แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ภายในประเทศ

ดูแลสุขภาพ..เลี่ยงภาวะป่วยฉุกเฉิน ( ข่าวทั่วไป )

ภาพประกอบ ข่าวสาร ข่าวทั่วไป : ดูแลสุขภาพ..เลี่ยงภาวะป่วยฉุกเฉิน

ในงานที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ เปิดตัว ศูนย์การดูแลผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน (Emergency Care Center) และขยายการให้บริการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation) เพื่อดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจร น.พ.โอรส ทรัพย์เจริญ อายุรแพทย์ด้านระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวว่า ภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ หมายถึงโรคภัยที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้เตรียมพร้อมมาก่อน อาจแบ่งเป็นอุบัติเหตุซึ่งมักปรากฏอาการมองเห็นได้ เช่น กระดูกหัก เลือดออก ภาวะที่เกิดขึ้นจากโรคภัยไข้เจ็บที่รู้ข้อมูล เช่น ภาวะขาดน้ำตาลรุนแรงสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือภาวะจากโรคที่ผู้ป่วยรู้ตัวอยู่แล้ว และภาวะที่อันตรายที่สุดคือภาวะที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบมาก่อน เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ (Stroke) และภาวะหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Attack)

ในส่วนของโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ พบมากเป็นอันดับ 2 ของโรคที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน รองจากโรคหัวใจ โรคชนิดนี้มักเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย หรือคนอายุน้อยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานและไขมันในเลือดสูงมานานแล้ว แต่ไม่ได้รักษา หรือคนที่มีเส้นเลือดผิดปกติ หรือโป่งพองผิดปกติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาทันท่วงที โดยเฉพาะช่วงเวลา 3 ชั่วโมงแรกหลังจากที่ผู้ป่วยแสดงอาการ การให้ยาละลายลิ่มเลือดในกรณีเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลันจะให้ผลการรักษาที่ดีในช่วงนี้ กระบวนการเตรียมการให้พร้อมตั้งแต่การรับผู้ป่วย การตรวจวินิจฉัย และการรักษาหากมีภาวะแทรก ซ้อนเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลคำนึงถึง

หากญาติหรือคนใกล้ชิดสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง เดินเซ พูดไม่ชัด สับสน ซึม ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล ระหว่างนี้ให้งดน้ำ งดอาหาร เพราะคนไข้อาจสำลัก หรือหากต้องรักษาโดยการผ่าตัด จะลดความเสี่ยงอาการสำลัก หากโรงพยาบาลนั้นมีความพร้อมและแพทย์มีความชำนาญ วินิจฉัยได้เร็วและรักษาทันท่วงที คนไข้ก็มีความทุพพลภาพน้อยลงและมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

คุณหมอแนะนำการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าวว่า ควรเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสอบปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดัน ไขมัน ตับ ตรวจเช็กหัวใจเป็นประจำ กินอาหารให้สมดุล ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เช่น ไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ การใช้ชีวิตให้สมดุล เช่นวันนี้ต้องกินเนื้อมาก มื้อต่อไปก็เน้นกินผักให้มากขึ้น ไม่ใช่ว่ากินแต่ผักไม่กินเนื้ออาจทำให้ขาดโปรตีนได้

ด้าน น.พ.วิศาล คันธารัตนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวว่า หัวใจหลักของการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายคือการวางเป้าหมาย และการมีทัศนคติที่ดีของคนไข้ ปัญหาของการฟื้นฟูคือคนไข้ไม่รู้ว่าขั้นตอนการรักษาจะจบเมื่อไหร่ บางคนท้อแท้ ควรวางเป้าหมายในการรักษาอย่างชัดเจน ญาติบางคนใช้วิธีนำผู้ป่วยมาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลแล้วรีบไปทำงาน การเปลี่ยนแปลงของคนไข้ก็จะไม่เห็นผล การฟื้นฟูทางร่างกายทำได้ที่โรงพยาบาล แต่การฟื้นฟูด้านจิตใจจำเป็นต้องได้รับจากคนใกล้ชิดและญาติพี่น้อง

ส่วนผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือยังเป็นคนหนุ่มสาวก็อย่าชะล่าใจ ควรตรวจสุขภาพทุกปี และดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ ที่สำคัญเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพควรตั้งสติและไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215