รายงานข่าวจากบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า บรรยากาศการซื้อขายทอง รวมถึงเครื่องประดับทองในเมืองไทยในช่วงตรุษจีนปีนี้ น่าจะซบเซาพอสมควร โดยพบว่าคนกรุง เทพฯ ส่วนใหญ่ตั้งงบประมาณค่อนข้างใกล้เคียงจากปีก่อน และมักจะซื้อแจกกลุ่มลูกหลานเป็นหลัก แต่ทั้งนี้สัดส่วนของกลุ่มที่ซื้อทองน้ำหนักเกิน 1 บาทก็ลดน้อยลงเมื่อเทียบจากปีที่แล้ว เพราะราคาทองที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 30% ทำให้ผู้ที่แจกอั่งเปาเป็นทองส่วนใหญ่ในปีนี้ระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าผู้ขายจะนำกลยุทธ์ด้านราคามาใช้ ด้วยการลดค่ากำเหน็จ แจกของแถมก็ไม่น่ามีบทบาทมากนัก
ประกอบกับค่าครองชีพก็ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จึงเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่ น่าจะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้นบรรยากาศการซื้อขายทอง รวมถึงเครื่องประดับทองในไทยปีนี้ โดยเฉพาะช่วงตรุษจีนปีนี้จึงน่าจะซบเซาพอสมควร ซึ่งผู้ซื้ออาจเลือกลดน้ำหนักทองที่จะแจก ลดจำนวนคนที่จะแจกลง ขณะที่ด้านผู้ขายนั้น จะได้รับความสนใจหากมีบริการเงินผ่อนและการสร้างความน่าเชื่อให้มากขึ้น
ทั้งนี้การที่ราคาทองคำแท่งในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาขายเฉลี่ยบาทละกว่า 7,000 บาทในปี 46 มาทะลุ 13,300 บาทปลายปี 50 นั้น ส่งผลให้ยอดซื้อทองคำรูปพรรณปี 50 ลดลงมากกว่า 10% และมีผลให้ธุรกิจร้านค้าทองซบเซาต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้ว ขณะที่เริ่มปีใหม่ 51 ราคายังเพิ่มขึ้นเป็นบาทละ 14,350 บาท ตามทิศทางราคาทองคำต่างประเทศ เนื่องจากราคาน้ำมัน ที่ใกล้ถึงระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงภาวะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลงอย่างหนัก ทำให้ราคาทองคำสูงมากเป็นประวัติการณ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย
สำหรับปัจจัยที่มีผลให้ทองราคาแพงขึ้นคือ การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน.
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์