หลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่อง “เขาพระวิหาร” ระหว่างไทย-กัมพูชา ได้บานปลายกลายเป็นข้อพิพาทจนเป็นที่หวั่นเกรงกันว่าทั้งสองประเทศจะหันมาใช้ความรุนแรงต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนตามแนวชายแดน ทำให้ผู้นำทางทหารทั้งของไทยและกัมพูชา ต้องหาทางคลี่คลายปัญหาด้วยจัดการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ในวันที่ 21 ก.ค. หารือในการหาข้อยุติเกี่ยวกับข้อพิพาทดังกล่าว ที่โรงแรมอินโดจีน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แต่หลังจากใช้เวลาการประชุมเครียดกันเกือบ 10 ชั่วโมง ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องข้อยุติของปัญหาข้อพิพาท
ทหาร-ตำรวจ ตรึงกำลังเข้มรอบโรงแรม
โดยบรรยากาศก่อนการประชุม เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 21 ก.ค. พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ ผบก.ภ.จ. สระแก้ว พ.อ.วสุ เจียมสุข ผบ.ฉก.กรม.ทพ.ที่ 12 กกล. บูรพา ได้จัดกำลังตำรวจชุดปราบจลาจลและเจ้าหน้าที่ ทหารพราน ฉก.กรม.ทพ.ที่ 12 กกล.บูรพา รวมกว่า 200 นาย เข้าประจำจุดบนถนนสุวรรณศร ตั้งแต่หน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จนถึงหน้าโรงแรมอินโดจีน ต.บ้านใหม่หนองไทร อ.อรัญประเทศ สถานที่จัดประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ระยะทางกว่า 7 กม. ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับคณะของ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ของกัมพูชา ที่จะเดินทางมาร่วมประชุมกับ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด ประธานที่ประชุมฝ่ายไทย นอกจากนี้ยังมีรถจักรยานยนต์เคลื่อนที่เร็วและรถฮัมวี่ติดอาวุธปืน ลาดตระเวนรักษาความสงบรอบโรงแรมอย่างเข้มงวด รวมถึงภายในโรงแรมยังได้ตั้งจุดตรวจวัตถุระเบิด ตั้งแต่ หน้าโรงแรมถึงทางเข้าห้องประชุมและทางเข้าห้องแถลง ข่าว มีตำรวจทหารเฝ้าระวังความปลอดภัยประตูทางเข้าออกทุกประตูในโรงแรม
พ่อค้าแม่ค้าเก็บของหนีคิดว่าปิดด่าน
จากการที่มี จนท.ทหารพรานและตำรวจเข้าไปดูแลพื้นที่บริเวณหน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศจำนวนมาก ทำให้พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนชาวเขมรในตลาดโรงเกลือและฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา รวมถึงชาวไทยที่ไปทำงานเป็นพนักงานบ่อนกาสิโนฝั่งปอยเปต เกิดความแตกตื่นคิดว่าทางการไทยเตรียมปิดด่านพรมแดน ทำให้พ่อค้าแม่ค้าชาวเขมรหลายราย ต่างรีบขนของและสินค้าของตัวเองบางส่วนกลับไปฝั่งกัมพูชา ส่วนพนักงานบ่อนพากันโทรศัพท์สอบถามกันให้วุ่นวาย เจ้าหน้าที่ต้องรีบประชาสัมพันธ์ว่า ไม่ได้มีการปิดด่าน การส่งเจ้าหน้าที่มามาก เนื่องจากต้องการรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา ทำให้ชาวกัมพูชาคลายวิตกลงได้ แต่คงมีบางส่วนยังไม่มั่นใจพากันเดินทางกลับเข้าประเทศ ส่วนบรรยากาศที่โรงแรมอินโดจีนสถานที่จัดประชุม เริ่มคึกคักตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารเข้ามาตรวจตราและดูแลความสงบเรียบ ร้อยรอบบริเวณโรงแรม โดยมีการตั้งเต็นท์ตรวจเข้มทั้งยานพาหนะ และบุคคล ก่อนจะเข้าโรงแรม นอกจากนี้ยังนำเครื่องตรวจวัตถุระเบิดของ กก.ตชด.12 มาติดตั้งบริเวณทางเข้าด้านหน้าของโรงแรมด้วย
2 ฝ่ายร่วมประชุมไทย-กัมพูชาวาระพิเศษ
สำหรับการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา วาระพิเศษครั้งนี้ มี พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เป็นประธานการประชุมฝ่ายกัมพูชา ส่วนฝ่ายไทยที่เข้าร่วมประชุมคือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.ต.ท.นิพนธ์ ศิริวงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวีรศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ เสธ.ทหาร พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 นายพิษณุ สุวรรณชฏ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ นายทรงชัย ชัยประดิยุทธ ผู้แทนกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย นายสุรพล ทัดพิทักษ์กุล ผู้ว่าราชการ จ.สระแก้ว โดยจะมีการประชุมร่วมกัน 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 จะมีการหารือกันแบบตัวต่อตัว คือ พล.อ.เตีย บันห์ และ พล.อ.บุญสร้าง ส่วนแนวทางที่ 2 คือจะหารือกันระหว่าง พล.อ.เตีย บันห์ และ พล.อ.บุญสร้าง พร้อมคณะฝ่ายไทย และกัมพูชาอีกฝ่ายละ 4 คน โดยเฉพาะประเด็นที่จะหารือกัน คือการลดความตึงเครียด บริเวณปราสาทพระวิหาร โดยเฉพาะอาจจะมีการลดกำลังทหาร ของทั้งสองฝ่ายออกไปเพื่อลดความตึงเครียด
หารือเครียดปัญหาข้อพิพาท “พระวิหาร”
กระทั่งเวลา 09.00 น. พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พร้อมคณะ เดินทางมาถึงโรงแรมอินโดจีน ท่ามกลางกองทัพนักข่าวทั้งไทยและเทศกว่า 100 ชีวิต ที่ติดตามมาทำข่าวกันอย่างคับคั่ง ก่อนเข้าประชุม พล.อ.บุญสร้าง และคณะกรรมการฝ่ายไทยได้ประชุมร่วมกันก่อน โดยใช้เวลาหารือนาน 1 ชม. จากนั้น ในเวลา 10.00 น. พล.อ.เตีย บันห์ ได้เดินทางมาถึงโรงแรมและเข้าหารือส่วนตัวกับ พล.อ.บุญสร้างและคณะกรรมการฝ่ายไทยจำนวน 4 คน คือ พล.อ.อนุพงษ์ พล.ท.นิพัทธ์ พล.อ.ทรงกิตติ นายวีรศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายกัมพูชา 4 คน คือ พล.อ.เนียงพาด รมช.กลาโหมกัมพูชา นายลอง วิสาโล รมช.ต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ นายวาร์ กิม ฮอง รมว.อาวุโสและที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฝ่ายกัมพูชา พล.อ.พอล ซาเรือน รอง ผบ.ทหารสูงสุดและเสนาธิการทหารแห่งชาติกองทัพกัมพูชา ที่ห้องรับรองของโรงแรม โดยการประชุมใช้เวลาตั้งแต่ 10.30น. จนเวลา 13.15 น. ที่ประชุมได้หยุดหารือชั่วคราวมารับประทานอาหารกลางวัน ก่อนเข้าห้องประชุมหารือต่อในเวลา 14.00 น.
ธรรมยาตราบุกยื่นหนังสือถึง ผบ.สส.
สำหรับบรรยากาศด้านหน้าโรงแรม ปรากฏว่าเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีคณะธรรมยาตรา จำนวน 5 คน ประกอบด้วยนายสมาน ศรีงาม แกนนำธรรมยาตรา พล.ต.ณพล คชแก้ว ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการธรรมยาตราแห่งชาติ พร้อมด้วยนายวิชาญ ทับซ้อน นางชนิกานต์ เก่งนอก และพระคำพอง ชยธัมโม ซึ่งเป็นคนไทย 3 คน ที่ถูกทหารเขมรจับตัวไว้ที่ปราสาทพระวิหาร โดยทั้ง 5 คน ได้เดินทางมาที่โรงแรม แสดงความจำนงจะมายื่นหนังสือเรียกร้องให้กับ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด แต่ได้ถูกทหารและตำรวจกันไว้ให้อยู่บริเวณเต็นท์รักษาความปลอดภัยด้านหน้าโรงแรม ต่อมา พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการกองกำลังบูรพา ทราบเรื่องได้เดินทางออกมารับหนังสือดังกล่าวแทน
เตรียมแจ้งจับนายกฯพูดหมิ่นเป็นไอ้บ้า
นายสมาน ศรีงาม แกนนำธรรมยาตรา เปิดเผยว่า เดินทางจาก จ.ศรีสะเกษ เพื่อมายื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด เจรจากับฝ่ายกัมพูชาขอให้ยึดถืออนุสัญญาโตเกียว ปี ค.ศ.1941 เป็นรากฐานในการประชุมเจรจา นอกจากนี้ ยังต้องการมาขอบคุณ พล.อ.บุญสร้าง ที่ส่งทหารไปเจรจากับกัมพูชา จนสามารถช่วยเหลือ 3 คนไทยออกมาได้ หลังจากนั้นจะพากันเดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษหมิ่นประมาทกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กรณีที่พูดว่า 3 คนไทยคือไอ้บ้า 3 คน
ประชุมเช้ายันบ่ายหารือ 3 ประเด็น
ด้านบรรยากาศของการประชุม ในการหารือกันนอกรอบนั้น ได้ใช้เวลาหารือกันนานกว่าที่ได้กำหนดในช่วงเช้า โดยใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง และในช่วงบ่ายเริ่มประชุมเหลือฝ่ายละ 3 คน ประกอบด้วย พล.อ.บุญสร้าง พล.อ.อนุพงษ์ และนายวีรศักดิ์ ส่วนฝ่ายกัมพูชาคือ พล.อ. เตีย บันห์ พล.อ.เนียง พาด นายลอง วิสาโล ซึ่งทำให้การประชุมต้องยืดเยื้อออกไป เพราะยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดดังนั้นกำหนดการต่างๆ ต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ในที่ประชุมส่วนตัวของทั้ง 2 ฝ่ายในช่วงบ่าย ได้หารือกันโดยมีการเสนอใน 3 ประเด็น คือ 1. ห้ามยิง 2.ห้ามเพิ่มกำลังทหารทั้ง 2 ฝ่าย 3.ห้ามนำผลการประชุมไปเป็นประเด็นการเมือง
เครียด 8 ชั่วโมงยังไม่ได้ข้อยุติชัดเจน
จากนั้นในเวลา 18.00 น. การประชุมส่วนตัวของทั้ง 2 ฝ่าย จึงได้ยุติลง โดยใช้เวลาหารือร่วมกันตั้งแต่ 10.30-18.30 น.รวม 8 ชั่วโมงครึ่ง ทำให้การประชุมใหญ่ ร่วมกัน ของทั้ง 2 ฝ่าย ที่เตรียมไว้ต้องยกเลิกไป เนื่องจากเวลาไม่พอเพราะการประชุมจะต้องยุติก่อนเวลา 20.00 น. ที่จุดผ่านแดนจะปิด ทั้งนี้ สำหรับการแถลงข่าวร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย ได้ใช้ผลการประชุมส่วนตัวมาแถลงข่าวร่วมกัน
พล.อ.บุญสร้างแถลงถึงผลการประชุมว่า พวกเราทุกคนขอโทษทุกคน ที่ทำให้รอนานเพราะการประชุมวันนี้ เป็นเรื่องไม่ง่าย ดังนั้นการประชุมจริงยังไม่เกิด มีแต่การ ประชุมวงเล็กด้วยบรรยากาศที่ดีตลอด 8 ชม. แต่ทั้งนี้ยังติดขัดในข้อกฎหมายที่มีปัญหา จึงต้องให้หน่วยเหนือขึ้นไปตัดสินใจ เราจะนำข้อเสนอแนะที่เหมาะสม ให้รัฐบาลนำไปแก้ปัญหาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม โดยทั้ง 2 ฝ่าย ต้องนำผลไปรายงานรัฐบาลในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ที่เรา ทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายคือ ทั้ง 2 ฝ่าย จะไปสั่งการทหารที่เผชิญหน้าให้อยู่ในความสงบไม่ให้มีเหตุรุนแรง
ลดการเผชิญหน้าหลีกเลี่ยงความรุนแรง
ต่อมา พล.อ.เตีย บันห์ แถลงเป็นภาษาไทยว่า ขอขอบคุณสื่อมวลชน การประชุมครั้งนี้เราพยายามทำเต็มที่ ขอย้ำว่าที่ พล.อ.บุญสร้าง เรียนมาเป็นสิ่งที่เราทำมาทุกอย่าง ถือว่าเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าอย่างดีแต่มาขัดต่อกฎหมายบางอย่าง จึงทำให้การปฏิบัติเป็นรูปธรรมต้องเอาไว้ก่อน เพราะเรายังปฏิบัติไม่ได้ ตอนนี้จึงได้มาแค่นี้ สิ่งที่เราเข้าใจกันลึกซึ้งคือหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่สิ่งที่ลดอุณหภูมิแห่งความตึงเครียด ขอเรียนว่ายังไม่มีการลดลง เพราะว่าอย่างที่ทราบคือที่ผ่านมามีอุณหภูมิขึ้นมา ทำให้เราเป็นห่วง เราจึงอยากลดอุณหภูมิคือการเผชิญหน้ากัน แต่ติดอยู่ที่ข้อกฎหมายทำให้ผลงาน ที่หารือกันก่อนที่ประชุมเป็นทางการ ก็เลยยังเปิดไม่ได้ จึงหารือนอกรอบนี้ก่อนและนำเรื่องนี้ไปอีกสู่ระดับหนึ่งเป็นสิ่งที่ได้ปฏิบัติมาในวันนี้
ไม่เสริมกำลังทหาร-ไม่ยิงกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อกฎหมายที่ติดขัดคืออะไรและจะมีการถอนทหารหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ตอนนี้ไม่ทำอะไร เพราะติดข้อกฎหมายซึ่งซับซ้อนมาก เราจึงนำนักกฎหมายของแต่ละคณะมา ส่วนข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคคงต้องไปถามนักกฎหมาย ส่วนทหารจะถอนหรือไม่นั้น ตอนนี้จะให้ตรึงกับที่ไว้ก่อน แต่อยู่ในความสงบไม่ให้เกิดความรุนแรง จะไม่ยิงกัน และไม่มีการเสริมกำลัง ทั้งอยู่กับที่ไม่ให้ใช้ความรุนแรงและไม่มีการเสริมกำลังของทั้ง 2 ฝ่าย การหารือไม่ถือว่าล้มเหลว เพราะประชุมมา 8 ชม. ได้อะไรมาเยอะ แต่อาจจะไม่มีข้อสรุปให้รัฐบาล แต่ตอนนี้ต่างคนต่างทราบว่าจุดยืนแต่ละฝ่ายมีอย่างไร และสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการเจรจาครั้งนี้ คือให้ทุกคนอยู่ในความสงบ และในที่ประชุมไม่ได้นำการที่สมเด็จฮุนเซนส่งจดหมายไปที่ยูเอ็นมาหารือกัน เพราะตอนนี้พยายามจะลดปัญหาการเผชิญหน้าเป็นหลัก เรายังพูดอะไรไม่ได้ ตั้งใจว่าจะประชุมอีกครั้ง หลังจากแต่ละฝ่ายนำประเด็นไปสู่ระดับสูง ซึ่งอาจจะประชุมหลังเลือกตั้ง
ได้ผลพอใจแต่ปฏิบัติยังไม่ได้
พล.อ.เตีย บันห์ กล่าวต่อว่า ในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่บริเวณเขาพระวิหารที่เราเป็นห่วง และต้องใช้คำว่าทำให้อุณหภูมิมันเพิ่มขึ้น เราอยากจะหาวิธีทำให้ทุกอย่างจบลงด้วยความราบรื่นและเข้าใจอย่างดี สิ่งนี้เป็นงานที่เราต้องทำ จึงหารือใช้เวลามาก ซึ่งเราได้ผลเป็นสิ่งที่พอใจแต่ผลยังใช้ปฏิบัติเป็นรูปธรรมไม่ได้ เพราะจะไปขัดต่อข้อกฎหมาย ก็ต้องนำไปหารือต่อ ซึ่งเราเข้าใจตรงกันสิ่งที่จะทำต่อไปก็คือต้องไปในสิ่งที่ควรจะต้องทำ ตอนนี้ถือว่าสุดวิสัย ที่เราจะหาทางออกได้ เราก็ต้องไปตามทางที่เราจะไปได้ การประชุมนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ส่วนปัญหาพื้นที่เรามีหน่วยงานที่ดูแล และต้องทำกันทั้งสองฝ่าย ว่าเป็นอย่างไร ที่ทับซ้อนและไม่ทับซ้อนอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในแถลงข่าวทางเจ้าหน้าที่ได้ตัดบทผู้สื่อข่าวที่จะซักถามต่อ โดยอ้างว่า พล.อ.เตีย บันห์ จะต้องรีบเดินทางกลับกัมพูชาก่อนที่ด่านจะปิด
“บุญสร้าง” ชี้ถือแผนที่คนละฉบับ
ต่อมา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงการติดขัดข้อกฎหมายว่า เราถือแผนที่คนละฉบับ เรื่องพื้นฐานก็มีแค่นั้น ส่วนจะเกี่ยวกับข้อกฎหมายอย่างไร ต้องไปถามนายวีระชัย และการประชุมครั้งต่อไปจะเป็นเมื่อไหร่ยังไม่รู้ คงอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งคณะกฎหมายคงประสานงานกัน ส่วนจะสามารถลงเอยกันได้หรือไม่ ถ้าลงเอยกันได้ก็มาประชุม แต่ถ้าลงเอยไม่ได้ มาประชุมก็เสียเงินเปล่า เมื่อถามว่าจะนำไปรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบอย่างไร พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า กระทรวง การต่างประเทศจะเป็นผู้ทำ เพราะเขาเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมาย และเขาจะรู้รายละเอียดเยอะ อย่าไปคิดว่าการประชุมล้มเหลว
กฎหมายไม่ลงตัวยังทำอะไรไม่ได้
เมื่อถามว่าจะต้องนำเข้า ครม.หรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า จะเข้าหรือไม่เข้าอยู่ที่รัฐบาลจะนำไปดำเนินการ ส่วนที่ติดเรื่องข้อกฎหมายนั้นตนยังไม่ขอพูด พอพูดไปจะสับสน ต้องถามนายวีระชัย เมื่อถามว่า ถือแผนที่คนละฉบับจะเกิดจุดร่วมอย่างไร พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ต้องอยู่ที่ว่าต่างคนต้องเห็นใจอีกฝ่าย ขณะนี้ไม่ใช่อย่างนั้น ตอนนี้ต่างคนต่างถือแผนที่ เมื่อถามว่า ที่ประชุมมีการเรียกร้องให้ชาวกัมพูชาถอนตัวออกจากพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ถ้าการประชุมไม่ลงเอย สิ่งเหล่านี้ก็ออกมาไม่ได้ เมื่อถามว่าชาวกัมพูชาสามารถอยู่ต่อไปได้ใช่หรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า การประชุมวันนี้เราจะทำเฉพาะในข้อเสนอแนะเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เสนอแนะจะนำไปสู่รัฐบาล แต่เมื่อกฎหมายไม่ลงตัวก็ยังทำอะไรต่อไม่ได้ ผู้สื่อข่าวถามว่าเครียดหรือไม่ในการประชุมวันนี้ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ก็ประมาณหนึ่ง พล.อ.บุญสร้างยังได้กล่าวถึงแนวโน้ม การถอนทหารออกจากพื้นที่ว่า คงยอมไม่ได้เพราะเกี่ยวกับอธิปไตยและดินแดนของประเทศ ขณะนี้ทหารเหนี่ยวอยู่และวางกำลังอยู่ มานั่งเจรจาให้ถอนกำลังคงทำไม่ได้ หลังจากนี้จะร่างข้อเจรจาทั้งหมด ให้นายกรัฐมนตรีและทีมงานได้พิจารณาและจะมีการนัดหารือในระดับใดเมื่อไหร่ ก็ดูว่าจะเป็นระดับกองทัพ รัฐบาล หรือจีบีซี
“สมัคร” โทร.หา “อนุพงษ์” ถามผลหารือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการหารือเมื่อเวลา 17.00 น. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามผลการหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. โดย ผบ.ทบ. ได้รายงานผลแก่นายกฯประมาณ 15 นาที จากนั้น ผบ.ทบ. ได้เรียกแม่ทัพภาคที่ 2 และแม่ทัพภาคที่ 1 มาสั่งการถึงกรณีการตรึงกำลังทหารบริเวณแนวชายแดนที่มีปัญหา โดยได้ย้ำถึงมาตรการให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ ทั้งนี้ ผบ.ทบ.มีสีหน้าเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ชัด และไม่ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด
ชาวบ้านแห่นำเสบียงให้ทหาร
ขณะเดียวกัน บรรยากาศโดยรอบบริเวณเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ยังมีทหารพรานและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ ไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปในเขตอุทยานเด็ดขาด มีแต่กองทัพนักข่าวรอสังเกตการณ์อยู่ใกล้กับด่านเก็บค่าธรรมเนียมอุทยานฯ ต่อมาได้มีนางสุชาดา เริงฤทธิ์ ผู้จัดการร้านน้ำฟ้าในตัวอำเภอกันทรลักษ์ ประสานกับกลุ่มรักบ้านเกิดและพ่อค้าแม่ค้าชาวอำเภอกันทรลักษ์ นำข้าวสาร อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำดื่มจำนวนมาก มามอบให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการณ์อยู่บนผามออีแดง โดยมีตัวแทนทหารจากกรมทหารพรานที่ 23 อ.กันทรลักษ์ มารับมอบ พร้อมกล่าวขอบคุณสำหรับน้ำใจของพี่น้องชาวไทย สำหรับบนผามออีแดงบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหาร เหตุการณ์ทั่วไปปกติ มีทหารรักษาการณ์อยู่ตามจุดต่างๆ โดยไม่มีการเสริมกำลัง ไม่มีรถบรรทุกทหาร หรืออาวุธยุทโธปกรณ์แล่นผ่านด่านค่าธรรมขึ้นไปบนผามออีแดงเหมือนวันก่อนๆ ขณะที่ทุกคนยังคงเฝ้ารอผลการเจรจา ของผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายไทยและกัมพูชาว่าจะยุติลงอย่างไร
ครูให้นักเรียนซ้อมหลบภัย
ช่วงบ่ายที่โรงเรียนบ้านภูมิซรอล ห่างจากเขาพระวิหารเพียง 10 กว่ากิโลเมตร นายบุญรวม พงษาปาน ผอ.โรงเรียน ให้ครูนำนักเรียน 350 คน ฝึกซ้อมการเข้าหลุมหลบภัยเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยนายบุญรวมกล่าวว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในเขตชายแดนติดกับเขาพระวิหาร ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันไม่น่าไว้วางใจ หากการเจรจาของผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 ประเทศไม่ประสบผลอาจเกิดการต่อสู้กันขึ้นได้ ในครั้งอดีตเคยมีกระสุนปืนใหญ่พลัดมาตกที่โรงเรียนหลายครั้ง แต่ไม่เกิดอันตรายกับครูหรือนักเรียน เพราะโรงเรียนทำหลุมภัยเอาไว้ป้องกันเหตุ จึงต้องมีการฝึกซ้อมเข้าหลุมหลบภัยไว้เผื่อว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะได้พาบรรดาเด็กนักเรียนหลบหนีทัน
สถานทูตกัมพูชาแพร่ จม.ฮุน เซน
นอกจากนี้เมื่อวันจันทร์ 21 ก.ค. สถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ส่งเอกสารจดหมายของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถึงนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 19 ก.ค. แจกจ่ายถึงสื่อมวลชนไทย โดยข้อความระบุ สมเด็จฮุน เซน ได้รับจดหมายชี้แจงกรณีความขัดแย้งเหนือพื้นที่พิพาทบริเวณปราสาทพระวิหารจากนายกรัฐมนตรีสมัครแล้ว และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ทั้ง 2 ประเทศจะใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ ป้องกันไม่ให้สถานการณ์ตึงเครียดแย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อรักษามิตรภาพอันดีต่อกันมายาวนานเอาไว้ ตลอดจนรักษาความร่วมมืออันดีระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศและ ร่วมกันหามาตรการชั่วคราว ลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้น เนื้อความของจดหมายฉบับนี้ สมเด็จฮุน เซน ได้แนะนำ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนกรรมการเจรจาพิเศษ เรื่องพรมแดนกับฝ่ายไทยที่จังหวัดสระแก้ว พร้อมทั้งแนะนำตัว ฯพณฯ วาร์ คิม ฮง ประธานคณะกรรมการชายแดนร่วมกัมพูชากับไทย หรือเจบีซี ร่วมการหารือกับฝ่ายไทยเพื่อบรรลุจุดประสงค์ให้เร็วที่สุดเท่าที่ดำเนินการได้
ชี้แจงถึงพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา
ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาใคร่ชี้แจงถึงกรณีวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระในพื้นที่พิพาท ตั้งอยู่ใน “แผนที่ผนวกฉบับที่ 1” หรือ ANNEX I MAP ซึ่งถูกใช้พิจารณาโดยศาลระหว่างประเทศ หรือไอซีเจ เมื่อปี 2505 โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตแดนกัมพูชาเข้ามาราว 700 เมตร ซึ่งแผนที่ผนวกฉบับที่ 1 ที่ศาลระหว่างประเทศใช้พิจารณานี้ ถูกร่างขึ้นตั้งแต่ปี 2451 จากผลการหารือโดยคณะกรรมการปักปันชายแดนอินโดจีนกับประเทศสยาม บนพื้นฐานอนุสัญญาฉบับปี 2447 และสนธิสัญญาฉบับฝรั่งเศสกับประเทศสยามเมื่อปี 2450 ซึ่งราชอาณาจักรสยามได้ยอมรับไปแล้ว ด้วยเหตุผลนี้ศาลระหว่างประเทศหรือไอซีเจ จึงได้แสดงความชัดเจน ถึงความชอบธรรมเหนือเส้นเขตแดนดังกล่าวตาม “แผนที่ผนวกฉบับที่ 1” ซึ่งสมเด็จฮุน เซน หวังอย่างยิ่งว่าฝ่ายไทยและกัมพูชาจะสามารถบรรลุผลแห่งความพึงพอใจและคลี่คลายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นลงได้
สื่อต่างประเทศเกาะติดการประชุม
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา วาระพิเศษ ที่โรงแรมอินโดจีน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ครั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศเฝ้าเกาะติดรายงานความพยายามเจรจาคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียด บริเวณพื้นที่ทับซ้อนใกล้ประสาทพระวิหาร โดยคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยกับกัมพูชาที่จังหวัดสระแก้ว ระบุมีสัญญาณความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยและอาจไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งได้โดยเร็ว แม้ว่าคณะผู้แทนเจรจาทั้งสองฝ่ายต่างมีท่าทียอมรับเหตุผลของกันและกัน ทั้งยังหวังเร่งคลี่คลายความตึงเครียดบริเวณชายแดนลงโดยเร็ว
กล่าวหาทหารไทยยั่วยุรุกล้ำแดน
พลจัตวาเจีย เขียว ผู้บัญชาการกองกำลังทหารกัมพูชาในจังหวัดพระวิหาร กล่าวให้ทรรศนะว่า การเจรจาระหว่างฝ่ายกัมพูชากับไทยคงไม่คืบหน้ามากนัก เพราะฝ่ายไทยยังยืนกรานว่าพื้นที่บริเวณใกล้ปราสาทพระวิหารเป็นของไทยและยังมีทหารไทยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนนายเซีย โกสัล เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำสหประชาชาติ ระบุฝ่ายกัมพูชาพยายามอดทนอดกลั้น หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารในพื้นที่พิพาท แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทหารไทยกำลังพยายามยั่วยุรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินกัมพูชา ขณะที่นายเขียว กันหาริธ โฆษกรัฐบาลกัมพูชาและรัฐมนตรีกระทรวงสารนิเทศ ก็ระบุไม่คิดว่าการเจรจาคลี่คลายความขัดแย้งครั้งนี้จะยุติลงโดยง่าย แต่อย่างน้อยสถานการณ์ตึงเครียดก็ผ่อนคลายลงระดับหนึ่ง เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นพ้องแก้ปัญหาด้วยการนั่งคุยกันวันเดียวกันนี้ เวทีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนประจำปี ที่สิงคโปร์ นักการทูตฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างให้คำมั่นต่อที่ประชุมว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องพรมแดนกันอย่างสันติ
สื่อเทศชี้การประชุมล้มเหลว
ต่อมาช่วงค่ำสำนักข่าวต่างประเทศรายงานผลการเจรจาคลี่คลายความขัดแย้งพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ระหว่างฝ่ายไทยกับกัมพูชาที่นานเกือบ 8 ชั่วโมง ว่า จบลงด้วยความล้มเหลว เพราะต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในจุดยืนของตัวเอง โดยแต่ละฝ่ายจะนำปัญหาข้อกฎหมายปรึกษากับรัฐบาลของแต่ละประเทศ ก่อนดำเนินการแก้ ปัญหาขั้นต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างเห็นพ้องจะไม่ใช้กำลังทหารแก้ปัญหาแต่ชาวบ้านแถบพื้นที่พิพาทต่างหวั่นเกรงอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ
ให้อาเซียนช่วยผ่าทางตัน “เขาพระวิหาร”
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานอ้างคำกล่าวนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่ระบุในระหว่างพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนว่า สถานการณ์ปมขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ขยายขอบเขตอย่างน่าหวาดหวั่น หากอาเซียนยังนิ่งเฉยอยู่ ก็คงหนีไม่พ้นจะสูญเสียความน่าเชื่อถือได้ โดยที่ประชุมอาเซียน นอกจากขอให้ไทยกับกัมพูชาอดกลั้นแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีแล้ว ยังเสนอให้การช่วยเหลือเพื่อผ่าทางตันเหตุขัดแย้งดังกล่าวด้วย ขณะที่เอพีระบุ แม้ผลการเจรจาของฝ่ายไทย-กัมพูชา แก้ข้อพิพาทพรมแดนไม่คืบหน้าอะไรมาก แต่นายเตีย บันห์ รมว.กลาโหมกัมพูชา กลับเห็นว่าการเจรจามีความคืบหน้า แต่ยอมรับความตึงเครียดยังมีอยู่สูง
มท.1 ปิดปากคนไทยตีกันที่ศรีสะเกษ
อีกด้านหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อเวลา 12.00น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา กรณีเขาพระวิหาร ที่ทำให้เกิดการปะทะระหว่างคนไทยด้วยกัน ที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ว่า ขอไม่แสดงความเห็น เพราะไม่ได้ ดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น และเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวถามถึงการเตรียมความพร้อม ในการอพยพประชาชนตามแนวชายแดนหากมีเหตุการณ์รุนแรง รมว.มหาดไทยตอบว่า ผวจ.ศรีสะเกษได้รายงานว่าไม่มีปัญหา ข่าวที่ออกไปอาจจะรุนแรงและหวือหวา แต่เนื้อหาจริงๆไม่ใช่ ไม่มีปัญหารุนแรงเหมือนที่เป็นข่าวและรับปากว่าจะดูแลสถานการณ์ได้ เมื่อถามว่า หากการเจรจาร่วมไทย-กัมพูชาไม่ได้ผลที่น่าพอใจ อาจจะเกิดการเคลื่อนไหวของมวลชนกดดัน เหมือนที่มี 3 คนไทยบุกเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ รมว.มหาดไทยตอบว่า คงไม่พูดถึงรายละเอียดในเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่เชื่อว่าเขมรกับไทยยังมีความสัมพันธ์ที่ดี ความรุนแรงคงไม่เกิด แต่ความพึงพอใจของแต่ละฝ่าย กำหนดกฎเกณฑ์คงไม่ได้ ถ้าพูดไปก็อาจจะหาว่ารู้มากเกินไป
กรรมาธิการแห่ลงพื้นที่ข้อพิพาท
นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ประธาน กมธ.กิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังจากที่ได้เชิญอธิบดีกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ และเจ้ากรมกิจการทหารบก มาชี้แจงในเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ทำให้ทราบว่ายังมีพื้นที่ที่ไทยมีปัญหาทับซ้อนกับกัมพูชาอยู่อีก 6 จุดด้วยกัน ที่จะต้องมีการเจรจาเพื่อพิสูจน์สิทธิ ด้วยการตั้งคณะกรรมการชายแดนร่วมกัน จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปักปันเขตแดน เพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชา โดยในวันพฤหัสฯที่ 24 ก.ค.นี้ กรรมาธิการจะลงพื้นที่ชายแดนจ.ศรีสะเกษ ที่กำลังมีปัญหาและดูกิจการ ทางช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี เพื่อรับทราบถึงปัญหาอุปสรรคในพื้นที่ด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาด้วยว่า หลังจากเกิดสถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ปรากฏว่าบรรดากรรมาธิการทั้งของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรหลายคณะ อาทิ กมธ.การต่างประเทศ และ กมธ.กิจการชายแดนคณะของ ส.ว. ได้มีกำหนดที่จะเดินทางลงพื้นที่เพื่อฟังสรุปข้อมูลจาก ผวจ.ศรีสะเกษ และเยี่ยมดูพื้นที่ที่มีข้อพิพาทด้วย
อัดรัฐบาลไทยเฉยปัญหาเขาพระวิหาร
ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต รองประธานคณะกรรมาธิการ การต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาปราสาทพระวิหาร ว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้ง เรื่องการประกาศยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศแคนาดา จนทำให้สถานการณ์ชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา เกิดความตึงเครียดเสี่ยงต่อความมั่นคง ที่ทหารทั้ง 2 ฝ่ายตรึงกำลังบริเวณชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดการกระทบกระทั่งสถานการณ์อาจบานปลายได้ ขณะนี้กัมพูชาได้ทำจดหมายถึงยูเอ็นให้เข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ถือว่าเขาฉลาดที่วางแผนการกันล่วงหน้า ทำให้ไทยตกเป็นฝ่าย เสียเปรียบตลอด ความจริงเรื่องนี้ควรคุยเฉพาะไทยกับ กัมพูชา หรือในกลุ่มประชาคมอาเซียน แต่เขากลับไปฟ้องโลก ฟ้องยูเอ็น ทำให้คนที่ฟ้องก่อนได้เปรียบ ไทยต้องเดินตามเขาต้อยๆ คอยแก้ปัญหา คาดว่าแผนต่อไป คือการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งกรรมการร่วมอีก 6 ประเทศ มีความใกล้ชิด และเคยเป็นกรรมการบริหารปราสาทนครวัดนครธมมาก่อน ซึ่งอาจมีการลุกล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่ทับซ้อน ทำให้ไทยไม่มีสิทธิเหนือดินแดนของตนได้
“รัฐบาลไทยต้องยืนยันว่าเป็นเรื่องภายใน อย่าให้ ยูเอ็นเข้ามายุ่งเด็ดขาด เมื่อเราทำทุกอย่างแล้วยังเสียเปรียบอยู่ มาตรการสุดท้ายคือ การประกาศปิดทางขึ้นปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นพื้นที่ของประเทศไทย ตรงนี้ถือเป็นอำนาจต่อรองของเราเพียงอย่างเดียว เมื่อเราปิดทางขึ้นเขาเด็ดขาด ทางกัมพูชาจะดำเนินการอย่างไรก็ช่างเขา เพราะทางขึ้นเขาเป็นพื้นที่ของเรา” ม.ร.ว.ปรียนันทนากล่าว
จำลองไม่อยากเห็น “นองเลือด”
ในส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯนั้น ตอนสายวันเดียวกัน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กองทัพธรรม จ.ศรีสะเกษ ได้ส่งข่าวมาว่า ทหารไทยวิกฤติหนัก เพราะขาดแคลนข้าวเหนียวและอาหารกระป๋อง ว่า หากผู้ใดประสงค์จะบริจาค อาหารดังกล่าว ให้บริจาคได้ที่เต็นท์กองทัพธรรม เมื่อได้ มากพอจะนำไปให้ที่เขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ต่อไป ส่วนการประชุมไทย-กัมพูชา วาระพิเศษนั้น การจะรบราฆ่าฟันมันไม่ยาก แต่จะสูญเสียเลือดเนื้อด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ตนไม่หวังว่าผลการประชุมจะได้อะไรมากมาย แต่ถ้าหากการประชุมในครั้งนี้ยังไม่สำเร็จลุล่วงไป ก็คง จะมีการประชุมครั้งหน้าต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม ควรจะหลีกเลี่ยงการปะทะกัน หากปะทะกันต่างฝ่ายต่างมีอาวุธ ทุกฝ่ายควรจะคิดว่าทำอย่างไรถึงจะหลีกเลี่ยงการปะทะกันให้มากที่สุด การหารือก็ดีว่าใช้กำลัง
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์