โดยแบ่งจำนวนมันโครงการเพียง 50% อีก 50% รับซื้อเองในราคาที่ต่ำกว่าตลาด สร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงโครงการรับจำนำ ทั้งนี้ได้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี51/52 ว่ามีการทุจริตหรือไม่ โดยตรวจหนังสือรับรองการเป็นเกษตรกร และจากบัญชีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่มีแผนขยายโครงการรับจำนำมันสำปะหลังเพิ่มอีก เพราะได้เพิ่มปริมาณจาก 5 ล้านตัน เป็น 10 ล้านตัน หรือสัดส่วน 30% จากผลผลิต 29 ล้านตัน ถือว่าเป็นปริมาณที่เหมาะสมแล้ว และเป็นปลายฤดูกาลไม่น่าจะมีผลผลิตมันเหลือจำนวนมาก
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์