แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ภายในประเทศ

บวงสรวงยกตั้งใหม่เสาชิงช้า ( ข่าวทั่วไป )

ภาพประกอบ ข่าวสาร ข่าวทั่วไป : บวงสรวงยกตั้งใหม่เสาชิงช้า

ผู้ว่าฯกทม.ทำพิธีบวงสรวงติดตั้งเสาชิงช้า มีชาวบ้านมาร่วมงานคับคั่ง พิธีเริ่มจากบวงสรวงวางแผ่นผ้ายันต์และสิ่งของมงคล เป็นแก้วแหวนเงินทอง เหรียญกษาปณ์ต่างๆ ไว้ที่ใต้ฐานเสาหลักทั้งสองต้น จากนั้นถวายน้ำเทพมนต์-เจิมเสาชิงช้าทั้งคู่ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ขณะที่พราหมณ์ลั่นฆ้องชัย เป่าสังข์ แกว่งบัณเฑาะว์ ปี่พาทย์ บรรเลงเพลงมหาชัย ผู้เข้าร่วมเผยเป็นมงคลในชีวิต ต่างมารอนำสิ่งของที่เข้าร่วมพิธีไปบูชาต่อ

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 24 ธ.ค. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเพื่อติดตั้งเสาชิงช้า บริเวณเสาชิงช้า ลานคนเมืองหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม โดยมีข้าราชการ ประชาชน และสื่อมวลชนร่วมพิธีจำนวนมาก ทั้งนี้ พิธีการเริ่มขึ้นโดยนายอภิรักษ์ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่พระพุทธนวราชบพิตร ภายในศาลาว่าการ กทม. พระศรีศากยมุนี พระวิหารหลวงวัดสุทัศน์ และเดินทางไปยังเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เพื่อสักการะท่านท้าวมหาพรหม พระอิศวร พระพิฆเนศวร และพระนารายณ์ จากนั้นจึงเดินทางกลับมายังบริเวณประกอบพิธี พร้อมกับกล่าวถึงความเป็นมาของพิธีติดตั้งเสาชิงช้า ณ ลานคนเมือง ว่า เสาชิงช้า เป็นศิลปกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร และเป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2492 เนื่องด้วยความทรงคุณค่า 3 ประการคือ 1. เป็นหลักฐานอ้างอิงเชิงประวัติศาสตร์การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 2. เป็นศิลปกรรม แห่งพิธีกรรมที่สื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ของแผ่นดิน และเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งช่วงเวลามากกว่า 2 ศตวรรษ จากกรุงรัตนโกสินทร์ สู่กรุงเทพมหาคร การอนุรักษ์เสาชิงช้าได้ดำเนินมาเป็นระยะๆ จนกระทั่งในทศวรรษนี้ นับได้ว่าเป็นครั้งที่พิเศษยิ่งที่เริ่มจากการตรวจพบเนื้อไม้ของเสาชิงช้าผุกร่อนในปลายปี 2547 จากนั้นได้มีความร่วมมือกันที่จะอนุรักษ์ โดยการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเสาชิงช้า โดยมีการเสริมชั่วคราวจนกว่าจะมีการสืบค้นหาต้นไม้สักทองมาทดแทนได้ ดังนั้นเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2548 กรุงเทพมหานครได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงเสาชิงช้าขึ้นเพื่อซ่อมแซมความผุพังที่ได้ตรวจสอบ

นายอภิรักษ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้นได้มีการค้นพบไม้สักทองมีลักษณะดีและตรงตามแบบของเดิมที่จ.แพร่ จากนั้นจึงร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีบวงสรวงต้นสักเพื่อขุดตัดไม้นำมาทดแทนเสาชิงช้าเดิมเมื่อวันศุกร์ที่ 19 พ.ค.2549 แล้วจึงดำเนินพิธีบวงสรวงถอดเปลี่ยนเสาชิงช้าคู่เดิมเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2549 ซึ่งทุกครั้งของการดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ได้รับความสนใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จนถึงในวันเดียวกันนี้ซึ่งเป็นฤกษ์ที่ทุกคนจะได้เห็นเสาชิงช้าคู่ใหม่ตั้งอยู่ในที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ภายหลังการกล่าวสรุปความเป็นมาของการบูรณะเสาชิงช้า นายอภิรักษ์ ทำพิธีรับศีล พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 16 รูป เจริญพุทธมนต์ แล้วจึงเป็นประธานในการถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์

ต่อมาเวลา 11.15 น. ซึ่งเป็นฤกษ์กำหนดโดยพระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์ ซึ่งถือเป็นราชาแห่งฤกษ์ ในวันนี้ ตรงกับวันที่ 24 ธันวาคม 2549 ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ จุลศักราช 1368 ลัคนาสถิตราศีมีน พระราชครูวามเทพมุนี ทำพิธีบวงสรวงโดยวางแผ่นผ้ายันต์และสิ่งของมงคล เป็นแก้วแหวนเงินทอง เรียกว่า นพรัตน์ และเหรียญกษาปณ์ต่างๆ ไว้ที่ใต้ฐานเสาหลักทั้งสองต้น จากนั้นถวายน้ำเทพมนต์ และเจิมเสาชิงช้าทั้งคู่ นายอภิรักษ์ผูกผ้าแพรสีขาวพร้อมถวายพวงมาลัยที่เสาเพื่อบูชาองค์เทพสถิตเสาชิงช้า และร่วมกับคณะผู้บริหาร ข้าราชการ ประชาชน จับสายสูตรตั้งจิตอธิษฐานเพื่อการติดตั้งเสาชิงช้า พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ขณะที่พราหมณ์ลั่นฆ้องชัย เป่าสังข์ แกว่งบัณเฑาะว์ ปี่พาทย์ บรรเลงเพลงมหาชัย และทำพิธีกรวดน้ำ ถือเป็นการเสร็จสิ้นพิธี

นายอภิรักษ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังเสร็จพิธีว่า พิธีในวันนี้เสร็จสิ้นไปด้วยดี ทั้งนี้คาดว่า การติดตั้งเสาชิงช้าจะเสร็จสิ้นในประมาณกลางเดือนมกราคมนี้ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการปรับภูมิทัศน์โดยรอบเสาชิงช้า และจะมีการสมโภชเฉลิมฉลองต่อไป อย่างไรก็ตามคณะกรรมการจะร่วมประชุมกันเพื่อกำหนดช่วงเวลาที่แน่ชัด รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้จะได้ทำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการด้วย ทั้งนี้ในระหว่างนี้คณะกรรมการจะได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงในจดหมายเหตุ และสื่ออื่นๆ อาทิ ซีดี วิดีโอ หนังสือที่ระลึก เพื่อเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์กรุงเทพมหานครด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับพิธีตั้งเสาชิงช้าในวันนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากที่เดินทางมาร่วมประกอบพิธีตั้งแต่เช้า โดยส่วนใหญ่ต้องการที่จะได้รับเครื่องประกอบพิธี บวงสรวงกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคล โดยทันทีที่เสร็จพิธี ประชาชนจำนวนมากพากันยื้อแย่งที่จะเข้าไปนำสิ่งของต่างๆ อาทิ ผลไม้ เช่น กล้วยไข่ ส้ม และของบวงสรวงจำพวก ข้าวตอกดอกไม้ต่างๆ กลับไปบูชาที่บ้าน

นางสกุลตลา เฉลยสุข อายุ 34 ปี อาชีพรับจ้าง ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่าแม้ตนจะเป็นชาวร้อยเอ็ด แต่ได้เดินทางมาอยู่กรุงเทพฯหลายปีแล้ว เมื่อทราบข่าวจากโทรทัศน์ว่าจะมีพิธีตั้งเสาชิงช้าใหม่ จึงรีบเดินทางมาร่วมพิธีตั้งแต่เช้า ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะนอกจากจะได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีประวัติศาสตร์แล้ว ตนยังมีโอกาสได้รับของบวงสรวง เป็นส้ม และข้าวตอกดอกไม้ กลับไปบูชาด้วย ถือว่าเป็นสิริมงคลของชีวิตทีเดียว

ด้านนายสมัย บริบูรณ์ อายุ 34 ปี ชาวจ.นนทบุรี กล่าวว่า ตนเดินทางมาตั้งแต่เช้าเช่นกัน โดยตั้งใจจะมารับสิ่งของมงคลเหล่านี้ไปบูชาเพื่อเป็นมงคลของชีวิต และรู้สึกดีใจที่มีการบูรณะเสาชิงช้าใหม่ เพื่อที่จะได้อยู่คู่กับคนกรุงเทพฯไปอีกหลายร้อยปี

ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215