นายรณฤทธิชัย คานเขต อดีต ส.ส.ยโสธร พรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการทาบทาม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ว่า สาเหตุที่อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทยที่เคยอยู่ในสังกัดพรรคความหวังใหม่ ไปพบปะหารือกับ พล.อ.ชวลิต เพราะเห็นว่าพรรคไทยรักไทยกำลังมีปัญหา จึงอยากได้คนที่มีประสบการณ์และวิเคราะห์การเมืองได้มาเป็นหัวหน้าพรรค ที่สำคัญ พล.อ.ชวลิตลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ก่อนที่จะเกิดเรื่องในคดียุบพรรค ดังนั้น หากตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย รวมถึงกรรมการบริหารพรรคต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี พล.อ.ชวลิตก็จะไม่เกี่ยวข้อง และมีสิทธิที่จะเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไปได้ อดีต ส.ส.หลายคนจึงคาดหวังในตัว พล.อ.ชวลิตค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ พล.อ.ชวลิต ยังไม่ได้ตัดสินใจหรือให้คำตอบกลับมา
อุ่นใจถ้าได้มาเป็นกุนซือ
ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ในระดับแกนนำพรรคยังไม่ได้คุยกันอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการทาบทาม พล.อ.ชวลิตมาเป็นหัวหน้าพรรค ต้องยอมรับว่า ขณะนี้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ทำหน้าที่ได้อย่างแข็งขันเหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนการทำงานการเมืองต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรู้ก่อนว่าเราต่อสู้กับอะไร และจะทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนในแนวทางใด อย่างไร ก็ตาม หากได้ พล.อ.ชวลิตมาเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค เราก็จะอบอุ่นใจ เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องไปดำเนินการอะไร ถ้าจะมีการไปเชื้อเชิญ พล.อ.ชวลิตมาต้องมีการพูดคุยหารือในคณะทำงานของพรรคก่อน ส่วนที่นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พล.อ.ชวลิตอายุมากเกินกว่าที่จะเล่นการเมืองแล้วนั้น อายุเป็นเพียงตัวเลข อย่าเอาประเด็นนี้มาเป็นสาระหรือปรามาสกัน มิฉะนั้นจะเหมือนการเหยียดผิ
ว
ยกปมกฎหมายสู้คดียุบพรรค
ร.ท.กุเทพกล่าวถึงการต่อสู้ในคดียุบพรรคว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายเชื่อว่าต่อสู้ได้ในแง่ประเด็นของข้อกฎหมาย โดยช่วงหลังปีใหม่จะเปิดปมประเด็นสำคัญแก่สังคมและนักวิชาการด้านกฎหมายอย่างน้อย 3 ประเด็น คือ 1. เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกยกเลิกไปแล้ว ข้อกล่าวหาที่ว่าพรรคไทยรักไทยไปแสวงหาอำนาจการปกครองที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จะเอาฐานความผิดอะไรมาดำเนินการอีก แต่ถ้าจะถือเป็นความผิดได้ แล้วกรณีคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญก็สมควรต้องถือเป็นความผิดด้วยหรือไม่ 2. ตุลาการรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยคดีนี้จะถือว่าทำหน้าที่ในฐานะเป็นศาลในพระปรมาภิไธยหรือไม่ หรือจะทำในฐานะอะไร เพราะตุลาการรัฐธรรมนูญบอกเองว่าไม่ใช่ศาล 3. การจะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปแล้ว วันนี้จะถือว่ามีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เรื่องเหล่านี้ได้หารือกับนักกฎหมายต่างประเทศเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนประเด็นว่าใครจ้างใครถือเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว
?ศิธา? โวย คมช.ระแวงเกินเหตุ
น.ต.ศิธา ทิวารี อดีต ส.ส.กทม. รักษาการโฆษก พรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. นำทหารไปจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ประชาธิปไตยแก่เยาวชนและช่วยเหลือประชาชนในเขตพื้นที่ฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย เช่น ที่ชุมนุมคลองเตยว่า 6 ปีที่ผ่านมา ในฐานะ ส.ส.พื้นที่ ได้รับความร่วมมือจากทหารในการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาตลอด ยกเว้นในช่วง 2-3 เดือน ที่มีการปฏิวัติยึดอำนาจ ดังนั้นต้องถือว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ ที่ผ่านมาที่ตนต้องตอบโต้ คมช.บ้าง ก็เป็นกรณีที่จำเป็นในฐานะโฆษกพรรค ส่วนเรื่องอื่น เช่นงบลับพันล้านบาทที่ใช้ในการปฏิวัติ หรือปัญหาภาคใต้ที่รุนแรงมากขึ้น ก็ไม่เคยพูดให้กระทบกองทัพเลย ดังนั้น ขอให้ทหารให้ความไว้วางใจบ้าง ไม่ควรคิดว่าใครก็ตามที่อยู่ในพรรคไทยรักไทยต้องเป็นศัตรูทั้งหมด ไม่เว้นกระทั่งรุ่นน้องที่จบสถาบันเดียวกัน ไม่ควรระแวงขนาดนั้น
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์