หลังจากที่นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ออกมาระบุว่า รัฐบาลชุดที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยไปตกลงสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลก มาก่อนหน้าที่รัฐบาลชุดนี้จะดำเนินการต่อ ทำให้หลายฝ่ายต้องออกมาโต้แย้งในเรื่องนี้ ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่แกนนำกลุ่มฯ ได้เสนอแนวคิดรูปแบบการเมืองใหม่ ที่ให้มี ส.ส.มาจากการเลือกตั้งเพียง 30% ส่วนอีก 70% มาจากตัวแทนของภาคประชาชน และยังกำหนดบทบาทให้ทหารมีอำนาจคุมเกมการเมืองได้ เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหลากหลาย
นพดลไปแคนาดาแล้ว
ความคืบหน้าเรื่องเขาพระวิหาร เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 5 ก.ค. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ พร้อมคณะ ออกเดินทางไปยังเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 โดยนายนพดลให้สัมภาษณ์ก่อนออก เดินทางว่า จะไปคัดค้านเพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลก เลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ขอยืนยันจะปกป้องประโยชน์ประเทศและจะทำทุกวิถีทาง ทำให้ดีที่สุดอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถรับประกันการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกได้ เพราะเบื้องต้นทราบว่าทางกัมพูชาได้ล็อบบี้ไว้บางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้กำชับเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชาให้ดูแลคนไทย และขอความร่วมมือจากกัมพูชาให้ดูแลสถานทูตไทย หากเกิดความวุ่นวายขึ้นในกัมพูชา
“บุญสร้าง” ออกโรงป้อง “สุรยุทธ์”
ในเวลา 08.30 น. พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ลับ ลวง พราง ทางคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิรตซ์ ถึงเรื่องที่นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ระบุว่ารัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ไปตกลงสนับสนุนกัมพูชาให้ ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เกรงว่ายูเนสโกจะใช้กรณีนี้เป็นข้ออ้างว่า เท่าที่ทราบมีเรื่องอยู่ แต่ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรมาก มีน้อยมาก ยังไม่ได้ลงลึก แทบจะไม่มีเรื่องผ่านมาทางกรมแผนที่ทหารเลย ในช่วงนั้นไม่ได้ลงลึกมากมายเพราะเป็นขั้นต้น และอดีตรัฐบาลก็ชี้แจงไปว่ายังมีการล้ำดินแดนมาก เราน่าจะแก้ไขปัญหาปัจจุบันมากกว่าแทนที่จะย้อนกลับไปดูเรื่องเก่าๆ ทำวันนี้ให้ดีที่สุดกับอนาคตของเราดีกว่า
เผยเขมรใช้แผนที่ฝรั่งเศสขึ้นทะเบียน
ต่อข้อถามว่า มีรายงานว่ากัมพูชาใช้แผนที่ของฝรั่งเศสในการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่าใช่ ซึ่งเราไม่ได้เห็นด้วย แต่เขาจะใช้ เราไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับเขา ถ้ามีอำนาจบังคับเขาได้ เราก็จะใช้แผนที่เรา เขาก็ไม่เอาด้วย แต่เรื่องปัญหาตามแนวชายแดน ก็เป็นที่เข้าใจว่าเราก็ใช้ของเรา เขาก็ใช้ของเขา เพราะฉะนั้นพื้นที่ต่างๆที่ไม่ใช่ประสาทพระวิหารที่มีอยู่รอบประเทศ เราได้ทำเอ็มโอยูเอาไว้เป็น 10 กว่าปีมาแล้วว่า ตรงไหนที่เขาระบุว่าเป็นของเขา เราก็ระบุว่าเป็นของเรา จะดำเนินการอย่างไร แต่ปราสาทพระวิหารมีความซับซ้อนกว่าที่อื่น มีความเกี่ยวข้องกับศาลโลกด้วย จึงมีความเข้าใจยากพอสมควร
เตือนทหารอย่าก้าวก่ายเรื่องคนอื่น
เมื่อถามว่า หากทหารไม่เห็นด้วย ทำไมก่อนหน้านี้จึงไปแถลงข่าวร่วมกับรัฐบาล พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า คงไปนั่งๆอย่างนั้น ตนไม่ทราบรายละเอียดว่าที่เขาให้ไปนั้นไปทำอะไรบ้าง เมื่อถามว่า ที่ให้ไปนั่งเพื่อเป็นตัวประกันจริงหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า บอกเขาไปว่าให้ทำหน้าที่เฉพาะหน้าที่ของเรา อย่าไปก้าวก่ายเรื่องผู้อื่นหรือรับเรื่องของหน่วยงานอื่น จะทำให้คนสับสนว่าทหารมีหน้าที่ทำอะไร เมื่อถามว่า ท่านเป็นคนเดียวที่ออกมาพูดเรื่องเขาพระวิหาร มีผลกระทบอะไรหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ไม่มี ตนเป็นประชาชนก็ต้องมีความห่วงบ้านเมือง ในกรอบจริงๆพูดได้ แต่ที่ไม่พูดเป็นเพราะเรามีหมวกในการเป็นผู้บังคับบัญชาทหารอยู่อีกใบ ตามปกติจะไม่พูดนอกจากเรื่องที่พูดแล้วได้ประโยชน์ ถ้าไม่มีประโยชน์ไม่พูดอยู่แล้ว
ยันไม่รู้เรื่อง “สุดารัตน์” ร่วมงานบุญ
พล.อ.บุญสร้างยังกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาโจมตีเรื่องงานทำบุญมหาสังฆทาน ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ร่วมอยู่ด้วย มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง จนในที่สุดต้องเลื่อนการจัดงานออกไปว่า มีหรือไม่มีไม่ทราบ ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ และไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับคุณหญิงสุดารัตน์ เพิ่งรู้ภายหลัง คนขอก็พูดในแง่ประเด็นหลัก คือการทำบุญเพื่อพระเจ้า อยู่หัว เป็นการถวายสังฆทานใหญ่ อะไรที่ได้เราก็ส่งไปช่วยภาคใต้ถือเป็นความคิดที่ดี ส่วนคนที่มาร่วมด้วยตนไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง คนที่มาติดต่อเพียงแต่บอกว่ามีคนเยอะมากที่จะมาร่วมทำบุญ ช่วยเป็นหัวให้หน่อย ตนก็ยินดี ส่วนจะเลื่อนการจัดงานไปอีกนานแค่ไหนนั้น ไม่ทราบ เมื่อถามว่า ได้ตั้งข้อสงสัยว่าคุณหญิงสุดารัตน์ จะเข้ามาตีสนิทกับเตรียมทหารรุ่น 6 โดยเฉพาะ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. และประธานเตรียม ทหารรุ่น 6 พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ไม่ทราบ รู้แต่ว่าที่ท่านมาเกี่ยวข้องก็เรื่องทำบุญ ก่อนหน้านั้นก็มางานเลี้ยงรุ่น ส่วนจะเป็นความพยายามบางอย่างที่ต้องการมาใกล้ชิดกับทหารหรือไม่นั้น ตนไม่รู้เรื่องพวกนี้
กุนซือ “สุรยุทธ์” สวนหมัด “นพดล”
ขณะเดียวกัน พล.อ.วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวถึงกรณีที่นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ระบุว่า รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์เคยไปตกลง กับกัมพูชาว่า ประเทศไทยจะสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชาว่า รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ได้สนับสนุนกัมพูชา เพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจริง แต่เรายินยอมที่จะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันเท่านั้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสม หากมีการขึ้นทะเบียนร่วมกัน แต่ภายหลังประเทศกัมพูชาได้ไปเสนอขอขึ้นทะเบียนเพียงฝ่ายเดียว รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ได้ทำเรื่องประท้วงและคัดค้านการกระทำของกัมพูชา ทำให้ยูเนสโกให้ทั้งไทยและกัมพูชามาตกลงกัน จนล่าสุดนายนพดลได้ไปเซ็นลงนามร่วมกับกัมพูชา นายนพดลทำผิดหลายข้อ ถือว่าไม่รอบคอบ รีบร้อนที่จะเซ็นเพื่อผลประโยชน์ ความจริงควรจะพูดกันมากกว่านี้ ตกลงในรายละเอียดให้แน่ชัด จึงจะเซ็นร่วมกันได้
เผยตอนนี้ไทยเสียเปรียบเขมร
พล.อ.วัธนชัยกล่าวด้วยว่า นายนพดลรู้เท่าไม่ ถึงการณ์ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการเซ็นเพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเท่านั้น ไม่ได้เป็นการยินยอมให้ขึ้นทะเบียนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่การเซ็นสัญญาร่วมกันระหว่างประเทศครั้งนี้ ถือเป็นสนธิสัญญาซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่นายนพดลไปร่วมลงนามก่อนที่รัฐสภาจะรับทราบ จึงเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ความจริงเป็นสิทธิของไทย ที่จะไม่ยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะตามหลักเกณฑ์ การขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุเป็นมรดกโลกจะต้องได้รับความเห็นร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ และขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้ง 2 ประเทศ แต่เมื่อนายนพดลเซ็นลงนามร่วมไปแล้วคงแก้ไม่ได้ ตอนนี้ถือว่าทางกัมพูชาได้เปรียบเรา ไทยจึงต้องรีบไปชี้แจงต่อยูเนสโก โดยต้องเอาคำสั่งศาลไปชี้แจงด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กัมพูชาได้ล็อบบี้คณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศไปแล้ว ทำให้เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
“อภิสิทธิ์” ซัด “นพดล” บิดเบือน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ได้ไปให้ถ้อยคำกับศาลรัฐธรรมนูญและให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับบทบาทของตัวเองในเรื่องปราสาทพระวิหาร แต่พบว่ามีข้อบิดเบือนหลายประการ และข้อพิรุธที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งได้มีการอ้างอิงว่าในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปีที่แล้ว ได้มีการตกลงกันไปเรียบร้อยที่จะให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ มติของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก หากอ่านให้ครบถ้วนจะปรากฏคำที่บอกว่าทั้ง 2 ประเทศ ได้ตกลงกันที่จะให้กัมพูชาเป็นผู้เสนอ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีการสนับสนุนจากฝ่ายไทยอย่างชัดเจน โจ่งแจ้ง ข้ออ้างที่บอกว่าเรื่องนี้มันจบมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงไม่เป็นความจริง แต่ก็มาสะดุดอยู่ว่าเหตุผลอะไรที่ยูเนสโกตอบหนังสือทักท้วงของ ส.ว.ว่า รมว.ต่างประเทศได้ไปลงนามในเอกสารฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งก็คือการลงนามในแถลงการณ์ร่วมที่มีมติ ครม.วันที่ 17 มิ.ย. และมาเซ็นเต็มที่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ซึ่งวันที่ 22 พ.ค. มีความสำคัญมาก
ยันกัมพูชาอ้างลายเซ็นนพดล
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ได้กำหนดเป็นตารางเวลาไว้ชัดเจนว่าขั้นตอนต่างๆ จะต้องทำอย่างไร ประเทศที่ต้องการขึ้นทะเบียน คือกัมพูชาต้องส่งเอกสารไปยังองค์กรที่ปรึกษา เพื่อสรุปเอกสารทั้งหมดเข้าสู่การประชุม ที่น่าสนใจคือเส้นตายเส้นสุดท้ายเกี่ยวกับการนำเอกสารเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ตามข้อบังคับของกรรมการมรดกโลก คือ 6 สัปดาห์ก่อนประชุม ถ้าการประชุมเริ่มต้นวันที่ 2 ก.ค. นับถอยหลังไป 6 สัปดาห์ จะพบว่าวันสุดท้ายที่จะสามารถรวบรวมเอกสารเสนอเข้าสู่ที่ประชุมได้คือวันที่ 22 พ.ค. ฉะนั้น การที่นายนพดลเดินทางไปลงนามเป็นอักษรย่อเมื่อวันนั้น เป็นเอกสารเดียวที่จะทำให้กัมพูชานำไปอ้างอิงในการประชุม เนื่องจากคณะขององค์กรที่ปรึกษาก็จะรวบรวมเอกสารไปยืนยันว่าประเทศ ไทยให้การสนับสนุน
ไม่ควรโยนผิดให้คนอื่น
“ผมไม่ทราบว่าการที่ไปลงนามในวันที่ 22 พ.ค. ได้แรงบันดาลใจจากที่ไปเปิดถนนที่เกาะกงเมื่อวันที่ 24 พ.ค.หรือไม่ มีอะไรแลกเปลี่ยนหรือไม่ แต่สิ่งที่มันผิดปกติก็คือว่ามีความจำเป็นอะไรที่ทางฝ่ายไทยจะต้องไปลงนามผูกมัดตัวเองในระดับหนึ่ง เพียงพอที่จะให้การนำเสนอเอกสารเข้าสู่ที่ประชุมของฝ่ายกัมพูชาเกิดความสมบูรณ์ ทั้งๆที่ยังไม่มีมติ ครม. และสาระของเอกสารในวันที่ 22 พ.ค. เป็นสาระเดียวกัน โดยที่นายนพดล ยังไม่ได้ให้มีการตรวจสอบแผนที่และการกำหนดพื้นที่ต่างๆเลย รมว.ต่างประเทศควรจะต้องบอกความจริงให้ ประชาชนทราบ ไม่ควรไปโยนความผิดไปให้คนอื่น หรือเสนอข้อมูลที่ขัดแย้งกับสมุดปกขาว ที่กระทรวงทำออกมาเผยแพร่ ดังนั้น เอกสารฉบับนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่คณะกรรมการมรดกโลกจะตัดสินว่าจะยอมรับข้อเสนอของกัมพูชาหรือไม่ จึงเป็นความรับผิดชอบของนายนพดลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความจริงได้เสนอมาตั้งแต่แรกว่าให้เปลี่ยนตัว รมว.ต่างประเทศเร็วที่สุด แต่นายกฯก็ไม่ทำ ดังนั้น นายกฯก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ซึ่งถ้าผมเป็นนายกฯก็ปรับไปนานแล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ห่วงสถานการณ์ไทย-เขมร
ด้านนายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ภายหลังเดินทางไปร่วมประชุม คณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 32 ที่เมืองคิวเบก ประเทศแคนาดา ว่า การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมพิจารณาเกี่ยวกับ การบริหารจัดการมรดกโลก ที่ได้รับการขึ้นบัญชีในภาวะ เสี่ยงอันตราย จำนวน 31 แห่ง ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีแหล่งมรดกโลกของไทยถูกขึ้นบัญชีในภาวะเสี่ยงอันตราย เช่น อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ได้มีการพบปะนอกรอบ กับคณะผู้แทนประเทศต่างๆ เช่น เกาหลี โมร็อกโก และสหรัฐฯ เขาบอกว่า ได้รับเชิญจากรัฐบาลกัมพูชา ให้ไปเยี่ยมชมปราสาทพระวิหาร จึงทำให้ ได้รับข้อมูลจากมุมมองของฝ่ายกัมพูชาฝ่ายเดียว ฝ่ายไทยได้ชี้แจงให้คณะผู้แทนเหล่านี้ได้เข้าใจ และให้ความสำคัญในเชิงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสมควรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา
“คณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศ และยูเนสโก ได้รับเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย ลงนามโดยนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ แจ้งให้ทราบถึงคำสั่งศาลปกครองที่ให้คุ้มครองชั่วคราว ซึ่งห้ามไม่ให้ใช้แถลงการณ์ร่วม ประกอบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา นอกจากนี้คณะกรรมการหลายคนเข้าใจและแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ และพยายามหาข้อยุติ ที่จะไม่กระทบ กระเทือนความสัมพันธ์ของไทยกับกัมพูชา” นายปองพล กล่าว
เรียกร้องมณฑลบูรพาคืน
ในส่วนความเคลื่อนไหวตามแนวชายแดน ที่อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ตอนสายวันเดียวกัน กลุ่มสหธรรมมิกประชาธิปไตยจากหลายท้องที่ ประมาณ 200 คน มารวมตัวกันที่ผามออีแดง พร้อมกับเปิดการปราศรัยเรื่องเขาพระวิหาร จากนั้น นายสมาน ศรีงาม ได้นำคณะเผาข้อตกลงไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ. 2489 และอ้างว่าจะใช้สนธิสัญญาโตเกียว 1941 ในการเรียกร้องมณฑลบูรพาคืน ก่อนเคลื่อนพลไปที่บ้านทรงไทย บริเวณถนนหน้าค่ายทหารพรานผามออีแดง โดยมีตำรวจจาก สภ.กันทรลักษ์ กว่า 50 นายมาคอยดูสถานการณ์ ต่อมา พ.ต.ท.ทิพพงษ์ ทิพยเกสร สวญ.สภ.บึงมะลู อ.กันทรลักษ์ พ.ต.อ.วัฒนา เงินหมื่น รอง ผบก.ภ.จ.ศรีสะเกษ และ พ.อ.ธัญญา เกียรติสาร ผบ.กรมทหารพรานที่ 23 ได้เข้าเจรจากับผู้ชุมนุม และให้ย้ายไปที่สำนักงานจุดผ่อนปรนเขาพระวิหาร พร้อมปักธงชาติไว้บนบ้านและตามถนน
กัมพูชาเสริมกำลังทหาร
จากนั้น นายสมานได้เชิญผู้มาประชุมจัดตั้งเป็นสมัชชาแห่งชาติกอบกู้รักษาอธิปไตยของชาติ พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 4 ประการ คือ 1. ให้ผลักดันชาวกัมพูชาออกไปจากเขตแดนไทย 2. ให้รัฐบาลทบทวนการรับรองให้กัมพูชานำปราสาทเขาพระวิหารเสนอเป็นมรดกโลก 3. ให้รัฐบาลกำหนดปักปันเขตแดนให้ชัดเจนและทวงเขาพระวิหารคืนมาเป็นของไทย โดยพูดผ่านรถที่ติดเครื่องเสียงดังไปถึงตลาดกัมพูชา ซึ่งมองไปยังเขาพระวิหารจากปราสาทหลังที่ 1 ไปตามถนนสู่ปราสาทหลังที่ 2 จะมองเห็นชาวกัมพูชาจับกลุ่มกันมองดูกิจกรรมของผู้ชุมนุม แหล่งข่าวทางทหารแจ้งว่ากัมพูชาได้เสริมกำลังทหารมาที่เขาพระวิหารจำนวนมาก เพื่อคอยป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์