ประมงพื้นบ้าน 4 อำเภอ สตูล กว่า 300 คน เดินขบวนจี้รัฐให้แก้ปัญหาการทำประมงพื้นบ้านโดยเร่งด่วน
วันนี้ (12 มิ.ย.) ชาวประมงพื้นบ้านจาก 4 อำเภอ ในจังหวัด สตูล กว่า 300 คน เดินขบวนชูป้ายผ้า มุ่งหน้ามายังศาลากลางจังหวัด สตูล เพื่อยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดถึงนายกรัฐมนตรี ไม่เอาเครื่องมือทำลายล้างทะเลอันดามัน และขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้านโดยเร่งด่วน
พร้อมอ้างว่า ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ. สตูล เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ได้รวมกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่งทะเล สตูล ในการแก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน ในการร่วมกันดูแลรักษา ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งพัฒนาคุณภาพชีวิตอาชีพของชาวประมง ได้ประสานงานกับส่วนราชการ องค์กรเอกชนในจังหวัด สตูล เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ปัญหาของชาวประมงยังคมอยู่อีกมากมายหลายเรื่อง ในการนี้ชมรมจึงขอความกรุณามายังนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการแก้ไข กรณีปัญหาชาวประมงพื้นที่บ้านชุมชนชายฝั่ง จ. สตูล อย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม
นายอารีย์ ติงหวัง ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน อ.ละงู นายดะเฉ็ม แลหมัน ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน อ.เมือง นายเหลด เมงไซ ตัวแทนประมงพื้นบ้าน อ.ท่าแพ และนายยูหราด มาลาสัย ตัวแทนประมงพื้นบ้าน อ.ทุ่งหว้า ได้ยื่นข้อเสนอ ประกอบด้วย
ข้อแรก ให้มีการตั้งคณะกรรมการหรือชุดเฉพาะกิจตรวจการณ์ทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่งทะเลร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานรัฐ ราชการ และองค์กรชุมชนชาวประมงชายฝั่ง ตามที่เคยมีมาสมัยผู้ว่าราชการคนก่อนหน้านี้
ข้อสอง ให้มีเวทีชมรมชาวประมงพื้นที่ จ. สตูล พบส่วนราชการ 3 เดือนครั้ง เหมือนสมัย ผวจ.วิจิตร วิชัยสาร เพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านได้นำเสนอกิจกรรมการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง การวางแผนรักษาทรัพยากรร่วมกัน และรายงานความคืบหน้าคณะกรรมการหรือชุดเฉพาะกิจตรวจการณ์ทะเล
พร้อมกันนี้ ชาวประมงพื้นบ้าน สตูล ขอสนับสนุนข้อตกลงในการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2550 ที่ผ่านมา โดยขอให้รีบดำเนินการออกมติคณะรัฐมนตรี ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามข้อตกลงกันไว้โดยเฉพาะ
ปัญหาของประมงพื้นบ้าน คือ 1.ให้ยกเลิกโครงการพัฒนาฐานการผลิตอาหารทะเลของประเทศ ซีฟูดแบงก์ 2.ปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2515 เรื่องกำหนดเขตห้ามอวนรุน อวนลาก ขยายแนวเขตจาก 3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตร หรือ 3 ไมล์ทะเล ดำเนินการให้เสร็จภายใน 7 วัน
3.ให้คณะรัฐมนตรี พิจารณายกเลิก เครื่องมือประมง อวนรุน เพราะทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนตาวแนวชายฝั่ง 4.ควบคุมจำนวนเรืออวนลาก และสุดท้ายให้มีการพิจารณาการใช้เครื่องมืออวนครอบ อวนซ้อน อวนยกจับปลากะตัก และสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนด้วยแสงไฟล่อ พร้อมขู่หากไม่ได้คำตอบจากภาครัฐที่ชัดเจนจะเดินขบวนมาทวงถามไม่
ด้าน นายขวัญชัย วงศ์นิติกร ผวจ. สตูล ได้ออกมารับหนังสือและรับปากจะเป็นคนกลางประสานความต้องการของชาวประมงพื้นบ้าน ไปยังนายกรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน และกล่าวกับชาวประมงว่า รู้สึกเห็นใจกับการออกมาเคลื่อนไหวของชาวประมงพื้นบ้านในครั้งนี้ ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน และยอมสลายตัวกลับไปในที่สุด
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์