นายโสภณ ซารัมย์ รมว.กระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบิน คือกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางทาง การบินในภูมิภาค (ฮับ) จึงมีมติเห็นด้วยให้สายการบินไทยย้ายไปให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิเพียงสนามบินเดียวในวันที่ 29 มี.ค. 52 นี้ เพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่าย
ส่วนสายการบินนกแอร์ และสายการบินวันทูโกนั้น จะต้องย้ายไปให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิเช่นกันภายในปี 2552 นี้ ทั้งนี้ การให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินเดียวนั้น กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เห็นชอบด้วย เนื่องจากทางการบินไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งคือการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้
นายโสภณกล่าวต่อว่า จากการหารือยังได้รับทราบว่า ตั้งแต่ใช้ 2 สนามบินนั้นพบว่าการจัดทำจราจรทางอากาศค่อนข้างผิดธรรมชาติ เนื่องจากพบว่ามีจุดตัดถึง 200 จุด จากที่ธรรมดาจุดตัดทางอากาศจะต้องมีน้อยที่สุด ส่งผลให้สายการบินต้องเลี่ยงเส้นทาง ต้องบินอ้อม บินวน ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองพลังงานและค่าใช้จ่ายมาก และการขึ้น-ลงของเครื่องบินทั้งที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมินั้นไม่สามารถปล่อยให้ขึ้นลงพร้อมกันได้ แม้ว่าสนามบินจะห่างกันประมาณ 18 กิโลเมตร ก็ตามเพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ อย่างไรก็ตาม จะมีการชี้แจงเรื่องนี้ในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 11 มี.ค.นี้ด้วย
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูธุรกิจและการเงินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายในเดือน มี.ค.นี้ จะเสนอรายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการให้กระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติโดยแผนฟื้นฟูในปี 2552 มีความชัดเจนแล้ว ส่วนแผนในปี 2553-2554 อยู่ระหว่างการปรับรายละเอียด
สำหรับยุทธศาสตร์ของแผนปี 2552 คือ การใช้เครื่องบินที่มีอยู่ทั้ง 85 ลำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปรับปรุงคุณภาพรายได้ต่อหน่วย โดยการปรับปรุงช่องทางการจองและจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านตัวแทนจำหน่ายหรือเอเย่นต์ และผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การปรับโครงสร้างราคาขายผ่านระบบเอเย่นต์ การบริหารจัดการลดความเสี่ยงราคาน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ส่วนความต้องการใช้เงินของการบินไทยจะแบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ 1. ค่าเครื่องบินแอร์บัสเอ 330-300 ซึ่งมีกำหนดรับมอบในปีนี้ 6 ลำ และรับมอบในปี 2553 อีก 2 ลำ โดยการบินไทยได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว 35% คงเหลือเงินที่ต้องจ่ายอีก 65% หรือคิดเป็นเงินลำละ 60-70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 2. การชำระหนี้ที่ครบกำหนด 7,000 ล้านบาท ในเดือน ต.ค. 2552 3. สภาพคล่องที่หายไป 35,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้สามารถจัดหาได้แล้ว 15,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาท สามารถแก้ไขโดยการปรับปรุงค่าใช้จ่าย ลดงบลงทุน ส่งผลให้ความต้องการใช้เงินลดลงเหลือ 10,000-15,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในวิสัยที่การบินไทยดูแลได้ เช่น อาจเจรจากับผู้ผลิตขอเลื่อนการชำระเงินค่าเครื่องบินแอร์บัสเอ 380 ซึ่งการบินไทยต้องจ่ายเงินให้กับผู้ผลิตในปีนี้ 45 ล้านเหรียญฯ ซึ่งจะทำให้การบินไทยจะมีความต้องการใช้เงินเหลือ 1,000-2,000 ล้านบาทเท่านั้น ในอีก 5 เดือนข้างหน้า
“มั่นใจว่า หากแผนฟื้นฟูกิจการมีความชัดเจน จะมีสถาบันการเงินพร้อมให้เงินกู้ใหม่อย่างแน่นอน ในเร็วๆนี้ ผมจะหารือกับสถาบันการเงิน ประมาณ 10 ราย เพื่อชี้แจงรายละเอียดแผนและสร้างความมั่นใจว่าการบินไทยมีความสามารถชำระคืนเงินกู้ได้แน่นอน โดยตั้งเป้าว่าเมื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟู การบินไทยจะมีเงินพอจ่ายดอกเบี้ยและสภาพคล่องหมุนเวียนในการดำเนินงาน โดยคาดว่าในปีนี้จะลดรายจ่ายได้ 4,000 ล้านบาท และตั้งเป้ากำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ไว้ที่ 25,000 ล้านบาท”
ส่วนในระยะต่อไปการบินไทยต้องพิจารณาเรื่องหนี้สินที่มีอยู่ 140,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้สินระยะยาว 130,000 ล้านบาท โดยอายุของหนี้จะต้องสอดคล้องกับอายุการใช้งานของเครื่องบินเพราะความเข้มแข็งทางการเงินขึ้นอยู่กับอายุของหนี้สินที่มีอยู่ ส่วนความต้องการเครื่องบินใหม่นั้น คาดว่าในระยะ 10 ข้างหน้าการบินไทยจะมีความ ต้องการเครื่องบินใหม่ประมาณ 40 ลำ แต่แผนการจัดหาเครื่องบินใหม่จะต้องทบทวนอีกครั้ง รวมทั้งเครื่องบินแอร์บัสเอ 321-200 จำนวน 20 ลำ ที่การบินไทยวางเงินจองบางส่วนไปแล้วจะต้องทบทวนใหม่ด้วยเช่นกัน ขณะที่การขายเครื่องบินแอร์บัสเอ 340-500 จำนวน 4 ลำ ที่เคยใช้บริการเส้นทางกรุงเทพ-นิวยอร์ก ยอมรับว่ายังไม่สามารถขายได้ตามแผน จึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรระหว่างการจอดทิ้งไว้ การให้เช่า หรือนำไปใช้ในบางเส้นทาง.
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์