กรณี ร.ต.อ.ณัฏฐ์ ชลนิธิวณิชย์ นรต.55 สังกัด ตชด.ที่ 42 จ.นครศรีธรรมราช ช่วยราชการ กก.ตชด.ที่ 41 จ.ชุมพร ตั้งแก๊ง ตชด.นอกรีตตระเวนอุ้มเหยื่อยัดยาบ้าเรียกเงินค่าไถ่จนฉาวโฉ่ไปทั่ววงการสีกากี มีผู้เสียหายที่ตกชะตากรรมกลายเป็นแพะติดคุกคดียาเสพติดโผล่ออกมาแฉพฤติกรรมชั่วจำนวนมาก ความคืบหน้าเมื่อเที่ยงวันที่ 3 ก.พ. นางเพียงจิต พึ่งอ้น อายุ 42 ปี อดีตภรรยานักธุรกิจโรงงานกางเกงยีน พร้อมลูกชายวัย 10 ขวบ ที่ตกเป็นเหยื่ออุ้มเรียกค่าไถ่ 8 ล้านบาท เดินทางเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน อัยการ นักจิตวิทยา และผู้เกี่ยวข้องในสหวิชาชีพตามขั้นตอนของกฎหมายเด็กและเยาวชน เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ได้ซักถามลูกชายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง หลังจากนั้น พ.ต.ท.เทพประทาน นิพิวรรณ์ พนักงานสอบสวน (สบ 2) ร.ต.ท.ประภาส หยงสตาร์ พนักงานสอบสวน (สบ 1) ได้นำทั้งคู่ไปชี้อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น เลขที่ 701/106-107 หมู่ 5 ซอยเพชรเกษม 42 แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ กทม. ซึ่งเป็นจุดที่ ร.ต.อ.ณัฏฐ์ นำมาขังไว้บนชั้น 2 เป็นเวลาค่อนคืน ก่อนพาไปทำธุรกรรมโอนเงินตามจุดต่างๆ แล้วถึงพากลับไปยังห้องพักอารีย์เรสซิเดนท์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ 1 เพื่อปล่อยตัวตามข้อตกลง
ระหว่างทำแผนชี้จุดประกอบสำนวนคดีอุ้มเรียกค่าไถ่ ได้มีนางอารดา อินทวิรัตน์ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 254/54 หมู่ 5 ต.สนามไชย อ.เมืองสุพรรณบุรี อ้างว่าเป็นคนดูแลอาคารดังกล่าวแทนนายมนัส ประจักษ์จิตร์ น้องเขยที่ถูกจับกุมคดียาเสพติดเมื่อปี 50 ทิ้งให้นางวาสนา ประจักษ์จิตร์ ภรรยาอยู่กับบุตรชายอีก 3 คนตามลำพัง ตนจึงมาช่วยดูอยู่เป็นเพื่อนน้องสาว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา นางวาสนาหายออกจากบ้านและไม่สามารถติดต่อได้ ทั้งๆที่เพิ่งคลอดลูกวัย 3 เดือนเศษ เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่แก๊ง ตชด.ถูกจับพอดี จึงห่วงว่าน้องสาวอาจเข้าไปพัวพันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือตกอยู่ในอันตราย เลยเตรียมตัวจะไปแจ้งความ สน.ภาษีเจริญให้ช่วยติดตามหาตัวน้องสาวที่ยังไม่ทราบชะตากรรมด้วย
ที่ห้องประชุมกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 จ.สุราษฎร์ธานี วันเดียวกัน พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วย ผบ.ตร.และโฆษก ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.ธานี ทวิชศรี ผบช.ภ.8 และ พล.ต.ต.เทศา ศิริวาโท ผบก. ภ.จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกับนางนงภรณ์ รุ่งเพชรวงศ์ ผอ.กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม นางวันเพ็ญ แก้วทนาสินธ์ อัยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ประชุมรับฟังข้อมูลเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของแก๊ง ตชด.นอกแถว กลุ่ม ร.ต.อ.ณัฏฐ์ ชลนิธิวณิชย์
พล.ต.ท.พงศพัศกล่าวว่า เหตุครั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นเจ้าภาพในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และชดเชยสิ่งที่ถูกกระทำมา โดยจะใช้เงินกองทุนเป็นกรณีพิเศษมาจ่ายให้ก่อนที่จะมีการฟ้องร้อง แต่ เบื้องต้นสิ่งที่ต้องดำเนินการมี 3 เรื่อง คือ การตรวจสอบตำรวจที่เกี่ยวข้องในขบวนการที่เชื่อว่ายังมีอีกหลายนายเพื่อเสนอศาลออกหมายจับ เรื่องคดีของผู้ถูกกล่าวหาจะมีการรื้อคดีทำใหม่ทั้งหมดใน 22 คดีที่มีการแจ้งความไว้ และเรื่องดำเนินการใน 3 ขั้นตอน ทั้งพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและศาล
ต่อมา พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษก ตร. เดินทางไปยังบ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น เลขที่ 6/72 หมู่บ้านซิตี้ลากูน ถนนสุชน 1 ซอยตรงข้ามห้างเทสโก้ โลตัส สาขาสุราษฎร์ธานี อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ที่ ร.ต.อ.ณัฏฐ์กับพวกใช้เป็นเซฟเฮาส์กักขังผู้ถูกกล่าวหาคดียาบ้ามาทำทารุณช็อตด้วยไฟฟ้า บังคับให้รับสารภาพและรีดไถเงิน ก่อนไปดูที่ร้านอาหารพุงกาง ถนนราษฎร์อุทิศ เขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ที่ ร.ต.อ.ณัฏฐ์ และ พ.ต.ท.สุรกิตติ์ คล้ายอุดม รอง ผกก.ตชด.41 เป็นหุ้นส่วนเจ้าของกิจการกันอยู่ หลังจากนั้นได้ไปเยี่ยมนางจารีย์ ดอกไม้หอม ผู้ต้องหาคดีครอบครองยาบ้า 1,000 เม็ด ที่เรือนจำกลางสุราษฎร์ธานี เนื่องจากอ้างถูก ร.ต.ท.ปิยภัทร ทองพันเลิศกุล หน.ชุดปฏิบัติการ กองร้อย ตชด.416 บ้านตาขุน ร่วมกับ ร.ต.อ.ณัฏฐ์ใช้ไฟฟ้าช็อตตามร่างกายจนพูดไม่ได้ และเดินไม่ได้เป็นเวลาหลายเดือน
นางเวณิกา หนูคง อายุ 26 ปี น้องสาวนางจารีย์ ดอกไม้หอม เปิดเผยว่า การตรวจค้นจับกุมของกลุ่ม ร.ต.อ.ณัฏฐ์ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.49 กระทำเยี่ยงโจร ไม่มีหมายศาล บุกเข้าบ้านปิดประตูใช้ปืนจี้จ่อศีรษะจับตัวสามีของตนไปปิดตารุมซ้อม จนเกิดความเครียดจะฆ่าตัวตาย ส่วนพี่สาวก็ถูกจับไปด้วย ทุกคนในครอบครัวต้องอยู่อย่างหวาดผวา และถูกตราหน้าว่าค้ายาบ้า ขณะที่ นายเกษม โต๊ะสา อายุ 50 ปี ชาว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เหยื่ออีกรายระบุว่า ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 11 พ.ย.49 ในข้อหามีกัญชาแห้งน้ำหนัก 25 กรัม วันที่ถูกจับ ร.ต.อ.ณัฏฐ์ใช้ผ้าปิดตาแล้วเอาของแข็งตีฟาดกระแทกหน้าอกอย่างรุนแรง เวลาผ่านมาร่วม 1 ปียังมีอาการเจ็บหน้าอกบ่อยครั้งที่ก้มหน้าหรือยกของหนัก ถึงตอนนี้ยังรู้สึกกลัวและเกรงจะไม่ปลอดภัย แม้ ร.ต.อ.ณัฏฐ์ถูกจับแล้ว แต่ลูกน้องยังเหลืออีกหลายคน อยากขอให้ช่วยดำเนินการย้ายไปอยู่ที่อื่น
ด้าน นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ที่ร้องเรียน กรณีถูกกลุ่มอดีต ตชด.ยัดยาบ้าหรือซ้อมทำร้ายร่างกาย บังคับให้รับสารภาพหรือกรรโชกทรัพย์สินว่า ได้รับข้อมูลผู้ร้องเรียนประมาณ 20 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนสรุปเสนอนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อวางแนวทางช่วยเหลือผู้เสียหายตามข้อเท็จจริงในแต่ละคดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าน่าตื่นตระหนก สำหรับกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าผู้ต้องหาจะกระทำผิดจริง แต่การกระทำนอกรีตผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ถือว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง กรมคุ้มครองสิทธิฯ จะเข้าไปเยียวยาความเสียหายทั้งผู้กระทำผิดจริงแต่ถูกทำร้ายร่างกาย และผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกลั่นแกล้งในทุกด้านตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 เบื้องต้นได้จัดเตรียมงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทั้งในกรณีนี้ หรือกรณีอื่น หลังจากตั้งแต่ปี 45 ได้จ่ายเงินเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิ และอดีตจำเลยในคดีอาญารวม 658 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน นายศิโรจน์ มิ่งขวัญ นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการศึกษาเรื่อง “2 ทศวรรษ ตำรวจนอกรีต” จากข่าวหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. 2531-2550 พบว่า หนังสือพิมพ์ใช้สมญานามเรียกขานการกระทำนี้ว่า นอกรีต นอกแถว แก๊งตำรวจ โจรในเครื่องแบบ ตำรวจตีนโหด ตำรวจซ่า สำหรับพฤติกรรมเริ่มตั้งแต่ขั้นเบา คือ ใช้เท้าเขี่ย หรือถีบ ใช้ปืนตบหน้า บังคับให้ก้มกราบตีน ยุให้คนพิการโดดตึกแทนที่จะเกลี้ยกล่อม จับแก้ผ้า ใช้บุหรี่จี้ การยัดข้อหาและล่วงละเมิดทางเพศ ยึดของกลางที่เป็นเงินสด หรือทรัพย์สินอื่นโดยไม่ลงบันทึก การยื่นข้อเสนอเอาเงินแลกกับอิสรภาพ หรือเรียกว่าค่าไถ่ตัวนั่นเอง การใช้ไฟฟ้าช็อตตามร่างกาย บีบลูกอัณฑะ ซ้อมให้รับข้อหา บางรายรุนแรงถึงขั้นเข้า รพ. บางรายเสียชีวิต บางครั้งสั่งให้เพื่อนผู้ต้องหารุมกระทืบแทน
นายศิโรจน์กล่าวว่า ผู้ถูกกระทำ หรือเหยื่อตำรวจนอกรีตมีตั้งแต่ อายุ 4 ขวบ ที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 26 พ.ย.35 ตำรวจนายหนึ่งใช้น้ำร้อนลวกก้นเด็กที่เพื่อนบ้านนำมาฝากเลี้ยง จับขังในกรงหมา บังคับให้กินพริก และซดน้ำแกงร้อน เพื่อดัดนิสัยที่ไม่ยอมกินข้าว เหยื่ออีกหลายรายเป็นครู เป็นลูกตำรวจ ลูกนักการเมือง เป็นนายทหารผ่านศึกพิการนั่งรถเข็น เป็นคนบ้า ผู้ค้าประเวณี นักข่าว ทนายความ นักธุรกิจ นักร้องเพลงเพื่อชีวิต นักมวยแชมป์โลก เจ้าของค่ายมวย นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แรงงานต่างชาติ และพระภิกษุ สถานที่กระทำบ้างเกิดในที่ลับตาที่เรียกว่า เซฟเฮาส์ แต่มีหลายครั้งเกิดในที่สาธารณะ อย่างงานวัด หรือแม้กระทั่งบนโรงพัก ต่อหน้าตำรวจด้วยกันก็มี ส่วนสาเหตุที่ทำให้ตำรวจใช้อำนาจหน้าที่ไปกระทำเกินกว่าเหตุกับผู้อื่น มีทั้งเรื่องส่วนตัว อาทิ เมาสุราเบ่งเป็นตำรวจ เบี้ยวค่ารถโดยสาร เบี้ยวค่าอาหาร เรื่องชู้สาว และการกลั่นแกล้ง บางรายเป็นตำรวจที่มีอาการทางประสาท รวมถึงงานในหน้าที่ที่เป็นการสร้างผลงานการจับกุมแบบผิดๆ ด้วยการใช้วิธีทารุณบังคับให้รับสารภาพ และประสงค์ต่อทรัพย์
นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทยกล่าวอีกว่า สำหรับบทสรุปของเรื่องมีตั้งแต่คดีไม่มีมูล เจรจายอมความ ขอขมา ยัดเงินทำขวัญไม่ให้เจ้าทุกข์ เอาเรื่อง ขู่ฆ่า ไปจนถึงผู้บังคับบัญชาเอาผิดทางวินัย สั่งย้ายออกนอกพื้นที่ พักราชการ ให้ออกจากราชการ ถูกมวลชนประท้วงขับไล่ ถูกดำเนินคดีอาญา อย่างคดี ของ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีต ผบช.ประจำ ตร.ที่อยู่ เบื้องหลังการอุ้ม 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ ด้านผู้ถูกกระทำมีช่องทางการร้องเรียน ด้วยการแจ้งความที่สถานีตำรวจ ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา ร้องกองปราบปราม ร้องเรียนผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านนักการเมือง ร้องที่กระทรวงมหาดไทย องค์กรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ มูลนิธิด้านเด็กและสตรี ร้องเรียนด้วยการแห่ศพประท้วง และผ่านสื่อมวลชนที่พบช่วงปี 2531-2540 มีข่าวตำรวจนอกรีตปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ จำนวน 262 ครั้ง ช่วง 2541-2550 ลดลงเหลือจำนวน 230 ครั้ง สาเหตุน่าจะเป็นผลมาจากการตระหนักในสิทธิมนุษยชน และการตรวจสอบของสื่อมวลชน รวมทั้งการตระหนักว่าหากทำไปแล้วจะกลายเป็นคนไม่ดี สังคมไม่ ยอมรับ อีกทั้งยังได้รับบทลงโทษที่รุนแรง ไม่มีการช่วยเหลือกันในอาชีพเดียวกัน หรืออาจเกิดจากนักข่าวไม่ทราบเหตุจึงไม่ได้ทำข่าว
“อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เป็นเหตุที่เกิดใน กทม. แค่ร้อยละ 20 เกิดในต่างจังหวัดถึงร้อยละ 80 ที่น่าสนใจคือ ในส่วนภูมิภาคจะเป็นจังหวัดที่มีสถิติคดีอาชญากรรมค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้เองการกระทำทารุณอาจจะเกิดจากความเครียดในการทำงานที่ต้องติดตามจับกุมคนร้ายให้ได้เพื่อปิดคดี ส่วนที่เกิดขึ้นล่าสุดกรณีผู้กองณัฏฐ์ สังกัด ตชด.ที่เป็นหน่วยงานไม่มีหน้าที่ในการจับกุมโดยตรง ดังนั้น หากผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องการมอบหมายงานให้ทำจึงควรปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชน บทบาทในการบริการประชาชน และอบรมเกี่ยวกับวุฒิภาวะการใช้อำนาจให้มากขึ้น” นายศิโรจน์ กล่าว
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์