กรณีที่รัฐบาลจะเข้าไปดำเนินกิจการแทนสถานีโทรทัศน์ไอทีวี หากไอทีวีไม่สามารถชำระค่าสัมปทานและค่าปรับการปรับผังรายการรวมดอกเบี้ยได้เมื่อครบกำหนดในวันนี้ (6 มี.ค.) กรณีคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า อาจจะต้องหยุดแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเป็นการชั่วคราวประมาณ 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. เพราะติดขัดข้อกฎหมายบางประการ โดยจะนำประเด็นปัญหาทั้งหมดเสนอให้ที่ประชุม ครม.วันที่ 6 มี.ค. พิจารณาหาข้อยุตินั้น ล่าสุดนายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาคัดค้านแนวคิดการหยุดออกอากาศชั่วคราวทางไอทีวี
เมื่อวานนี้ (5 มี.ค.) นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า อาจต้องระงับการออกอากาศของไอทีวีตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. ว่า ในแง่ของทรัพย์สินที่ไอทีวีถือกรรมสิทธิ์อยู่จะตกเป็นของ สปน.ทั้งหมด ต้องโอนการครอบครองกัน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบบัญชีทุกเดือนพบว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ไอทีวีมีทรัพย์สิน 4,012 ล้านบาท แต่ที่มีปัญหาคือเรื่องอุปกรณ์เช่า และมีปัญหาในเรื่องสัญญาสัมปทาน ต้องนำเสนอให้ ครม.พิจารณาในบางประเด็น ส่วนเรื่องการงดออกอากาศนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของนายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน คิดว่าต้องเดินหน้า เพราะถ้าหยุด 1 เดือน จะมีปัญหาเยอะ ทั้งเรื่องคน ผังรายการ และทรัพย์สิน ถ้าไม่ใช้เป็นเวลา 1 เดือน ทรัพย์สินบางอย่างจะเสียหายแน่นอน และหาก ครม.มีมติให้ดำเนินการต่อ เราก็จะทำไม่ทัน ต้องมาเริ่มหาใหม่หมด รวมถึงการรับสมัครคนด้วย ซึ่งยุ่งยาก โดยเฉพาะลูกค้าจะหายหมด รวมทั้งโฆษณา ผังรายการก็ต้องปรับใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ไอทีวีออกอากาศไปควบคู่กับการแก้ปัญหาข้อกฎหมาย นายจุลยุทธตอบว่า ใช่ กำลังคิดและศึกษาอยู่ มีโอกาสเป็นไปได้ กำลังดูลู่ทางเตรียมการอยู่ สปน.มีความพร้อม แต่ต้องระวังเรื่องข้อกฎหมาย ผู้สื่อข่าวถามว่า พนักงานไอทีวียังมีความหวังใช่หรือไม่ว่าจะไม่ถูกพักงานชั่วคราวในช่วงที่ไม่สามารถออกอากาศได้ นายจุลยุทธตอบว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ครม.วันที่ 6 มี.ค.นี้ คงต้องขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายว่านักกฎหมายจะหาทางออกกันอย่างไร
นายจุลยุทธกล่าวว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องทดรองจ่ายที่ บมจ.อสมท ต้องทดรองจ่าย 400 ล้านบาท หากได้เข้ามาบริหารงานนั้น ความจริงบริหารไอทีวีประเมินคร่าวๆว่าอาจต้องใช้เดือนละ 100 ล้านบาท เป็นเวลา 4 เดือน แต่ สปน.คำนวณดูแล้วคงใช้ไม่ถึง เช่นเดือน มี.ค.-เม.ย.ใช้เดือนละ 70 ล้านบาท ส่วนเดือน พ.ค. คงใช้เพียง 10 ล้านบาท เพราะมีรายได้เข้ามาแล้ว โดยเดือน มี.ค. มีตัวเลขรายได้ที่ชัดเจนเข้ามาแล้ว 130 ล้านบาท ดังนั้นเงินทดรองจ่าย 400 ล้านบาทได้คืนแน่ ตรวจสอบรายได้จากไอทีวีเมื่อปี 2549 มีกำไร 700 ล้านบาท อย่าลืมว่าเป็น 700 ล้านบาท โดยไม่เสียค่าสัมปทาน
เมื่อถามว่า หากบอร์ด อสมท ไม่อนุญาตให้อสมท เข้ามาบริหารไอทีวีได้ จะให้กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการแทนหรือไม่ นายจุลยุทธตอบว่า เปอร์เซ็นต์ที่บอร์ด อสมท ไม่อนุมัติคงมีน้อย แต่หากไม่อนุมัติจริงๆ สปน.มีแผนสำรองไว้อยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้
ด้านนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมในการเข้าไปบริหารทีไอทีวี หากบอร์ด อสมท มีมติไม่ให้ อสมท เข้ามาบริหารไอทีวีว่า หากเป็นนโยบายมา กรมประชาสัมพันธ์พร้อมที่จะเข้าไปปฏิบัติ และรูปแบบการบริหารจะไม่ขาดความยืดหยุ่นเหมือนระบบราชการ เพราะสามารถทำในรูปแบบพิเศษได้ ที่ผ่านมา กรมประชาสัมพันธ์เคยดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้วหลายกรณี เหมือนกับจ้างเอกชนเข้าไปดำเนินการ โดยมีการออกกฎระเบียบการบริหารจัดการให้มีความเหมาะสม เพื่อให้สามารถอยู่ได้ทั้งเรื่องการบริหารจัดการและผลกำไร แต่ขณะนี้ยังไม่มีการส่งสัญญาณมา มีแต่การมาสอบถามในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ
วันเดียวกัน องค์กรภาคประชาชนจำนวน 19 องค์กร อาทิ กลุ่มกู้คืนไอทีวี มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของไอทีวีดังนี้ 1. ให้ประกาศยกเลิกการตั้งคณะกรรมการบริหารไอทีวีของสำนักนายกรัฐมนตรี ชุดปัจจุบัน และให้ตั้งคณะกรรมการบริหารไอทีวีชั่วคราว ที่เป็นอิสระมาจากทุกภาคส่วน โดยมีระยะเวลาทำงานไม่เกิน 90 วัน 2. ให้แต่งตั้งคณะบุคคลที่ได้รับการยอมรับและเป็นอิสระ ประกอบด้วยบุคคลทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อจัดทำประชาพิจารณ์ภายใน 30 วัน ในการกำหนดอนาคตของไอทีวีเพื่อให้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่เน้นรายการข้อมูลข่าวสารและสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้และการศึกษาของประชาชน 3. ระหว่างหารูปแบบการดำเนินการของไอทีวี ให้คงการดำเนินการของไอทีวีในรูปแบบปัจจุบันไปก่อนอีกประมาณ 60-90 วัน โดยใช้พนักงานเดิมของไอทีวี 4. เร่งดำเนินการให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะตามผลของการประชาพิจารณ์
ข้อมูลจาก :