ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานเมื่อวันที่ 18 มีนาคมว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 12.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 โดยการขยายตัวเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาร้อยละ 13.3 และเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณร้อยละ 0.8 อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเริ่มมีทิศทางชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีและต่อเนื่องมาในปี 2552 ซึ่งมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในเดือนมกราคมหดตัวสูงถึงร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกหดตัวลงคือยอดคำสั่งซื้อที่มีลดลง ประกอบกับการตั้งราคาขายผลิตภัณฑ์พลาสติกไม่สามารถตั้งราคาได้สูงในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
โดยปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ที่ควรต้องให้ความสำคัญ คือ ยอดคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มว่าจะหดตัวมากยิ่งขึ้น จากการที่หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะซบเซามากกว่าในปี 2551 และการพิจารณาการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์กับผู้ประกอบการมีแนวโน้มว่าจะเข้มงวดมากขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และมาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี น่าจะเป็นปัจจัยบวกกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกจะมีแนวโน้มหดตัวลงประมาณร้อยละ 7.0 ถึงร้อยละ 12.0
สำหรับแนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คาดว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทบรรจุภัณฑ์อาจจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องแต่งกายและของใช้ประกอบที่ทำจากพลาสติก มีโอกาสจะขยายตัวได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับผลดีจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์จะมีความต้องการใช้ลดลงตามภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก
โดยสินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าคงทนผู้บริโภคมักจะชะลอการซื้อสินค้าเหล่านี้ออกไปในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ประเภทพลาสติกปูพื้น ปูผนัง และใช้สำหรับตกแต่งที่อยู่อาศัยหรือเฟอร์นิเจอร์พลาสติก คาดว่า จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะซบเซา และจากการที่กำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงในปี 2552 ความต้องการของผู้บริโภคอาจเปลี่ยนแปลงไปในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยอาจหันไปนิยมสินค้าที่มีราคาไม่สูงมากคุณภาพเหมาะสมกับราคา ฉะนั้นผู้ผลิตอาจพิจารณาผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจถดถอย
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์