ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 ก.ค. นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นำสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และพยานหลักฐานคดีภาษีสรรพสามิต จำนวน 3 ลัง 20 แฟ้ม รวม 19,933 แผ่น พร้อมความเห็นของนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ที่สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัด การหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสีย หายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 100, 122 ยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฯ
ระบุเครือญาติถือหุ้นได้ประโยชน์
ตามโจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 ก.พ.44-วันที่ 8 มี.ค.48 และระหว่างวันที่ 9 มี.ค.48-วันที่ 19 ก.ย.49 จำเลยได้ฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ซึ่งบริษัทชินคอร์ปฯเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด บริษัทชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทุกบริษัทล้วนเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐและเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ โดยจำเลยอำพรางการถือหุ้นไว้ ด้วยการให้บริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด บริษัท วินมาร์ค จำกัด ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นของจำเลย โดยมี นายพานทองแท้ ชินวัตร น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรและธิดา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคู่สมรส มีชื่อถือหุ้นแทน
ชัดเจนแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์
นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 9 ก.พ.44-วันที่ 19 ก.ย. 49 ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ได้เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการโทรคมนาคมด้วยการกระทำการ สั่งการตามอำนาจหน้าที่ให้มีการแปลงค่าสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมให้เป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจของ บมจ.ชินคอร์ปฯ โดยค่าสัมปทานดังกล่าว บมจ.แอดวานซ์ฯ บมจ.ดิจิตอลโฟนฯ ที่ บมจ.ชินคอร์ปฯ ถือหุ้นใหญ่ มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยมอบนโยบายและสั่งการให้ออก พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) ลงวันที่ 28 ม.ค. 2546 และมติ ครม. วันที่ 11 ก.พ. 2546 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม และให้นำค่าสัมปทานหักกับภาษีสรรพ-สามิต โดยการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายแก่ รัฐ กระทรวงการคลัง กระทรวงไอซีที บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท รวมทั้งบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้อง
ทำหน่วยงานรัฐเสียหาย 4.1 หมื่นล้าน
โดยทำให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท ที่เป็นคู่สัญญานำค่าภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากค่าสัมปทาน ทำให้เสียหายจำนวน 41,951.68 ล้านบาท และจำนวน 25,992.08 ล้านบาท นอกจากนี้ จำเลยยังไม่กำหนดให้ จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้งที่เป็นกิจการโทรคมนาคม และเป็นกิจการที่ บมจ.ชินคอร์ปฯ ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการใช้อำนาจของจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต เหตุตามฟ้องเกิดที่แขวง-เขตดุสิต และแขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.
ยันพยานหลักฐานมีน้ำหนักเพียงพอ
คดีนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที มีหนังสือลงวันที่ 29 พ.ย. 49 ถึงประธาน คตส. ตรวจสอบการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราสรรพสามิต ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลที่มีจำเลยเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง คตส.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานที่ตรวจสอบมาพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาจำเลย ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ให้บุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นแทนใน บมจ.ชินคอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม.100, 122 และ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 จึงเสนอ คตส.ซึ่งได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบ ต่อมาจำเลยได้ชี้แจงข้อกล่าวหาโดยให้การปฏิเสธ
ร้องขอให้นับโทษต่อจากคดีที่ดินรัชดา
โดยจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.1/2550 (คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก) ของศาลฎีกาฯ ซึ่งคดีนี้โจทก์มีนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ขณะนั้น) นายสัญญา วรัญญู นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นพยานยื่นยันการถือหุ้นและปิดบังอำพรางการถือหุ้นของจำเลยใน บมจ.ชินคอร์ป และมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่มนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายสมหมาย ภาษี เป็นพยานยืนยันการแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตและบุคคลอื่น ประกอบพยานเอกสารที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ โดยโจทก์ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษ จำเลยตามกฎหมาย และขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายดำที่ อม.1/2550 ของศาลฎีกาฯด้วย
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงการยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า คดีนี้อัยการสูงสุดได้รับมอบสำนวนจาก คตส. เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 51 ที่ผ่านมา โดยเมื่ออัยการเห็นว่าสำนวนคดีดังกล่าวมีความสมบูรณ์เพียงพอ อัยการสูงสุดจึงได้สั่งฟ้องและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ โดยเมื่อยื่นฟ้อง แล้วศาลฎีกาฯ นัดฟังคำสั่งจะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.
ตีกลับตั้ง กก.ร่วมฟันคดีท่อร้อยสาย
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงว่า การพิจารณาสำนวนของ คตส.คดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าและเครือข่ายท่อร้อยสายสนามบินสุวรรณภูมินั้น คตส.ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งคดี ซึ่งมีผู้กล่าวหารวม 21 คน คือ 1. ข้าราชการ 2. เจ้าหน้าที่ของบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) และ 3. บริษัทเอกชน อย่างไรก็ดี อัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าคดียังมีข้อไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงเสนอข้อไม่สมบูรณ์ไปที่ ป.ป.ช. ซึ่งทำหน้าที่รับสำนวนต่อจาก คตส.แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาสำนวนร่วมกัน โดยรายละเอียดความไม่สมบูรณ์ในสำนวนนั้นมีอยู่หลายประเด็น ทั้งนี้ จะพยายามพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ส่วนที่มีข่าวว่าอัยการสูงสุดสั่งให้อัยการถอนตัว ไม่ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.ในการตั้งคณะกรรมการร่วมนั้น ไม่เป็นความจริง และยืนยันว่าหากคดีที่สำนวนสมบูรณ์ อัยการจะยื่นฟ้องต่อศาลทันที
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์