เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่กรมสุขภาพจิต นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า จากผลการสำรวจสุขภาพจิตของคนไทย โดยใช้เครื่องมือของกรมสุขภาพจิต ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 จำนวน 28,000 คน พบว่าคะแนนสุขภาพจิตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 31.8 จาก 45 คะแนน โดยมีประชากรคะแนนดีกว่าปกติ ร้อยละ 27 สุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ร้อยละ 54 ส่วนคะแนนต่ำกว่าปกติ ร้อยละ 17 หรือ เกือบ 1 ใน 5 เสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต พบว่า ผู้ชายกับผู้หญิงมีสุขภาพจิตใกล้เคียงกัน ภาคใต้เป็นภาคที่มีสุขภาพจิตดีกว่าภาคอื่น และผู้ที่ประกอบอาชีพรับราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจมีสุขภาพจิตดีกว่าอาชีพอื่นอย่างเห็นได้ชัด ปลายปีจะสำรวจอีกครั้ง 52,000 ครัวเรือน และแยกเป็นรายจังหวัด
นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว การมีคุณธรรมจริยธรรม และการใช้หลักคำสอนทางศาสนาในการดำเนินชีวิตช่วยให้ประชากรมีสุขภาพจิตดีขึ้น ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนาอย่างเคร่งครัดจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่ไม่ค่อยปฏิบัติตามคำสั่งสอนทางศาสนา ผู้ที่ไม่ยึดหลักคำสอนทางศาสนาในการดำเนินชีวิตร้อยละ 24.5 มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิต สำหรับกลุ่มชาวพุทธ การทำสมาธิเป็นประจำช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น นอกจากนี้ คนที่อยู่ในครอบครัวที่มีเวลาให้แก่กันเพียงพอ หรือไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกันเป็นประจำจะมีสุขภาพจิตดีกว่าคนที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่มีเวลาให้แก่กันหรือไม่ค่อยได้ไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกัน 2 เท่า
นายอภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตเริ่มสูงมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ผู้หญิงเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าครัวเรือน โดยพบว่า คนที่รู้จักการยกโทษ ให้อภัยซึ่งกันและกัน จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า และผลสำรวจยังชี้อีกว่า ผู้ที่มีอาชีพไม่มั่นคงทางด้านรายได้ คือ กลุ่มรับจ้างทั่วไป และกรรมกร มีความเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าอาชีพที่มีความมั่นคงกว่า เช่น กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ประมาณ 3 เท่า ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงรองลงมาจากกรรมกร คือ พนักงานเอกชน
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์