แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ภายในประเทศ

สนธิชี้ทักษิณ ยังไม่คิดกลับ ( ข่าวทั่วไป )

ภาพประกอบ ข่าวสาร ข่าวทั่วไป : สนธิชี้ทักษิณ ยังไม่คิดกลับ

หลังจากที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าบรรยากาศการเมืองปีนี้จะเกิดความรุนแรงและวุ่นวายหลายอย่าง ต่อมาก็มีกระแสข่าวว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เตรียมจะขอออกกฎหมายเพิ่มอำนาจในการจัดการกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ รวมทั้งจะตั้งเงื่อนไขกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หากจะเดินทางกลับประเทศไทยนั้น ล่าสุด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. ออกมายืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการหารือเรื่องการขอออกกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ คมช. พร้อมฟันธงว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่เดินทางกลับประเทศในช่วงนี้

?สนธิ? ปัดออกกฎหมายเพิ่มอำนาจ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ม.ค. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. เดินทางเข้าพบ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เวลาหารือประมาณ 20 นาที จากนั้น พล.อ.สนธิให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าว คมช.จะเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายใหม่เพื่อให้ คมช.มีอำนาจมากขึ้นในการจัดการกับกลุ่มอำนาจเก่าว่า คมช.ไม่มีอำนาจอะไรแล้ว เพราะทุกอย่างอยู่ที่รัฐบาลหมด และเมื่อมีอะไรก็ไปปรึกษานายกฯ แต่ยังไม่มีการหารือเรื่องนี้ เพราะกฎอัยการศึกก็มีอยู่ในมือแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อห่วงใยเกี่ยวกับแนวทางการสมานฉันท์เกินไปจะทำให้การแก้ปัญหาไม่เด็ดขาดหรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า ก็น่าสนใจตรงนี้
ต่อข้อถามว่า คมช.จะหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขในกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศไทย โดยเฉพาะการปลุกระดมม็อบมาต่อต้านคมช.หรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า คมช.ไม่ได้กังวลตรงจุดนั้น เมื่อถามว่า คมช.มีแนวความคิดต่อกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางกลับประเทศอย่างไร พล.อ.สนธิกล่าวว่า ?ผมว่าท่านไม่มานะ? เมื่อถามย้ำว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณดึงดันที่จะกลับมา จะทำอย่างไร พล.อ.สนธิกล่าวว่า ?ผมเชื่อว่าไม่มา ผมวิเคราะห์ว่าไม่มา ผมมั่นใจ? เมื่อถามว่า สาเหตุใดจึงมั่นใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่เดินทางกลับมา พล.อ.สนธิตอบว่า มีปัจจัยวิเคราะห์หลายอย่าง

เมื่อถามว่า พรรคไทยรักไทยยืนยันที่จะให้ พ.ต.ท. ทักษิณเดินทางมาเป็นพยานปากแรกในคดียุบพรรค พล.อ.สนธิกล่าวว่า ตุลาการรัฐธรรมนูญคงมีวิธีการ เมื่อถามว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาแล้ว คตส.สรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิด จะออกหมายจับหรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า เป็นไปตามกฎหมาย แต่ขณะนี้ยังไม่มีการออกหมายจับ ต่อข้อถามว่า คมช.จะสยบข่าวลือต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างไร พล.อ.สนธิกล่าวว่า ไม่เป็นไร เราทำตามทุกเป้าหมายอยู่แล้ว

?สุรยุทธ์? ระบุรัฐบาลไม่มีเงื่อนไข

ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.สนธิมาหารือถึงความคืบหน้าของสถานการณ์ต่างๆ แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าว คมช.จะตั้งเงื่อนไขการเดินทางกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า ต้องยอมรับหมายจับ หาก คตส.ชี้มูลความผิด พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ?ผมไม่ทราบ คงเป็นเรื่องของ คมช. แต่ทางรัฐบาลยังไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร? เมื่อถามว่า มองว่าเงื่อนไขการออกหมายจับของ คมช.จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะคดียังไม่ทันถึงที่สุด ปรากฏว่า พล.อ.สุรยุทธ์ไม่ตอบคำถามดังกล่าว พร้อมยุติการให้สัมภาษณ์ทันที

ย้ำจัดการเลือกตั้งตามกรอบเวลา

ต่อมาเวลา 09.30 น. นายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน ได้นำผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมด้วยคณะกรรมการไตรภาคีจำนวนกว่า 700 คน เข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ตึกสันติไมตรี ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ตลอดปี 2549 บ้านเมืองประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ทำให้รัฐบาลนี้ต้องเข้ามารับผิดชอบบริหารประเทศ วัตถุประสงค์สำคัญคือการสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ ใช้ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองและปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ หลักในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองคือ สร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการวางรากฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสนช. และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันนี้คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามดำเนินการเพื่อไปสู่ จุดหมาย เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่คนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบ เพราะวาระสุดท้ายต้องทำประชามติ หลังจากนั้นจะมีการจัดการเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข รัฐบาลนี้ไม่มีความมุ่งหมายเป็นอย่างอื่น เราต้องการดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และพยายามทำงานให้คืบหน้ามากที่สุด

ครวญยืนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า เวลาในการทำงานของรัฐบาลมีไม่มาก แต่ภารกิจต่างๆมีความสำคัญ จึงต้องการความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ในฐานะที่เป็นผู้บริหารจะตัดสินใจและทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความรอบคอบ ใช้เหตุผล เพราะรัฐบาลมีหน้าที่สร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ให้แก่บุคคลซึ่งอาจจะมีแนวคิดไม่เหมือนกัน แยกง่ายๆ ได้ 2 กลุ่ม รัฐบาลทำหน้าที่อยู่ตรงกลาง จึงต้องยอมรับแรงกดดันจากคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ หากรัฐบาลไม่ทำหน้าที่รับแรงกดดัน ป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันเหมือนตอนปี 2549 ก็จะเกิดปัญหาในบ้านเมือง ดังนั้นรัฐบาลจึงตระหนักดีว่าต้องอดทน และยอมรับแรงกดดันจากทุกฝ่าย เพื่อเดินหน้าไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมือง และสร้างความสมานฉันท์และความสันติสุขให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง

?บวรศักดิ์-เลขากฤษฎีกา? ย่องหารือ

กระทั่งเวลา 16.30 น. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธาน คมช. พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการ คมช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมาชิก สนช. และคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เดินทางเข้าพบหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดย พล.อ.สนธิกับ พล.อ.วินัยสั่งให้คนขับรถไปส่งที่ด้านหลังตึก เพื่อหลบเลี่ยงการสังเกตการณ์ของผู้สื่อข่าว จนกระทั่งเวลา 17.30 น. ทั้งหมดจึงทยอยเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล

ถกออกกฎหมายปราบแก๊งป่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือครั้งนี้ได้พิจารณาข้อเสนอของสมาชิก สนช.บางกลุ่มที่ต้องการให้รัฐบาลออกกฎหมายพิเศษใช้ความเด็ดขาดจัดการกับกลุ่มคลื่นใต้น้ำและผู้ที่ก่อวินาศกรรม สร้างความปั่นป่วนในบ้านเมือง ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่า หากรัฐบาลต้องการจะควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบหรือการก่อวินาศกรรม ก็สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ เพราะ พ.ร.ก.ดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ และสามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ ไม่ใช่เจาะจงเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังสั่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปจัดทำแนวทางข้อกฎหมายเตรียมไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายพิเศษขึ้นมาใหม่ หรือใช้บทบัญญัติตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดความฉุกละหุกหากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ

ทรท.ขอเพิ่มพยานคดียุบพรรค

ส่วนความคืบหน้าในการพิจารณาคำร้องยุบพรรคนั้น วันเดียวกัน ตุลาการรัฐธรรมนูญเปิดให้คู่กรณีในคดียุบพรรคยื่นคำโต้แย้ง ภายหลังจากมีการตัดพยานบุคคลบางส่วนไปแล้ว โดยพรรคประชาธิปัตย์ส่งตัวแทนเข้ายืนยันว่า ไม่ติดใจรายชื่อพยานที่ถูกตุลาการตัดทิ้ง ขณะที่นายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความพรรคไทยรักไทย คัดค้านพยานบุคคลที่ถูกตัดออกไป อาทิ นายสุวโรช พะลัง นายชัยวัฒน์ นิลปักษ์ น.ส.เพชรี ภาวะลี นายปริญญา นาคฉัตรีย์ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา น.ส.พจนา ศรีอภัย พ.ต.ท.สุวิชา บุญมี และขอเพิ่มพยานที่ให้ความเห็นทางวิชาการ อาทิ นายกระมล ทองธรรมชาติ ทั้งนี้ นายสมศักดิ์เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือโต้แย้งให้ตุลาการเห็นถึงความจำเป็น เกี่ยวกับประเด็นข้อต่อสู้ของพรรคไทยรักไทย ที่ต้องการค้นหาความจริงจากพยานบุคคลเหล่านี้ คาดว่าตุลาการจะประชุมและแจ้งให้พรรคทราบภายในสัปดาห์นี้ ว่าจะอนุญาตให้เพิ่มพยานบุคคลปากใดบ้าง

ฟุ้งปี 49 มีสมาชิกพรรคเพิ่ม

ที่พรรคไทยรักไทย นายสมาน เลิศวงศ์รัฐ นายทะเบียนพรรคไทยรักไทย แถลงสรุปยอดสมาชิกพรรคไทยรักไทยว่า สมาชิกพรรคนับเมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 14,435,939 คน โดยในรอบปีที่ผ่านมามีคนมาสมัครเพิ่ม 49,276 คน ลาออกไป 11,297 คน ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและแปลกใจ โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ก.ย.มีคนสมัครเข้าอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงที่มีการทำรัฐประหาร ส่วนสมาชิกที่ลาออกจะออกกันมากในช่วง พ.ค.-มิ.ย. สำหรับอดีต ส.ส.ระบบเขต 337 คนนั้น เหลือที่ยังคงอยู่กับพรรคทั้งสิ้น 231 คน แยกเป็นภาคเหนือ 48 คน ภาคอีสาน 103 คน ภาคกลาง 56 คน ภาคใต้ 1 คน และ กทม. 23 คน

?นพดล? ย้ำเงื่อนไข ?ทักษิณ? กลับไทย

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายตระกูลชินวัตร กล่าวถึงการเดินทางกลับประเทศไทยของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ยังเป็นไปตามเงื่อนไขเดิม คือจะเดินทางกลับต่อเมื่อ คตส.แจ้งข้อกล่าวหา จึงจะเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาและต่อสู้คดี ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่า คมช.จะตั้งเงื่อนไขการกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า หาก คตส.ชี้มูลความผิดและจำเป็นต้องออกหมายจับเพื่อดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องยอมรับเพื่อแลกกับการอนุญาตให้กลับเข้าประเทศได้ นายนพดลตอบว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะการออกหมายจับใช้ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ไปตามนัด หรือมีพฤติกรรมหลบหนี

คตส.บี้หน่วยงานรัฐยื่นกล่าวโทษ

ทางด้านความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตโครงการต่างๆ ในสมัยรัฐบาลก่อน เมื่อเวลา 13.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยนายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.เป็นประธานที่ประชุม เพื่อรับทราบรายงานความคืบหน้าในการตรวจสอบโครงการต่างๆ ภายหลังใช้เวลาการประชุมนาน 2 ชั่วโมง นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. แถลงว่า นายนามได้ลงนามในหนังสือส่งถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแล ครม.และส่วนราชการ และได้ส่งหนังสือไปถึงรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้ทราบถึงมติการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องที่ คตส.มีมติไปแล้ว พร้อมจัดสรุปสำนวนการตรวจสอบเพื่อให้หน่วยงานต่างๆในฐานะผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ และแนบร่างแบบฟอร์มตัวอย่างการร้องทุกข์ไปด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการที่ คตส.ชี้มูลความผิดตามผลสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบไปแล้วคือ โครงการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ โครงการท่อร้อยสายไฟฟ้า ในสนามบินสุวรรณภูมิ และกรณีการซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นายสักกล่าวว่า ส่วนกรณีที่นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตร พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางเข้าชี้แจงข้อมูลการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 10 ม.ค. และ 24 ม.ค.นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าบุคคลทั้งสองจะมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ หากไม่มา คตส.จะมีมาตรการรองรับ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอจนกว่าถึงวันนัด

ขณะที่นายนามกล่าวว่า คตส.ต้องการที่จะให้ทั้งคู่มาให้ข้อมูล หากไม่มา คตส.ก็สามารถส่งเรื่องไปให้ เจ้าพนักงานออกหมายเรียกได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ผู้สื่อข่าวถามว่า คตส.จะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันที่นายพานทองแท้เดินทางมาชี้แจงหรือไม่ เพราะอาจเกิดการชุมนุมของม็อบที่มาให้กำลังใจ นายนามตอบว่า ไม่จำเป็น ที่ สตง.มีกำลังทหารรักษาความปลอดภัยอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว เชื่อว่าจะไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย เมื่อถามว่าเคยโดนข่มขู่อะไรบ้างหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีกรรมการ คตส.บางคนถูกขู่วางระเบิด นายนามตอบอย่างอารมณ์ดีว่า ไม่มี ไม่มีใครกล้ามาแหยมหรอก

?นาม? เสนอใช้มาตรา 157

นายนามกล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้สั่งหน่วยงานต่างๆเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับ คตส. เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนความผิดโครงการต่างๆตามที่มีมติตามผลสรุปของคณะอนุกรรมการตรวจสอบนั้น หากเจ้าหน้าที่ยังเพิกเฉย คตส.จะดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ก.พ.ปัดคำอุทธรณ์ ?ศิโรตม์?

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ก.พ. เพื่อพิจารณาหนังสือขอความเป็นธรรมของนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กรณี ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กรณีละเว้นไม่เก็บภาษีการรับโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่า 738 ล้านบาท ระหว่าง น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ว่า นายศิโรตม์ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2549 ระบุว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช. ก.พ.ได้ส่งเรื่องไปให้ อ.ก.พ.ระบบคุณธรรมพิจารณา แต่ระหว่างนั้น อ.ก.พ.กระทรวงการคลังลงมติไล่ออกนายศิโรตม์ไปแล้ว ทำให้คำอุทธรณ์ของนายศิโรตม์ที่ยื่นต่อ อ.ก.พ.ระบบคุณธรรมไม่มีผล แต่นายศิโรตม์ สามารถยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ใหม่อีกครั้งเพื่อขอลดระดับโทษ โดยจะต้องยื่นมาภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2550 ที่ปลัดกระทรวงการคลังเซ็นคำสั่ง ลงโทษไล่ออกนายศิโรตม์ตามที่ อ.ก.พ.กระทรวงเสนอมา

ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215