ให้กำลังใจไปหมาดๆ กับวันสตรีสากล 8 มีนาคม ที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนจัดมอบรางวัลให้ผู้หญิงที่มีผลงานส่งเสริมสถานภาพและสิทธิสตรี
ในงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดเสวนาเรื่อง “สองทศวรรษการพัฒนาสตรีสู่ความเสมอภาคหญิงชายในประเทศไทย” เนื่องในวันสตรีสากล ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เพื่อทบทวนปัญหา สถานการณ์ด้านสตรี เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย มาตรการ และกลไกในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย
นางสายสุรี จุติกุล วัย 73 ปี สมาชิกคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือก ปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ผู้ได้รับรางวัลบุคคลเกียรติยศดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายและการคุ้มครองสิทธิสตรีในปีนี้ กล่าวว่า กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีนั้นขออวยพรให้ผลักดันออกมาให้ได้ ส่วนกฎหมายที่ว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัวควรต้องมาปรับปรุงอีกครั้ง และในด้านเศรษฐกิจ ผู้หญิงทำงานด้านนี้มีมาก แต่เรื่องของสตรีกับวิกฤตความยากจนยังพูดถึงน้อย
ส่วนด้านสังคม วัฒนธรรมและการใช้ภาษายังมีการใช้ภาษาที่รังเกียจผู้หญิงเยอะ เช่น “หน้าตัวเมีย” “ไปนุ่งกระโปรง” หรือที่ผู้หญิงว่า “ผู้ชายใจเสาะ ใจน้อยเหมือนผู้หญิง” เราอย่าสอนคำเหล่านี้ให้ลูกหลาน แต่มีค่านิยมและเจตคติที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีคือผู้ชายอุ้มลูกมากขึ้น
ส่วนเรื่องการทำร้ายร่างกาย ละเมิด ถูกกระทำ ชนกลุ่มน้อยที่เป็นสตรีมักโดนซ้ำสองเกี่ยวกับการคุกคามทุกรูปแบบ ทั้งเรื่องเพศ ร่างกาย มีทั่วทุกแห่ง ทำให้ภาพรวมเกิดการฆ่าสามีหรือภรรยา ต้องกล่าวถึงเรื่องนี้ให้มากขึ้น เช่นกันกับกลุ่มชายขอบ กลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มสตรี เด็ก คนพิการที่ถูกรังแก รวมถึงการสร้างองค์ความรู้
“การวิจัยศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงยังมีน้อยและต้องทำให้ลึก ขณะเดียวกันบทบาททางภาคธุรกิจนั้นต้องดึงผู้หญิงเข้าร่วมให้มากขึ้น จากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า ผู้หญิงที่ไม่ได้ดี ส่วนหนึ่งไม่ได้มาจากผู้ชายที่ไม่ได้ทำให้เราขึ้นไป แต่เพราะผู้หญิงด้วยกันเองที่ไม่สนับสนุนกัน สิ่งเหล่านี้เราต้องช่วยกัน รวมถึงผู้หญิงไม่ยอมออกไปฝึกอบรม” นางสายสุรีกล่าว
นางสุรภีร์ โรจนวงศ์ วัย 73 ปี ประธานกรรมการบริษัท เกษรโฮลดิ้ง เจ้าของรางวัลสตรีดีเด่นในเวที/เครือข่ายระดับสากล กล่าวว่า ความเสมอภาคของผู้หญิงและชายในแวดวงธุรกิจนั้นอาจรู้สึกดีที่สุด แต่จากสถิติในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีสตรีอยู่น้อย ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อยส่วนใหญ่สตรีเป็นเจ้าของ และแสดงศักยภาพในการกอบกู้เศรษฐกิจในช่วงวิกฤตได้ แต่เป็นธุรกิจที่คนส่วนมากมองข้ามเพราะอยู่ใกล้ตัวเกินไป
นางสุรภีร์กล่าวด้วยว่า สตรีเองต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และต้องไม่หลงตัวเอง ส่วนนายจ้างนั้นในการปกครองดูแลลูกน้องต้องใช้ธรรมะเข้ามาช่วย ความเสมอภาคในหอการค้าไทยนั้นจากที่เคยเป็นคณะกรรมการมา 17 ปี มีกรรมการทั้งหมด 54 คน มีผู้หญิงเพียง 2 คน ขณะที่ปัจจุบันมีกรรมการ 75 คน มีผู้หญิงเพียง 6 คนเท่านั้น จึงอยากให้เพิ่มสัดส่วนสตรีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
ด้าน น.ส.วิมลเรขา ศิริชัยราวรรณ ทนายความและที่ปรึกษา กฎหมายวัย 38 ปี กล่าวว่า กฎหมายครอบครัวที่ผู้หญิงต่อสู้มาระยะหนึ่งแล้วได้สิ่งนั้นมา อาจมีบางมุมที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าส่งผลด้านอื่นๆ หรือความร้าวฉานในครอบครัวมากขึ้นหรือไม่ เช่น กฎหมายคำนำหน้านามหญิง ทำให้ระแวงกันในครอบครัว กรณีคนที่แต่งงานแล้ว เวลาจะโอนขายทรัพย์สินต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสตามกฎหมายทั่วไป ผู้หญิงที่เป็นนางสาวทำอะไรไม่ได้ เพราะ “น.ส.” ไม่ได้บอกสถานะที่แท้จริง
อีกกรณีคือ “มือที่สาม” เมื่อมีคนเข้ามาแสดงความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับคนของเรา ใช้สิทธิที่ทางกฎหมายคุ้มครองฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ แต่ต่อไปนี้หากฟ้องค่าทดแทน อาจถูกโต้กลับว่าคุณใช้นางสาว จะรู้ได้อย่าง ไรว่าแต่งงานหรือไม่ เรื่องนี้เริ่มเป็นปัญหาส่อเค้าขึ้นมาและมีผลกระทบกับครอบครัว
ค่าทดแทนการหมั้นก็เช่นกัน ตามกฎหมายครอบ ครัวต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้น ต่อไปนี้แม้ว่าคุณหมั้นหรือมีใครมายุ่งกับคู่หมั้นของคุณ มีสิทธิ์เรียกค่าทดแทนได้เลย และมีเหตุเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน
“หญิงรายหนึ่งอยู่กับสามี 10 ปีไม่ได้จดทะเบียนสมรส วันหนึ่งชายพบหญิงใหม่ดีกว่า สวยกว่ารวยกว่า จึงตีจาก ฝ่ายหญิงคิดได้ว่ามีอยู่ 2 ครั้งที่พาฝ่ายชายไปพบพ่อแม่ตนเพียงพูดคุยและรับรู้ว่าอยู่ด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกิดสัญญาหมั้น เพราะสัญญาหมั้นเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการพูดคุยตกลงกันและมีการส่งมอบของหมั้น ดังนั้นแม้ของหมั้นจะไม่มีราคาค่างวดอะไรขอให้รับไว้ เมื่อรับไว้แล้วกฎหมายจึงจะคุ้มครอง แต่เรื่องราวของผู้หญิงรายนี้ ไม่มีสัญญาหมั้น และอายุฝ่ายหญิงไม่ใช่ผู้เยาว์ แก้ได้ทางเดียวคือต้องให้กำลังใจและลดการพึ่งพิงฝ่ายชาย พยายามยืนให้ได้แม้ว่าจะลำบากหรือเสียความมั่นใจ ชีวิตข้างหน้า ยังมี และขอให้นำสิ่งเหล่านี้มาเตือนตัวเองเป็นประสบการณ์ ทุกคนผิดพลาดได้ในชีวิต และเมื่อปัญหาเกิดขึ้นขอให้มีสติ”
นอกจากนี้ ในกรณีข่มขืน เนื้อหาของกฎหมายจากเดิมที่ผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ มาเป็น “ผู้กระทำ” ได้ มีโทษจำคุก 4-20 ปี โทษปรับ 8,000-40,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว
ทนายความหญิงกล่าวว่า ถ้าอยากได้ความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย 1.ผู้หญิงเองต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น 2.ต้องเพิ่มอำนาจต่อรอง ถ้าผู้หญิงไม่มีอำนาจจะไม่มีความเท่าเทียม จะมีความเหลื่อมล้ำ ทางกายภาพ จึงต้องช่วยกันคิดและแก้กฎหมายเสนอขึ้นมา ไม่มีกฎหมายที่เป็นนิจนิรันดร์จนกว่าจะนำมาใช้และคนที่อยู่กับปัญหาแล้วพบผลกระทบ
“ควรแก้ที่ค่านิยม ถ้าเราไม่อยากใช้กฎหมายมาบังคับ อยากให้พูดกันดีๆ ด้วยความรู้สึกที่ผู้ชายให้เกียรติผู้หญิง อย่ามองเป็นเพศที่เสียเปรียบกว่าจะละทิ้งได้ง่าย ถ้าชายเทิดทูนผู้หญิงในระดับพอสมควร และหญิงเองก็ทำตัวดี เราก็จะเดินคู่กันไปโดยไม่ต้องใช้กฎหมาย”
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์