กรณีเกิดน้ำเน่าเสียในแม่น้ำเจ้าพระยาส่งผลให้ ปลาของเกษตรกรที่เลี้ยงไว้ในกระชังตลอดสองฟากแม่น้ำเขตพื้นที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งปลาธรรมชาติตายเป็นเบือตลอดลำน้ำ เกษตรกรต้องสิ้นเนื้อประดาตัว พากันรวมตัวปิดถนนทางเข้าออกโรงงานผลิตผงชูรสยี่ห้ออายิโนะทาการะ ของบริษัทเคทีเอ็มเอสจี จำกัด ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก โดยเชื่อว่าทางโรงงานแอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นต้นเหตุให้ปลาตาย พร้อมกับให้หน่วยงานราชการเร่งตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงเร่งด่วน โดยนำรถแบ็กโฮไปขุดดูแนววางท่อน้ำเสียของโรงงานด้วยนั้น
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (16 มี.ค.) นายสุเทพ กาแก้ว นายก อบต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง พร้อมด้วยนายสุชิน เจริญจิตร แกนนำเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทับทิม และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้นำรถแบ็กโฮ ของ อบต.บางเสด็จ จำนวน 2 คัน เข้าขุดหาแนวท่อปล่อยน้ำเสียของโรงงานเป็นวันที่ 2 โดยการขุดเริ่มต้นจากบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียภายในโรงงานลึกลงไปใต้ดินกว่า 1 เมตร พบท่อเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร วางเป็นแนวยาวจากบ่อบำบัดน้ำเสียเลียบถนนทางเข้าโรงงาน เมื่อถึงคลองชลประทานดินด้านหน้าห่างจากโรงงานราว 1 กม.พบว่าท่อถูกแยกออกเป็น 2 ท่อ ฝังลอดผ่านคลองชลประทานดินและถนนเลียบ แม่น้ำเจ้าพระยาอ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากจุดแยกท่อราว 500 เมตร โดยมีเครื่องปั๊มน้ำติดตั้งอยู่ปลายท่อ แต่ไม่มีไฟฟ้า ลักษณะคล้ายเป็นการตบตาให้ดูเสมือนเป็นท่อสูบน้ำเข้าโรงงาน นอกจากนี้ ระหว่างขุดเจาะไปตามแนวท่อพบว่าท่อชำรุดเป็นช่วงๆและมีน้ำสีดำขุ่นคลั่กไหลออกมาตามรอยรั่วส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง
ต่อมานายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รอง หน.พรรคชาติไทย เดินทางเข้าพบกลุ่มชาวบ้านขอร้องให้ยุติการขุดและดำเนินการใดๆชั่วคราว เกรงว่าชาวบ้านจะถูกเจ้าของโรงงานฟ้องร้อง โดยรับปากว่าจะประสานนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผวจ.อ่างทอง เพื่อให้ทางจังหวัดแจ้งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปลายท่อโรงงานไปตรวจพิสูจน์ หากผลการตรวจพบว่ามีการปล่อยน้ำเสียจริง ก็จะดำเนินการตามกฎหมายคือปิดโรงงานต่อไป อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าระหว่างที่เจ้าหน้าที่ อบต.และชาวบ้านเข้าไปขุดตรวจสอบแนวท่อน้ำเสีย ไม่มีผู้บริหารของโรงงานอยู่ร่วมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ภายใน โรงงานยังปิดเงียบไม่มีพนักงานมาทำงาน ขณะเดียวกันได้มีคณะจากชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม ประมาณ 10 คน นำโดย ผศ.เด่นศิริ ทองนพคุณ เลขาธิการชมรมเดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้านด้วย โดย ผศ.เด่นศิริกล่าวว่ารู้สึกเห็นใจชาวบ้านที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ต้องมาประสบเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีก หากผลพิสูจน์ออกมาว่ามีการปล่อยน้ำเสียจริงก็ถือว่าแย่
นายสุเทพ กาแก้ว นายก อบต.บางเสด็จ เปิดเผยว่า หลังจากที่นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาเปิดเผยรายงานผลวิเคราะห์ ของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษที่ชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้ปลาตายครั้งนี้มาจากเรือน้ำตาลทรายที่ล่มเพียงอย่างเดียวนั้น ชาวบ้านไม่มีใครปักใจเชื่อ ไม่ทราบว่าเขาไปวิเคราะห์ จากอะไร และปริมาณน้ำตาลเพียง 650 ตันที่จมน้ำนั้นกลับไม่ส่งผลกระทบกับปลาที่อยู่ในรัศมี 6-7 กม. แต่มีผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบริเวณหมู่บ้านที่อยู่ห่างออกไป ขณะนี้ทราบว่าน้ำเสียไหลผ่านถึงเขต จ.ปทุมธานีแล้ว เมื่อทางโรงงานแสดงความบริสุทธิ์ใจยินยอมให้ ตรวจสอบ ตนพร้อมชาวบ้านจึงนำรถไปขุดตรวจสอบแนวท่อ ตามข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากพนักงานของโรงงานเอง เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ซึ่งก็พบแนวท่อยาวจากโรงงานไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา แต่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รอง หน.พรรคชาติไทย เกรงว่าชาวบ้านจะถูกฟ้องร้อง จึงให้ยุติการดำเนินการใดๆชั่วคราว รอจนกว่าเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจะมาตรวจพิสูจน์ เพื่อให้ชาวบ้านคลายความข้องใจที่มีมานานกว่า 10 ปี
ทางด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผวจ.อ่างทองเปิดเผยว่า ขณะนี้การตรวจสอบโรงงานผงชูรสยังคงดำเนินการต่อไป จากนั้นจะเข้าตรวจสอบโรงงานที่เหลืออีก 3 แห่งคือโรงงานไทยเรย่อน ซึ่งผลิตเส้นใยสังเคราะห์ โรงงานสุภัทร์ธนากรเปเปอร์มิล ผลิตเยื่อกระดาษ และโรงงานไทยคาร์บอนแบลค ผลิตผงคาร์บอนต่อไป เพื่อควบคุมไม่ให้มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ สำหรับเรื่องความช่วยเหลือเกษตรกรนั้น นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รมช.มหาดไทย ที่รับบัญชาจากนายกรัฐมนตรีลงมาตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยได้กำชับให้เร่งช่วยเหลือประชาชน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบจ.อบต.เข้ามาร่วมช่วยเหลือในเรื่องจัดหาพันธุ์ปลาและอาหารปลามาแจกจ่าย ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ทางกรมประมงจะชดเชยความเสียหายให้ผู้เลี้ยงปลาทับทิมกระชังละ 5 หมื่นบาท เมื่อรวมกับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นรายละไม่เกิน 20,560 บาท ซึ่งจะเป็นเงินรวม 41 ล้านบาท และทาง รมช.มหาดไทยยังรับปากว่าจะนำเรื่องเข้าปรึกษา ครม.เพื่อหามาตรการช่วยเหลือในระยะกลางและระยะยาวต่อไป
นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จนถึงขณะนี้มีชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 63 ราย 306 กระชัง ในพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บางบาล 31 ราย 179 กระชัง รวมความเสียหาย 6,270,170 บาท อ.พระนครศรีอยุธยา เสียหาย 4 ราย รวม 12 กระชัง มูลค่าประมาณ 590,000 บาท อ.เสนา 22 ราย จำนวน 87 กระชัง มูลค่าประมาณ 2,543,580 บาท และ อ.บางไทร 6 ราย รวม 28 กระชัง มูลค่าประมาณ 350,000 บาท ส่วนค่าออกซิเจนในน้ำ ในพื้นที่ อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร ยังวิกฤติ ค่าดีโอต่ำกว่า 4
นายเมฆินทร์ เมธาวิกูล ผวจ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า ในช่วงสายวันเดียวกันนี้ ตนพร้อมด้วย ผวจ.นนทบุรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันลงเรือไปตรวจหาค่าระดับน้ำเสีย (ดีโอ) พบว่าในเขตพื้นที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ค่าดีโอวัดได้ 0.2-0.3 ถือว่ายังน่าเป็นห่วง เพราะเริ่มใกล้เข้าเขต จ.ปทุมธานี โดยทางเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นได้ตรวจพบกลุ่มก้อนที่เป็นมวลสารอินทรีย์ขนาดยาวและใหญ่ในลำน้ำเจ้าพระยา มวลสารดังกล่าวจะทำให้ขาดอากาศและน้ำเน่าเสียได้ ทาง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเข้ามาดำเนินการทำลายก้อนมวลสารดังกล่าว ถ้าภายใน 2-3 วันที่จะถึงนี้ทาง จ.พระนครศรีอยุธยา ดำเนินการทำลายก้อนมวลสารไม่สำเร็จ ตนจะประกาศให้ จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่ภัยพิบัติเช่นกัน
นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากข้อมูลค่อนข้างมั่นใจ และเชื่อว่าสาเหตุของน้ำเน่าเสียมาจากเรือน้ำตาลล่ม เนื่องจากการตรวจสอบยังไม่พบแหล่งกำเนิดอื่นๆ แต่ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 4 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ด้วย อย่างช้าในวันที่ 18 มี.ค.นี้จะสรุปผลการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ได้ ส่วนโรงงานที่มีปัญหากับชาวบ้านมากที่สุดคือ โรงงานผงชูรสนั้น ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ปล่อยน้ำเสียหรือไม่ ต้องรอการพิสูจน์ผลที่แม่นยำเพื่อจะใช้เป็นหลักฐานหาผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมต่อไป ส่วนกรณีที่ชาวบ้านจะไม่เชื่อถือการพิสูจน์โดยหน่วยงานของรัฐนั้น เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ตนยืนยันว่าหน่วยงานของรัฐที่เข้ามาตรวจพิสูจน์ได้ทำอย่างตรงไปตรงมาที่สุดตามความถูกความผิด ไม่เข้าข้างใคร ส่วนชาวบ้านจะคิดอย่างไรตนตอบไม่ได้
วันเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษได้ออกประกาศแจ้งเตือนกรณีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมในแม่น้ำเจ้าพระยา ระบุว่า มวลน้ำมีค่าออกซิเจนละลายในน้ำ วัดได้ 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ได้เคลื่อนตัวมาถึงใต้โรงงานกระดาษ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยคาดว่าจะเคลื่อนตัวไปถึงบริเวณ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ประมาณวันที่ 20 มี.ค.นี้ แต่อย่างไร ก็ตาม กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการเติมอากาศ โดยใช้เรือเติมอากาศลงในแม่น้ำ จำนวน 2 ลำ เพื่อเป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการเพิ่มออกซิเจนให้กับแม่น้ำได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. บริเวณ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเรือลำที่ 1 เริ่มตั้งแต่ อ.บางปะอิน ถึง อ.พระนครศรีอยุธยา รวมระยะทาง 10 กม. และเรือลำที่ 2 เริ่มตั้งแต่ อ.บางปะอิน ถึงบริเวณปากแม่น้ำน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ จะทำการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำควบคู่ไปด้วย คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 วัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายไพศาล กุวลัยลักษณ์ โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ร่วมกันแถลงข่าวปัญหาน้ำเน่าเสียใน จ.อ่างทอง โดยการแถลงข่าวครั้งนี้ น.ส.เบญจวรรณ อ่านเปรื่อง รอง ผวจ.อ่างทอง ได้รายงานสถานการณ์ปัญหาผ่านทางวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ว่า มีปลาในกระชังได้รับความเสียหาย 581 กระชัง มูลค่าความเสียหาย 49 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดได้ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงสาเหตุที่ปลาตายเป็นจำนวนมากแล้ว ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสั่งให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีไปดูแลความช่วยเหลือ ที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาได้ ในขณะที่นายไพศาล กล่าวว่า จากการตรวจสอบสาเหตุการตายของปลาพบว่า เกิดจากการขาดออกซิเจนในน้ำ และกระทรวงสาธารณสุขได้นำปลาที่ตายไปตรวจสอบพบว่า ไม่มีสารตกค้างที่เป็นพิษ คาดว่าภายใน 10 วัน สถานการณ์น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ในวันที่ 20 มี.ค. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอเรื่องเข้า ครม.เพื่อชี้แจงถึงสาเหตุทั้งหมด พร้อมเร่งรัดให้ผู้ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายต้องจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ
นายชวลิต สารันต์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวถึงวิกฤติน้ำเสียในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ว่า ล่าสุดน้ำเสียเดินทางมาถึงบริเวณวัดเชิงเลน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำดิบของโรงกรองน้ำบางไทร ประมาณ 8 กม. แต่ขณะนี้ กปภ.ยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากได้เตรียมมาตรการรองรับไว้หลายด้าน ติดตามความเคลื่อนไหวทุกระยะ รวมทั้งจัดส่งนักวิทยาศาสตร์เข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำตรวจหาปริมาณออกซิเจน และวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก สารพิษ พร้อมทั้งสั่งการให้สำนักงานประปาทั้ง 2 แห่ง จัดเตรียมสารเคมี ผงถ่ายกำมัน เพื่อการบำบัดน้ำ เพิ่มปริมาณคลอรีนให้เพียงพอ
นายจรัลธาดา กรรณสูต อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จะหารือกับนายธีระ สูตะบุตร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ถึงการฟ้องร้องในฐานะเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากน้ำเสีย และมีสัตว์น้ำตายจำนวนมาก ในฐานะภาครัฐซึ่งถือเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง เบื้องต้นคาดว่า มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายร้อยล้านบาท แต่จะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ไม่แน่ใจ เพราะเรื่องนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ และหาหลักฐานอยู่ 2 หน่วยงานคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกรมควบคุมมลพิษ หาก 2 หน่วยงานนี้สามารถระบุชัดและมีหลักฐานยืนยันถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ กรมประมงจะดำเนินการยื่นฟ้องทันที แต่หากการตรวจสอบไม่สามารถระบุความชัดเจนของสาเหตุ และหลักฐานไม่ชัดเจนพอ ก็ไม่สามารถยื่นฟ้องได้ หรือหากยื่นฟ้องก็ต้องแพ้คดีในที่สุด
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์