ตรัง, พบต้นยางนากว่า 100 ต้นยืนต้นตายในอุทยานหาดเจ้าไหม ( ข่าวตรัง )
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง พาคณะสื่อมวลชน พิสูจน์การบุกทำลายต้นยางนาเพื่อนำน้ำมันยางไปขาย พบหลายร้อยต้นถูกทำลาย ขณะที่บางต้นยืนต้นตาย เตรียมประสานพื้นที่ ทำความเข้าใจชาวบ้านเพื่อร่วมกันอนุรักษ์
เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (29 มิ.ย.) นายจรัญ ขุนณรงค์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง พร้อมด้วยนายบุญเลิศ จงรัก นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางสัก อำเภอกันตัง ได้นำกำลัง พร้อมด้วยนำสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง เดินทางเข้าไปในพื้นที่ป่าเขาหวาง ? ควนแครง - เขาน้ำราบ บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำบ้านป่าแก่ (บางสัก) หมู่ที่ 2 ตำบลบางสัก ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตามโครงการพระราชดำริ ของสำนักงานชลประทานตรัง และได้มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2540
หลังจากทราบว่า มีชาวบ้านลักลอบใช้ขวานเจาะต้นยางนา ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้อนุรักษ์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อนำน้ำยางไปจำหน่ายให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน ที่มีอาชีพต่อเรือ หรือรับซ่อมเรือ รวมทั้งจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการโลงศพ เนื่องจากน้ำมันยาง สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำน้ำมันชัน เพื่อทำการต่อเรือ ซ่อมเรือ หรือต่อโลงศพ ได้
ในบริเวณดังกล่าวพบต้นยางนาขึ้นอย่างหนาแน่น ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อันเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของอำเภอกันตัง ทั้งต้นขนาดเล็กอายุเพียงไม่กี่ปี แต่บางต้นก็มีขนาดใหญ่หลายคนโอบและมีอายุหลายสิบปี
ทั้งนี้ พบต้นยางนาที่ถูกลักลอบเจาะน้ำยางจำนวนหลายร้อยต้น และแต่ละต้นจะมีร่อยรอยถูกเจาะตั้งแต่ 1-3 แผล และมีความลึกประมาณ 20 เซนติเมตร นอกจากนั้น ยังพบร้อยรอยการจุดไฟเผา เพื่อลนเอาน้ำมันยางออกมา จนทำให้ต้นยางนาบางต้นถึงกับยืนต้นตาย ซึ่งชาวบ้านจะเลือกเอาเฉพาะต้นไม้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากน้ำมันยางที่ได้จะมีความเข้มข้นตามที่ลูกค้าต้องการ
นายจรัญ ขุนณรงค์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กล่าวว่า การเจาะเพื่อเอาน้ำมันยางจากต้นยางนานั้น มีกันมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่จะต้องมีชีวิตอยู่รอด โดยอาศัยธรรมชาติ ตั้งแต่ประเทศไทยยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่สมัยก่อนจะนำน้ำมันยางมาใช้สำหรับจุดใต้ให้แสงสว่าง แต่สมัยนี้ชาวบ้านจะลักลอบทำกันเป็นธุรกิจ โดยเจาะน้ำมันยางเอาไปจำหน่าย ในราคาประมาณถังละ 1,000 บาท ซึ่งกว่าจะได้น้ำยางนา 1 ถังนั้น จะต้องเจาะต้นยางนาถึง 20 ต้น ซึ่งถือเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาว
ดังนั้น ตนจะประสานกับนายก อบต.บางสัก และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ช่วยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพราะหากปล่อยไว้ ก็จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ยางนานั้น ตามกฎหมายระบุว่า ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ไหนก็ตาม จะต้องเป็นไม้สงวน เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำแสงสว่าง และยังมีความผิดตามกฎหมายด้วย เพราะเข้าข่ายการลักลอบเข้ามาเก็บหาของป่า แต่ทางอุทยานจะใช้วิธีการ เรียกชาวบ้านมาทำความเข้าใจ และขอร้องให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์