หลังจากที่สังคมเกิดความกังขาการทำงานของหน่วยกู้ภัย ที่มีการระบุว่าเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยได้รับเงินจากโรงพยาบาล ในการนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลต่างๆ จนทำให้เกิดการแย่งชิงผู้ป่วย ถึงขนาดบางรายต้องเสียชีวิต เพราะหน่วยกู้ภัยมัวแต่แย่งคนเจ็บกัน จนนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลไม่ทันเวลานั้น ในที่สุดการแฉพฤติกรรมฉาวในแวดวงอาสาสมัครกู้ภัยก็ถูกเปิดเผยขึ้น ในการประชุมเชิงวิชาการ ประชาพิจารณ์ต่อร่าง พ.ร.บ.ระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉิน ซึ่งมีขึ้นที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อเช้าวันที่ 20 เม.ย.
โดย นพ.สุรจิต สุนทรธรรม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หน่วยกู้ภัยหรือมูลนิธิต่างๆที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ยังขาดความรู้ในการเคลื่อนย้ายคนเจ็บ อาจเรียกได้ว่าให้คนมีความรู้ทางการแพทย์น้อยที่สุด ไปดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนักที่สุด ทั้งนี้ การมีระบบดูแลที่ดีจะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ โดยหากมีการจัดระบบในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่ดี จะสามารถรักษาชีวิตได้ถึงร้อยละ 15-20 จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพราะในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ต้องเข้าใช้บริการห้องฉุกเฉิน จากโรงพยาบาลทั่วประเทศเฉลี่ยประมาณ 12 ล้านครั้ง
นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถิติผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 361 ราย ในช่วง 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่า มีสูงถึงร้อยละ 58 ที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ร้อยละ 6 เสียชีวิตในขณะที่นำส่งโรงพยาบาล ร้อยละ 14 เสียชีวิตในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ร้อยละ 22 เสียชีวิตหลังจากที่นำส่งโรงพยาบาลแล้ว อาจมีสาเหตุมาจากขั้นตอนใน การนำส่งโรงพยาบาล จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องออกร่าง พ.ร.บ.ระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉิน ทั้งนี้ หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินได้ ซึ่งตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเรียกว่าหน่วยขนส่งเวชกรรม จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการระบบบริการการแพทย์ และสาธารณสุขฉุกเฉิน ตามหลักเกณฑ์ที่ทางคณะกรรมการกำหนด พร้อมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อคอยประสานงานให้นำคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลที่มีความพร้อมและใกล้ ที่สุด สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะนำเข้าสู่ การพิจารณาของ สนช.ต่อไป
ด้านไทด์-เอกพัน บันลือฤทธิ์ นักแสดงคนดังที่ผันตัวเองมาช่วยเหลือสังคมเป็นหน่วยกู้ภัย และเป็นตัวแทนจากมูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวว่า หากมีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาในการขนคนเจ็บส่งโรงพยาบาลได้ ที่สำคัญจะช่วยแก้ปัญหาการแย่งคนเจ็บกันได้ด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริง จนกลายเป็นเรื่องปกติ ส่วนหนึ่งตนอยากโทษโรงพยาบาลเอกชน เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแย่งคนเจ็บ เพราะตามโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ จะมีการจ่ายเงินให้กับมูลนิธิ หรืออาสาสมัครที่นำคนเจ็บไปส่งยังโรงพยาบาลนั้นๆ โดยจะดูจากอาการของคนเจ็บ เช่น ขาหัก แขนหัก จะอยู่ที่รายละ 1,000 บาท โดยจะมีอัตราสูงสุดในกรณีที่คนเจ็บต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งจะได้รายละ 3,000 บาท
“บางครั้งมีการรับคนเจ็บในเขตพื้นที่หนึ่ง แต่กลับนำคนเจ็บไปส่งที่โรงพยาบาลในอีกเขตพื้นที่หนึ่ง เพราะมีโรงพยาบาลที่ให้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า หรือบางครั้งคนเจ็บอาการไม่หนัก ไม่ถึงขั้นต้องผ่าตัด แต่เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่เยอะขึ้น อาสาสมัครบางคนก็จะถ่วงเวลาไปส่งโรงพยาบาลให้ช้าลง เพื่อทำให้อาการของคนเจ็บถึงขั้นต้องผ่าตัด การจ่ายเงินเพื่อแลกกับคนเจ็บจะเกิดขึ้น ตามโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ เพราะโรงพยาบาลกลุ่มนี้ต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง จึงทำให้พนักงานและอาสาสมัครของมูลนิธิต่างๆเกิดความเคยตัว ถึงขนาดที่บางคนสาบานในการประชุมของมูลนิธิแล้ว ยังยอมผิดคำสาบานเพื่อต้องการได้ค่าตอบแทน ทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการมีเรื่องกัน เพราะแย่งคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลไม่ควรให้ค่าตอบแทนแก่พนักงานและอาสาสมัคร เพราะการช่วยเหลือคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลถือเป็นหน้าที่อยู่แล้ว รวมทั้งการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะสามารถแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายเอกพันกล่าว
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์