?สมเด็จพระเทพฯ?เสด็จฯทรงเปิดสะพานมิตรภาพ 2 ข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมไทย-ลาวระหว่างมุกดาหารกับสะหวันนะเขตร่วมกับท่านบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศลาว โดยมีผู้นำไทย-ลาว-เวียดนามเข้าร่วมพิธีอย่างอบอุ่น นอกจากนี้ยังมี 2 รัฐมนตรีจากญี่ปุ่นบินมาร่วมด้วย เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศลาว เผยเป็นเส้นทางเชื่อม 4 ประเทศในอาเซียน มีประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการขนส่งอย่างมากในเอเชีย แนะมุกดาหารนำรูปแบบการบริการของสะพานมิตรภาพ 1 มาปรับใช้ ขณะที่กงสุลไทยประจำสะหวันนะเขตเผยสะพานแห่งนี้ยังไม่เปิดใช้บริการขณะนี้ เนื่องจากยังติดเรื่องข้อตกลงระหว่างกันไม่ลงตัว
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 ธ.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงประกอบพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาว ร่วมกับ นายบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว นายเหงียน ทัน ดุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายคัตสุฮิโตะ อาซาโนะ รมช.การต่างประเทศญี่ปุ่น นายโคโซ ยามาโมโต รมช.อุตสาหกรรมและการค้าญี่ปุ่น และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่บริเวณจุดกึ่งกลางของสะพานที่เชื่อมสองฝั่งโขง โดยมีคุณพลอยไพลิน เจนเซน และคุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีด้วย
พล.อ.สุรยุทธ์กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับความเป็นมาของการ ?ก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 2? โดยสังเขปว่า การก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 2 มีขึ้นภายหลังจากความสำเร็จในการเปิดสะพานมิตรภาพ ที่ จ.หนองคาย-เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537 ซึ่งสามารถทำให้การคมนาคมขนส่งมีความสะดวก และมีการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้กระชับมากยิ่งขึ้น และจากผลดีดังกล่าวจึงได้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 2 ขึ้นที่บริเวณ จ.มุกดาหาร ของไทยและแขวงสะหวันนะเขตของ สปป.ลาว เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบโครงข่ายถนนเชื่อมระหว่าง 4 ประเทศ คือ สหภาพพม่า ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตามแผนพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก อันจะเป็นการเปิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมสู่ประเทศอื่นๆ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น บังกลาเทศ และอินเดียต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อได้เวลาอันสมควร นายกรัฐมนตรี ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ ทรงประกอบพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 เพื่อความเป็นสิริมงคล และก่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลในด้านต่างๆ อันยังความสุข ความเจริญ และความสะดวก ปลอดภัย มาสู่ประชาชนของทั้งสองประเทศ จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายคำจารึกสะพานมิตรภาพ 2 พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายเจริญพระพุทธมนต์ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 อย่างเป็นทางการ โดยมีประชาชนไทยและประชาชนลาวเดินทางมาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและใกล้ชิดกันระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
หลังจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังโรงเรียนสาธารณสุข แขวงสะหวันนะเขต โดยมีนายปอนเมก ดาลาลอย รมว.สาธารณสุข สปป.ลาว นายสุพัน แก้วมีไซ รองเจ้าแขวงสะหวันนะเขต เฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการสาธิตการเรียนการสอนและห้องศูนย์ปฏิบัติการ ห้องเก็บอุปกรณ์ ห้องคอมพิวเตอร์และห้องสมุด ด้วยความสนพระทัย ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปยังด่านตรวจคนเข้าเมือง ฝั่งสปป.ลาว เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวัน จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับ
สำหรับสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เชื่อมโยงจากทางตะวันออก คือ เมืองดานัง (เวียดนาม) ข้ามแม่น้ำโขงฝั่งลาวที่บริเวณบ้านนาแก เมืองไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขตและข้ามมาประเทศไทย ที่บริเวณบ้านสงเปือย ต.บางงทราย จ.มุกดาหาร และผ่านไปยังฝั่งตะวันตกที่ชายแดนไทย-พม่า ที่อ.แม่สอด และเมืองเมียวดี ก่อนไปสิ้นสุดที่เมืองมะละแหม่งของพม่า โดยจุดกลับรถอยู่ฝั่งไทย มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 แล้วเสร็จเมื่อต้นเดือนธ.ค 2549 หน่วยงานที่รับผิดชอบในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 2 ของไทย ได้แก่ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ส่วนฝ่าย สปป.ลาว คือ กระทรวงคมนาคม การขนส่งไปรษณีย์ และก่อสร้าง รวมระยะเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 36 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2546 ตัวสะพานมีความยาว 1,600 เมตร กว้าง 12 เมตร เป็นคอนกรีตอัดแรงเช่นเดียวกับสะพานมิตรภาพ โครงสร้างเชิงลาดคอสะพานฝั่งไทยมีความยาว 250 เมตร และที่ฝั่ง สปป.ลาว มีความยาว 200 เมตร รวมความยาวทั้งสิ้น 2,050 เมตร ได้รับความช่วยเหลือเป็นเงินกู้ประมาณ 8,090 ล้านเยน หรือประมาณ 2,588 ล้านบาท จากธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุน โดยฝ่ายไทยและ สปป.ลาว รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดคนละครึ่ง กรรมสิทธิ์โครงการของแต่ละประเทศอยู่ที่จุดกึ่งกลางของสะพาน โครงการนี้ไม่เพียงเป็นเส้นทางหนึ่งที่เชื่อมเส้นทางต่างๆ ตามแผนพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตกเท่านั้น แต่จะเชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาค และเอื้ออำนวยให้แต่ละประเทศสามารถให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลในทุกๆ ด้านบนพื้นฐานของความเป็นมิตรที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น
นายรัฐกิจ มานะทัต เอกอัครราชทูตไทยประจำสปป.ลาว กล่าวว่า สะพานแห่งนี้ นอกจากเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังทำให้ระบบการค้าและเศรษฐกิจดีขึ้น ไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ยังรวมถึงทุกประเทศในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวใน 4 ประเทศ ที่อยู่บนเส้นทางสายนี้ ตั้งแต่เมืองเมาะลำเลิง สหภาพพม่า จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.มุกดาหาร ประเทศไทย แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว เมืองลาวบาว เมืองเว้ และท่าเรือดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมถึงเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
?มุกดาหารต้องนำประสบการณ์ของหนองคายมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะสะพานมิตรภาพแห่งแรกต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี จึงจะเปิดให้ใช้พาสปอร์ตรถยนต์และข้ามแดนโดยไม่ต้องใช้วีซ่า หากมุกดาหารนำเรื่องเหล่านี้มาใช้ให้เร็วที่สุด จะทำให้เมืองเจริญเหมือน จ.หนองคายได้เร็วกว่า เพราะหากเทียบวันนี้กับ 12 ปีก่อน หนองคายนับว่าเป็นเมืองที่เงียบเหงามาก? นายรัฐกิจ กล่าว
นายกิตติพงศ์ บันลือสินธุ์ รองกงสุลใหญ่รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว เปิดเผยว่า พิธีเปิดสะพานในวันนี้จะเป็นเพียงพิธีการเท่านั้น เพราะยังไม่สามารถเปิดให้ผ่านแดนได้ เนื่องจากยังติดขัดในข้อตกลงการใช้สะพานร่วมกันบางข้อ ยังหาข้อยุติไม่ได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการบริหารและบำรุงรักษาสะพานมิตรภาพ 2 ซึ่งมีตัวแทนจากทั้งสองประเทศ กำลังเร่งพิจารณาหาข้อยุติ เพื่อให้เปิดใช้สะพานได้เร็วที่สุด สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการใช้สะพาน รถยนต์ 4 ล้อ ราคา 50 บาท รถยนต์เกิน 7 ที่นั่ง แต่ไม่ถึง 12 ที่นั่ง ราคา 100 บาท รถยนต์ขนาด 12 ที่นั่ง ไม่เกิน 24 ที่นั่ง ราคา 150 บาท รถยนต์ขนาด 24 ที่นั่งขึ้นไป 200 บาท รถบรรทุก 6 ล้อ ราคา 250 บาท รถสิบล้อ ราคา 350 บาท รถบรรทุกเกินสิบล้อขึ้นไป ราคา 500 บาท จำกัดความเร็วที่ 50 ก.ม. ต่อช.ม.
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์