ในที่สุดวันที่คนไทยต้องเศร้าสลดอีกครั้งก็มาถึงเมื่อ น.ส.จูหลิง ปงกันมูล หรือครูจุ้ย อายุ 27 ปี ครูโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เหยื่ออำมหิตของกลุ่มแนวร่วมโจรใต้รุมทำร้ายอย่างบ้าคลั่งบาดเจ็บสาหัสกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรานานร่วม 8 เดือน หรือ 234 วัน ได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบ หลังเข้ารักษาตัวที่ รพ.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 49 และเป็นคนไข้ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ท่ามกลางน้ำตาของพ่อแม่และญาติ พี่น้องที่เฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 8 ม.ค. รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ ผอ.รพ.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เปิดเผยว่า ครูจูหลิงได้เสียชีวิตลงเมื่อเวลา 16.15 น. วันเดียวกัน สาเหตุเนื่องจากอวัยวะภายในล้มเหลวเฉียบพลัน โดยก่อนหน้านั้นวันที่ 1-2 ม.ค.ที่ผ่านมา ครูจูหลิงมีอาการอักเสบติดเชื้อในสมอง เนื่องจากเกิดฝีในสมอง คณะแพทย์ได้ผ่าตัดสมองเอาหนองออกเรียบร้อย อาการดีขึ้นแต่ขณะเดียวกันได้มีโรคติดเชื้ออื่นๆ แทรกเข้ามา อาทิ ติดเชื้อทางปอดชนิดรุนแรง ความดันลดลง ระบบต่างๆของร่างกายที่ถูกทำลายมานานไม่ทำงาน แพทย์พยายามให้ยาลดความดัน แต่ ไม่ได้ผล ร่างกายไม่ตอบสนอง กระทั่งเสียชีวิตลงด้วยอาการสงบ หลังการเสียชีวิตของครูจูหลิง ได้ถวายรายงานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แล้ว
ต่อมาเวลา 18.00 น. รศ.นพ.สุเมธแถลงถึงการจัดการศพของครูจูหลิงว่า ได้ถวายรายงานไปยังสำนักราชเลขาในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว พร้อมจัดให้มีพิธีอาบน้ำศพที่วัดโคกนาว อยู่ตรงข้าม รพ. มอ.หาดใหญ่ เวลา 10.00 น. วันที่ 9 ม.ค. แล้วเคลื่อนศพไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดใน จ.เชียงราย โดยทางเครื่องบิน ซี-130 ของกองทัพอากาศที่กองบิน 56 ซึ่งการเคลื่อนย้ายจะทำอย่างสมเกียรติ
ขณะที่นางคำมี ปงกันมูล แม่ของครูจูหลิง ให้ สัมภาษณ์ทั้งน้ำตาว่า การจากไปของลูกก็ขอให้ไปดี หากชาติหน้ามีจริง ขอให้กลับมาเป็นแม่ลูกกันอีก ขอขอบคุณคณะแพทย์ที่ให้การดูแลเป็นอย่างดีตลอดมา ส่วนนายสูน ปงกันมูล พ่อของครูจูหลิงและญาติอีกส่วนหนึ่งยังนั่งเฝ้าศพครูจูหลิงอยู่ในห้องคนไข้ แต่ละคนอาการเศร้าสลดไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทั้งนายสูนกับนางคำมีได้เฝ้าดูแลครูจูหลิงไม่ห่างกาย ขณะเดียวกันได้มีทีมจิตแพทย์คอยดูแลสภาพจิตใจพ่อแม่ของครูจูหลิง เป็นระยะ แม้กระทั่งช่วงที่ครูจูหลิงจากไปคณะแพทย์ต้องนั่งเฝ้าประกบคอยดูแลนายสูนกับนางคำมีตลอดเวลาเพราะ เกรงจะทำใจไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านั้นเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน รศ.นพ.สุเมธได้ตรวจอาการครูจูหลิงพบว่า ทรุดลงอย่างรวดเร็ว มีไข้ ภาวะปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ ความดันโลหิตต่ำมาก ต้องใช้ยาควบคุมความดันโลหิตในปริมาณสูง อาการทางสมองยังไม่รู้สึกตัว ไม่มีการตอบสนองของสมองและก้านสมอง ม่านตาขยายกว้างไม่ตอบสนองต่อแสง ภาวะไตวายเฉียบพลันคงที่ ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อควบคุมการหายใจทั้งหมดตลอดเวลา ให้ยาป้องกันลิ่มเลือดที่ขา ยากันชัก ยาปฏิชีวนะ ยาควบคุมความดันโลหิตและแก้ไขภาวะไตวาย
ส่วน จ.เชียงราย ที่บ้านเลขที่ 114 บ้านปงน้อย หมู่ 10 ต.ปงน้อย กิ่ง อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย บ้านเกิดของครูจูหลิง ปงกันมูล ทันทีที่ญาติพี่น้องทราบข่าวการเสียชีวิตของครูจูหลิง ต่างพากันร่ำไห้ด้วยความโศกเศร้าเสียใจ พร้อมพากันปลอบใจนางแสงหล้า พรมมา น้าสาวของครูจูหลิง ซึ่งอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจเช่นกัน นายสวัสดิ์ ปงกันมูล นายก อบต.ปงน้อย และเป็นญาติของครูจูหลิง กล่าวว่า ทุกคนเสียใจในการจากไปของครูจูหลิง เพราะที่ผ่านมาทุกคนต่างคาดหวังให้เกิดปาฏิหาริย์เพื่อให้ครูจูหลิงฟื้น แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถฉุดรั้งไว้ได้ ทุกคนต้องพยายามควบคุมสติและเตรียมจัดงานเป็นครั้งสุดท้ายให้อย่างสมเกียรติต่อไป โดยจะหารือกับบรรดาญาติ และพ่อแม่ของครูจูหลิงรวมทั้งผู้ใหญ่ของจังหวัดอีกครั้ง
ส่วนนายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผวจ.เชียงราย เปิดเผยว่า สั่งการให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประสานกับนายกมล ห่อนบุญเหิม หัวหน้ากิ่ง อ.ดอยหลวง เข้าไปดูแลญาติๆ ของ น.ส.จูหลิง ที่หมู่บ้านปงน้อยแล้ว โดยให้สำนักงานพัฒนาสังคมฯ ไปตรวจสอบรายละเอียด เรื่องการช่วยเหลือครอบครัวในขั้นสูงสุด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการจัดเตรียมงานศพทุกอย่าง รวมทั้งปลอบใจแก่ ครอบครัวปงกันมูลทุกคนที่อยู่ที่บ้านด้วย
ด้านสำนักข่าวต่างประเทศ ทั้งเอพีและเอเอฟพีรายงานเมื่อ 8 ม.ค. ถึงการจากไปของครูจูหลิง ปงกันมูล คุณครูวัย 27 ปีจาก จ.เชียงราย ซึ่งเสียชีวิต ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ด้วยอาการอวัยวะภายในล้มเหลวเฉียบพลัน หลังทุกข์ทนกับอาการโคม่าร่วม 8 เดือน จากการถูกชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของ จ.นราธิวาส รุมทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อ 19 พ.ค. ซึ่งเอพีรายงานว่า การทำร้ายครูจูหลิงและเพื่อนครูอย่างเหี้ยมโหด เป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้เกิดความตึงเครียดของความสัมพันธ์ ระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดเหตุไม่สงบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2546
สำหรับเหตุการณ์สะเทือนใจ ที่กลายเป็นชนวนเหตุให้ครูจูหลิงต้องเสียชีวิตนั้น เกิดขึ้นเมื่อเวลา 12.10 น. วันที่ 19 พ.ค.49 ขณะที่ครูจูหลิง กับ น.ส.สิรินาถ ถาวรสุข อายุ 30 ปี ครูอัตราจ้างโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ออกพบปะผู้ปกครองนักเรียนในช่วงพักเที่ยง เนื่องจากผู้ปกครองเด็กเล็กชั้นอนุบาลไม่ยอมส่งลูกหลานไปโรงเรียน และแวะกินข้าวในร้านตรงข้ามมัสยิด ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เมื่อมีกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ได้กรูเข้าจับตัวทั้งสองไปกักขังไว้ในที่อาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้มัสยิด พร้อมโรยตะปูและตัดต้นไม้ขวางทางป้องกันการแย่งชิงตัวจากเจ้าหน้าที่
จากนั้นกลุ่มแนวร่วมได้ปลุกระดมให้ชาวบ้านรวมตัว เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนายอับดุลการิม มาแตต กับนายมูฮำหมัดสะแปอิง มือรี แกนนำกลุ่มโจรอาร์เคเคที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.ระแงะ จับกุมตามหมายจับคดีใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเจ้าหน้าที่ชุด รปภ.สถานีรถไฟบ้านลาโล๊ะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และรุมสังหาร 2 นาวิกโยธิน เพื่อแลกกับ 2 ครูสาวที่ถูกจับเป็นตัวประกัน
ระหว่างกำลังเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปที่เกิดเหตุ ปรากฏว่า กลุ่มแกนนำได้ยุยงชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงหลายสิบคน ฮือเข้ารุมทุบตีทำร้าย 2 ครูสาวอย่างบ้าคลั่งอำมหิต แม้ทั้งสองจะอ้อนวอนแต่ไม่เป็นผล กระทั่งนายฮารง ยูโซ๊ะ ผู้ใหญ่บ้านที่รับการประสานกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปขอร้องให้หยุดกระทำป่าเถื่อน แต่เหยื่อทมิฬอาการพังพาบอย่างน่าเวทนา โดยเฉพาะครูจูหลิงถูกตีจนสมองกระทบกระเทือนไร้สติตั้งแต่บัดนั้น ก่อนนำส่ง รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ และส่งต่อ รพ.มอ.หาดใหญ่ จนเสียชีวิตในที่สุด ส่วนครูสิรินาถอาการปลอดภัย ส่วนเรื่องคดีได้จับกุมผู้ต้องสงสัย 26 คน และถูกออกหมายจับอีกจำนวนหนึ่ง
ขณะเดียวกันเหตุร้ายรายวันยังระอุ โดยตอนสายวันเดียวกัน พ.ต.อ.นุกูล ไกรทอง ผกก.สภ.อ.เมืองนราธิวาส พ.ต.ท.สุกิจ ขำมาก สว.นปพ.ภ.จ.นราธิวาส พ.ต.ต.กฤษดา วัตตธรรม สว.วิทยาการ จ.นราธิวาส นำกำลังไปตรวจสอบเหตุลอบวางเพลิงเผารถที่บ้านเลขที่ 26/1 หมู่ 3 ต.มะ-นังตายอ พบบริเวณหน้าบ้านมีรถกระบะยี่ห้อนิสสันสีบรอนซ์ฟ้า ทะเบียน บค 3322 นราธิวาส ของนายอับดุลรอนิง บินหะยีสะมะแอ อายุ 44 ปี เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่และเจ้าของบ้านจอดอยู่ สภาพถูกไฟไหม้ที่ล้อหน้าทั้งซ้าย ขวา ตัวถัง กันชนหน้าและห้องเครื่อง ทำให้รถเสียหายใช้การไม่ได้ ที่ใต้ล้อหน้าทั้งซ้ายและขวาพบเศษผ้าชุบน้ำมันเชื้อเพลิงพันกับท่อนไม้ 2 อัน คาดถูกโจรลอบวางเพลิงเผา
ทางด้าน จ.ยะลา วันเดียวกันนี้ เป็นวันเปิดเรียนวันแรกของโรงเรียนในพื้นที่ จ.ยะลา หลังจากโรงเรียนในพื้นที่การศึกษาทั้งเขต 1 และ 2 จำนวน 190 โรง ได้ปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.50 เนื่องจากเหตุทำร้ายครู โดยเจ้าหน้าที่ทหารชุดคุ้มครองครูได้เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ทั้งการอารักขาครูและลาดตระเวนตามเส้นทางไปและกลับจากโรงเรียน
ขณะที่นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ ครูจังหวัดยะลากล่าวว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ วิธีแก้ไขต้องให้ความสำคัญกับโต๊ะอิหม่าม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้หมู่บ้านมีความเข้มแข็ง แต่ปัจจุบันนี้ทุกคนกลับนิ่งเฉยทั้งหมด เพราะพวกเขาไม่อยากที่จะเสี่ยงเพราะกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเงินเดือนน้อย รัฐบาลต้องเพิ่มเงินเดือนพร้อมให้สวัสดิการเหมือนกับนายอำเภอหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนการที่จะมีการต่ออายุให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไป 10 หรือ 20 ปี นั้นไม่ใช่ประเด็น และไม่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้
พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ ถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ในเดือน เม.ย.นี้จะส่งกำลังทหาร 20 กองร้อยลงพื้นที่ คิดว่าในช่วง 6 เดือนหลังจากนี้น่าจะเห็นผล และมีความคืบหน้าในผลสำเร็จ ทั้งเรื่องความพอใจของประชาชน ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในการให้เบาะแส นอกจากนี้กำลังทหารพรานที่ส่งลงไปซึ่งเป็นคนในพื้นที่ก็จะทำให้ บรรดาญาติพี่น้องของทหารพรานเหล่านั้นจะมาเป็นคนของฝ่ายเรา อีกทั้งทหารพรานเหล่านี้ก็ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อต่อสู้กับกองโจร ดังนั้น ถือว่าเป็นคู่ต่อสู้ที่สมน้ำ สมเนื้อกัน หวังว่าเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งฆ่ารายวัน การซุ่มโจมตี และการเผารายวันคงจะลดลง ส่วนเรื่องการเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบ ยังไม่ได้พับเก็บไป แต่เราต้องการจะคุยให้ ถูกกลุ่ม ถูกตัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในและนอกประเทศเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อ 8 ม.ค. ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ของมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้บอกแกนนำกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยค่อนข้างแจ้งชัดแล้วว่า ไม่ควรพยายามแยกดินแดนเป็นอิสระ หรือแม้แต่เรียกร้องสิทธิ์ปกครองตนเอง มหาเธร์กล่าวด้วยว่า ความคับข้องใจของชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรได้รับการเอาใจใส่ แต่เน้นย้ำว่า แม้แต่คำถามเรื่องการปกครองตนเองก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะรัฐบาลไทยไม่ชอบ
อดีตผู้นำมาเลเซียเผยด้วยว่า ได้รับคำแนะนำทางอ้อมให้ถอยฉากจากกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างทางการไทยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพราะมีบางคนไม่ชอบที่ตนทำตัวโดดเด่น แต่ปฏิเสธที่จะระบุว่าใครเป็นผู้แนะนำ อย่างไรก็ตาม ตัวกลางการเจรจาคนอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับมหาเธร์เผยว่า สาเหตุที่มหาเธร์ได้รับคำแนะนำดังกล่าวเป็นเพราะการหารือขั้นต้นที่จำเป็นนั้น บัดนี้ได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนแล้ว ถ้าการเจรจาเริ่มขึ้นอีก คาดว่าผู้จะเข้ามาเกี่ยวข้องคือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ รัฐบาลไทย และรัฐบาลมาเลเซีย โดยเฉพาะคน 2 สัญชาติก่อความรุนแรงในประเทศไทยและหนีเข้าไปกบดานในมาเลเซีย
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์