แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

สตูล, ประชุมผู้รู้ศาสนาอิสลามสรุป 10 ข้อ ?อิสลามแนวทางสร้างความสามัคคีและสันติสุข? ป้องกันศาสนาถูกบิดเบือน ( ข่าวสตูล )

ข่าวสตูล : ประชุมผู้รู้ศาสนาอิสลามสรุป 10 ข้อ ?อิสลามแนวทางสร้างความสามัคคีและสันติสุข? ป้องกันศาสนาถูกบิดเบือน

คณะผู้รู้ทางศาสนาอิสลามทั่วประเทศสรุป 10 ข้อ “อิสลามแนวทางสร้างความสามัคคีและสันติสุข” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และคลายความสงสัยของสังคม และไม่มีการแอบอ้างบิดเบือน พร้อมร้องสื่อนำเสนอข่าวด้วยความรับผิดชอบ เพราะอาจทำให้คนดีตกเป็นจำเลยสังคมได้ และเป็นที่มาของความแตกแยก
      
วันนี้ (26 มี.ค.) ศาสตราจารย์ ดร.อิมรอน มะลูลีม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี แถลงผลสรุปตามโครงการประชุมสัมมนาคณะผู้รู้ศาสนาอิสลามในประเทศไทย ในหัวข้อเรื่อง “อิสลามกับแนวทางในการสร้างความสามัคคีและสันติสุข” โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคที่ 4 และศูนย์อำนวยการ บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นที่โรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ จังหวัดสตูล ระหว่างวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2550 โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 200 คน ในการหารือครั้งนี้
      
ศาสตราจารย์ ดร.อิมรอน มะลูลีม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี แถลงว่า จากสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ ในขณะนี้ได้สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้จากความห่วงใยต่อสถานการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในเวลานี้ สำนักจุฬาราชมนตรี กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม และประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศได้ร่วมกันประชุมปรึกษาหารือและมีข้อสรุปดังนี้
      
1.ในยามที่สังคมเกิดวิกฤต ผู้รู้และผู้นำศาสนาอิสลามต้องมีความกล้าหาญ ในทางจริยธรรมในการชี้นำสังคมไปในทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้ โดยรัฐให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้นำและผู้รู้ทางศาสนามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาของสังคมมุสลิม และประเทศชาติโดยรวม
      
2.หลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ยอมรับในความแตกต่าง และความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ตลอดจนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ การกระทำหรือคำกล่าวใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าศาสนาอิสลามมีความเกลียดชังรังเกียจศาสนิกในศาสนาและชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่ใช่หลักคำสอนของอิสลาม
      
3.อิสลามมีหลักคำสอน เรื่อง ญีฮัตชัดเจน และการญีฮัตมิได้หมายถึง การทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าบุคคลเหล่าน้นจะนับถือศาสนาใด การอ้างคำสอนเรื่อง ญีฮาดเพื่อนำมาทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม
      
4.การเรียกว่าญีฮัตใช่หรือไม่ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าถูกกดขี่ และขับไล่อย่างอยุติธรรม ถูกลิดรอนด้านศาสนา และจะต้องอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ทางจริยธรรมในการทำสงครามญีฮัต เพราะฉะนั้นการก่อความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ย่อมไม่ถือเป็นการญีฮัต อนึ่ง รัฐจะต้องไม่สร้างเงื่อนไขใดๆ อันจะนำไปสู่การอ้างความชอบธรรมของผู้ไม่หวังดีในการกระทำความรุนแรง
      
5.การวินิจฉัยว่า บุคคลจะเป็นชะฮีดหรือไม่จะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของการทำญีฮัต แต่หากการเสียชีวิตที่อยู่นอกเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็นชะฮีดตามบทบัญญัติอิสลาม

6.การสาบาน (ซุมเปาะห์) จะสมบูรณ์ได้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามบทบัญญัติของอิสลาม และมีเป้าหมายในสิ่งที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม หากผู้กล่าวสาบานไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของอิสลามหรือมีเป้าหมายที่ขัดแย้งกับหลักคำสอนของอิสลาม การสาบานนั้นให้ถือเป็นโมฆะ
      
7.เงินที่ได้รับจัดสรรเยี่ยวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ถือว่าเป็นมรดก
      
8.การประกาศวันสำคัญในศาสนาอิสลาม (อีดิ้ลฟิตรี และอีดิ้ลอัดฮา ) ในประเทศไทย มีข้อเสนอให้จุฬาราชมนตรีประชุมร่วมกับประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศวันสำคัญของศาสนาอิสลามให้เป็นเอกภาพ

9.การผ่าศพและการขุดศพ เพื่อชันสูตรหาข้อเท็จจริงความเป็นบุคคลสาเหตุการตาย เพื่อหาความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้คำวินิจฉัยของผู้รู้ทาง ศาสนาและได้รับการอนุญาตจากญาติของผู้เสียชีวิต อนึ่ง ในกรณีศพนิรนาม การดำเนินการให้อยู่ ในดุลยพินิจของสำนึกจุฬาราชมนตรี

10.คำวินิจฉัยของอดีตจุฬาราชมนตรี (นายประเสริฐ มะหะหมัด) เกี่ยวกับปัญหาการปฏิบัติตามหลักศาสนาของมุสลิมกับทางราชการ ยังไม่ได้รับการเผยแพร่สู่หน่วยงานราชการ สาธารณชนและสู่การปฏิบัติอย่างทั่วถึง รัฐจะต้องกำหนดเป็นนโยบายสำคัญ เร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
      
ขณะที่ ด้าน นายสุริยา ปันจอร์ กรรมาธิการวิสามัญฯ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ ว่า เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่สนใจ ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และคลายความสงสัยของสังคม จากข้อสรุปของการหารือในครั้งนี้จะนำมาซึ่งความเข้าใจในหลักศาสนาอิสลามมากยิ่ง จะช่วยทำให้ผู้สนใจในเรื่องนี้ถูกต้องมายิ่งขึ้นและไม่มีการแอบอ้างบิดเบือน
      
อย่างน้อยการหารือในครั้งนี้อาจจะช่วยเป็นหนึ่งในร้อยหรือในพันให้สถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้เบาบางไม่มากก็น้อยตามลำดับได้ แต่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับมวลชน และสื่อที่จะช่วยกัน สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น แทนที่ประโคมข่าวจนคนอ่านหรือผู้บริโภค ไม่สามารถแยกแยะและไปสรุปให้ เข้าใจว่าบุคคลนั้นคือตัวจริง ซึ่งเป็นการที่สรุปเร็วเกินไป อาจทำให้คนนั้นต้องตกเป็นจำเลยของสังคมได้เพราะการเสนอข่าวซึ่งต้องมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
      
หลังจากการหารือจนได้ข้อสรุปในครั้งนี้ จะมีการนำสรุปผลการประชุมคณะผู้รู้ทางศาสนาอิสลามเข้าที่ประชุมสภา เพื่อรับทราบและเตรียมเสนอต่อสำนักจุฬาราชมนตรีลงนามประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องได้รับทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215