คณะกรรมาธิการวิสามัญระดมผู้รู้ทุกแขวงทางศาสนาอิสลามทั่วประเทศ 200 คน ร่วมสัมมนาแก้ปัญหาชาติในหัวข้อ “อิสลามกับแนวทางในการสร้างความ สามัคคีและสันติสุข” ในพื้นที่เฝ้าระวังจังหวัดสตูล
วันนี้ (25 มี.ค.) คณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อสอบสวนและศึกษา สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักจุฬาราชมนตรี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคที่ 4 และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโครงการประชุมสัมมนาคณะผู้รู้ศาสนาอิสลามในประเทศไทย ในหัวข้อ เรื่อง “อิสลามกับแนวทางในการสร้างความสามัคคีและสันติสุข” ขึ้นที่โรงแรมพินนาเคิล วังใหม่ จังหวัดสตูล ระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม 2550 โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหลากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 200 คนในการหารือครั้งนี้
โดยมี นายขวัญชัย วงศ์ นิติกร ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวให้การต้อนรับ พร้อมนาย สุริยา ปันจอร์ กรรมาธิการวิสามัญฯ กรรมการกลางอิสลาม แห่งประเทศไทย กล่าวรายงาน ศาสตราจารย์ ดร.อิมรอน มะลูลีม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนา พร้อมบรรยาพิเศษโดย พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 และนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผอ.ศอ.บต.
พร้อมกันนี้ในที่ประชุมสัมมนาได้กำหนดประเด็น 6 หัวข้อ คือ
1.กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกาศว่า “การปฎิบัติการต่างๆ ของผู้ก่อความไม่สงบเป็นการต่อสู้ในทาง ศาสนา” หรือ “ญิฮาด” ตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม
2.กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกจับโดยทางราชการกล่าวไม่ สามารถให้ข้อมูลกับทางราชการได้ เพราะได้ทำ “ซุมเปาะอ์” หรือการสาบานตนตามหลักการอิสลาม ไว้
3.เมื่อมีการตายเกิดขึ้นจากการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนบางกลุ่มได้จัดพิธีศพเสมือนเป็น นักรบศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอิสลาม หรือ “ชะฮีด”
4.มีการจัดสรรเงินเยียวยาให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิตในกรณีการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเห็นว่าเป็นมรดกการจัดสรรเงินจึงต้องเป็นไปตามหลักการแบ่งมรดกตามหลักการอิสลาม
5.เกิดปัญหาการประกาศวันสำคัญทางศาสนาอิสลามในประเทศไทย โดยเฉพาะวันตรุษฮิติลฟิตรี และตรุษอิดิลอัฎฮาไม่เป็นเอกภาพ
6.ในการพิสูจน์ความจริง เพื่ออำนวยความยุติธรรมหรือเพื่อดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นต้องมีการขุดศพของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์
สำหรับความเป็นมาของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ทุกองค์การที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีคำสอนในเรื่องความสามัคคี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างชัดเจน แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งในระดับโลกและสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ดำเนินการสืบเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้นมาตามลำดับนั้น ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อภาพลักษณ์และคำสอนของอิสลามอย่างยิ่ง
ดังนั้น ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นในเวลานี้ได้นำความเสียหายให้เกิดขึ้นทั้งแก่สถาบันสอนศาสนาอิสลาม ภาพลักษณ์ของชาวมุสลิมและศาสนาอิสลามอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายนอกเหนือจากผู้ก่อความไม่สงบจะใช้ความรุนแรงโดยการทำลายชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทำลายทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนแล้ว ผู้ก่อความไม่สงบยังใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อด้วยวิธีการต่างๆ ที่ทำให้เข้าใจผิดว่ามีหลักคำสอนของศาสนาอิสลามส่งเสริมสนับสนุนให้กระทำการเช่นนั้นได้การต่อสู้ได้อ้างเรื่องชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและคำสอนทางศาสนาอิสลาม ข้ออ้างดังกล่าวสามารถชักจูงโน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจผิดแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ตลอดจนสร้างความเข้าใจผิดให้แก่พี่น้องต่างศาสนาว่าศาสนาอิสลามมีคำสอนดังกล่าวอ้างนั้นจริง
เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีความเห็นชอบที่จัดให้มีการสัมมนาครั้งนี้ขึ้น การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการจัดสัมมนาระดับชาติ ทั้งนี้ ได้มีการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ ทางด้านอิสลามมาแลกเปลี่ยนความรู้ และเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมานา ตลอดจนผู้เข้าร่วมสัมมนามีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนคติและความรู้ซึ่งกันและกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นว่า ในการจัดสัมมนาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ และทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามจึงกำหนดหัวข้อเกี่ยวกับ “อิสลามกับแนวทางในการสร้างความ สามัคคีและสันติสุข” นอกเหนือจากการนำเสนอหลักคำสอนของศาสนาต่างๆ ต่อการอยู่ร่วมกันในโลกอย่างสันติสุขแล้ว การจัดประชุมสัมมนานี้ยัง เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีแนวคิดต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อแสวงหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ การสร้างสันติภาพ ภราดรภาพ และความสามัคคีของเพื่อนร่วมชาติต่อไป
วัตถุประสงค์ของงานในครั้งนี้ทางผู้จัด ต้องการให้มีการพิจารณาวินิจฉัยประเด็นปัญหาต่างๆ ทางศาสนาและเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต หรือบรรทัดฐานในการปฎิบัติตามหลักคำสอนของอิสลามแก่ประชาชนทั่วไป และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในการส่งเสริม สนับสนุนในการสร้างสันติภาพ และความสามัคคีแก่คนในชาติ พร้อมส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของศาสนาและวัฒนธรรมต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสร้างสันติภาพ และความสามัคคีของคนในชาติ
อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้นำและผู้รู้ทางศาสนามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา ของสังคมมุสลิม และประเทศชาติโดยรวม
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์