ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )
ตรัง, สันนิษฐานรากไม้-คลื่นเซาะโพรงหินทำเกาะแหวนแยก ( ข่าวตรัง )
ผู้ประกอบการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง และศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง สำรวจพื้นที่ที่เกิดเหตุแผ่นหินทรุดตัวแยกออกจากเกาะแหวน ในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง เยื้องต้นสันนิษฐานว่า เกิดมาจากการชอนไชของรากไม้ตามแนวร่องหิน อีกปัจจัยหนึ่ง อาจเกิดจากคลื่นทะเลที่ซัดเซาะโพรงหินใต้ฐานเกาะ เมื่อมีฝนตกลงมาอย่างหนักตลอดวัน แผ่นหินในบริเวณดังกล่าว จึงทรุดตัวแยกออกจากเกาะแหวน
วันนี้ (14 มิ.ย.) นายจรัญ ชื่นในธรรม หัวหน้าศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากกรณีที่ได้เกิดเหตุแผ่นหินทรุดตัว แยกออกจากเกาะแหวน ในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา และมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนไปบ้างแล้วนั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเพื่อให้ทราบผลกระทบจากปรากฏการณ์ธรรมชาติดังกล่าว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง และศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง จึงได้ออกไปสำรวจบริเวณพื้นที่ที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2549 โดยได้รับการอำนวยความสะดวก จากอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมอย่างดียิ่ง ทำให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงและผลกระทบที่เกิดขึ้น
สำหรับบริเวณที่เกิดแผ่นหินทรุดตัวในครั้งนี้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะแหวน ซึ่งเป็นด้านที่ต้องปะทะกับคลื่นลมตลอดเวลา โดยสันนิษฐานว่าเกิดมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ปัจจัย
ปัจจัยหนึ่ง อาจเกิดจากการชอนไชของรากไม้ตามแนวร่องหิน อีกปัจจัยหนึ่งอาจเกิดจากคลื่นทะเลที่ซัดเซาะโพรงหินใต้ฐานเกาะ เมื่อถึงกาลเวลาที่ประจวบเหมาะ กอปรกับช่วงวันเกิดเหตุ ก็มีฝนตกลงมาอย่างหนักตลอดวัน แผ่นหินในบริเวณดังกล่าว จึงทรุดตัวแยกออกจากเกาะแหวน ก่อให้เกิดหน้าผาขนาดกว้างประมาณ 50 เมตร และสูงประมาณ 30 เมตร จากระดับเหนือน้ำทะเล
แผ่นหินที่ทรุดแยกตัวได้ทอดนอนยาวออกไปในทะเล และมีลักษณะห่างไปออกจากตัวเกาะแหวน ทำให้ฐานที่อยู่ใกล้เกาะ โผล่สูงขึ้นเหนือน้ำประมาณ 2 เมตร และส่วนที่เหลือจมลงในน้ำ กลายเป็นแนวหินใต้น้ำที่มีความยาวประมาณ 40 เมตร
ทั้งนี้ แผ่นหินดังกล่าวได้กร่อนแตกออกเป็น 3 ชิ้น โดยชิ้นที่อยู่ใกล้ตัวเกาะแหวน เป็นชิ้นใหญ่ที่สุด ส่วนชิ้นกลางและชิ้นที่สาม อยู่ใต้น้ำลึกลงไปจากระดับผิวน้ำประมาณ 5 เมตร ส่วนบริเวณที่แผ่นหินจมลงไปนั้น มีระดับความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 18 เมตร
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อปะการังใต้น้ำ จากการดำน้ำลงไปสำรวจพบว่า บริเวณที่แผ่นหินทอดตัวจมไป ได้ทับถมบริเวณพื้นทรายและแนวปะการังอ่อน แต่ปรากฏความเสียหายเพียงร้อยละ 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งนับได้ว่าเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบอย่างละเอียดกลับ พบว่า เพียงระยะเวลาแค่ 3 สัปดาห์หลังจากเกิดเหตุ ขณะนี้ได้เกิดการฟักตัวของปะการังอ่อน ทั่วบริเวณแนวหินที่จมอยู่ใต้ทะเล นอกจากนี้ ส่วนที่แผ่นหินกร่อนแตกเป็นโพรงเล็กๆ ก็ปรากฏมีฝูงปลามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าจากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ จะค่อยๆ กลับมาสร้างความสมดุลย์ให้เกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าวได้อีกครั้ง และในอนาคตบริเวณนี้ก็อาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สำหรับกิจกรรมดำน้ำลงมาชมแนวปะการัง เนื่องจากมีความสมบูรณ์และสวยงามไม่แพ้เกาะเชือกและเกาะม้า
สำหรับบริเวณที่ได้มีการดำเนินการวางปะการังเทียม ซึ่งจัดทำเป็น ?ประติมากรรมใต้น้ำ? แหล่งท่องเที่ยวดำน้ำใหม่ของจังหวัดตรัง โดยอยู่ห่างจากบริเวณที่เกิดแผ่นหินทรุดตัวประมาณ 700 เมตรนั้น กลับไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น แถมยังมีความคืบหน้าของกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นและเข้ามาอาศัยในบริเวณปะการังเทียม
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผลกระทบทางนิเวศ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง จึงได้ประสานงานกับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เพื่อพิจารณาประกาศ ให้บริเวณที่เกิดแผ่นหินทรุดตัวเป็นเขตฟื้นฟูชั่วคราว เพื่อธรรมชาติจะได้สร้างความสมดุลทางระบบนิเวศน์อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ทำการสำรวจ และเฝ้าติดตามผลทางธรรมชาติเป็นระยะๆ
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์