แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ตรัง, ปัญหาครอบครัว-เศรษฐกิจพุ่งพบสถิติ 5 ปี คนตรังฆ่าตัวตาย 300 คน ( ข่าวตรัง )

ข่าวตรัง : ปัญหาครอบครัว-เศรษฐกิจพุ่งพบสถิติ 5 ปี คนตรังฆ่าตัวตาย 300 คน

ตรัง - ภาวะสังคมมีปัญหารอบด้านทำให้ผู้ที่มีสภาพจิตใจอ่อนแอไม่สามารถทนต่อแรงกดดัน พบสถิติย้อนหลัง 5 ปี ประชากรใน จ.ตรัง ต้องการฆ่าตัวตายจำนวนมาก โดย 300 คน สามารถฆ่าตัวตายสำเร็จ หรือเฉลี่ยปีละ 30 ราย ขณะที่ยอดแต่ละปีที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จมีราว 200-300 คน โดยพบว่าสาเหตุมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวและสภาพเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่เร่งทำงานในเชิงรุกด้วยการขยายเครือข่ายการดูแลสุขภาพจิต และมีการพัฒนาบุคคลากรให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพจิตให้แก่บุคคลที่เข้าข่ายความเสี่ยง

นายแพทย์สาธิต ไผ่ประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวถึงสถิติการฆ่าตัวตายของคนตรัง จากข้อมูลย้อนหลังไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2547-2551 พบคนฆ่าตัวตายสำเร็จและไม่สำเร็จ ดังนี้

ปี 2547 ฆ่าตัวตายสำเร็จ 41 ราย ไม่สำเร็จ 388 ราย ปี 2548 ฆ่าตัวตายสำเร็จ 34 ราย ไม่สำเร็จ 363 ราย ปี 2549 ฆ่าตัวตายสำเร็จ 42 ราย ไม่สำเร็จ 282 ราย ปี 2550 ฆ่าตัวตายสำเร็จ 32 ราย ไม่สำเร็จ 229 ราย และปี 2551 ฆ่าตัวตายสำเร็จ 35 ราย ไม่สำเร็จ 243 ราย โดยเฉลี่ยมีคนฆ่าตัวตายได้สำเร็จปีละ 30-40 ราย ขณะที่ยอดผู้ฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จทั้ง 5 ปี รวม 1,505 คน นอกจากนั้น จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นมาพบว่า มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จไปแล้ว 16 ราย ไม่สำเร็จ 22 ราย

สาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายที่ได้จากการเก็บข้อมูล อันดับที่ 1 คือ ความเครียดอันเนื่องจากขัดแย้งกับบุคคลในครอบครัว และจากสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสภาพเศรษฐกิจทำให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น อันดับที่ 2 คือ ผิดหวังจากความรัก อันดับที่ 3 คือ เป็นโรคซึมเศร้า และอันดับที่ 4 คือ เครียดจากโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย ส่วนวิธีการที่นิยมมากที่สุดคือ การผูกคอตาย และการกินยาฆ่าแมลง ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อดูตัวเลขการฆ่าตัวตายในจังหวัดตรังแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับทุกจังหวัดทั่วประเทศยังถือว่าน้อย

ส่วนแนวทางในการดูแลสุขภาพจิตให้กับประชาชนเพื่อป้องกันการคิดสั้นฆ่าตัวตาย ขณะนี้ได้มีการทำงานในเชิงรุกด้วยการขยายเครือข่ายการดูแลสุขภาพจิต และมีการพัฒนาบุคคลากรให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพจิตให้กับบุคคลที่เข้าข่ายความเสี่ยงโดยตรง และดึงชุมชน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้ามาร่วมด้วย เพื่อจะได้เฝ้าระวังและให้คำปรึกษากับคนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงได้เต็มที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้คนในครอบครัวสนใจ และรับรู้ปัญหาของคนในครอบครัวด้วยกัน เพื่อสร้างความรักและความเข้าใจ หรือการดูแลซึ่งกันและกัน

นายแพทย์สมนึก เชื้อทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่เกิดปัญหาวิกฤติในประเทศหลายด้าน ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนเกิดความเครียดกันมาก ทางโรงพยาบาลตรังจึงได้มีการตั้งกลุ่มงานจิตเวช และเปิดคลินิกจิตเวชขึ้น มีแพทย์มาประจำให้คำปรึกษากับประชาชนที่มีปัญหา และได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตรัง โดยแพทย์จะมีการประเมินคนไข้ทุกรายว่า เข้ากลุ่มจะเป็นโรคซึมเศร้า หรือจะมีปัญหาทางจิตเวชตามมาหรือไม่ หากพบว่าใครมีความเสี่ยงก็จะส่งเข้าให้กลุ่มงานจิตเวชดูแลต่อไปเพื่อเป็นการป้องกัน และหลังจากคนไข้ออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ก็จะมีการติดตามอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

พญ.ดลฤดี เพชรสุวรรณ แพทย์ประจำกลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลตรัง กล่าวว่า ทางคลินิกจะให้คำปรึกษาด้านจิตเวชแก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ประมาณวันละ 50 คน แต่โรงพยาบาลตรังจะรับผิดชอบกรณีการฆ่าตัวตาย เฉพาะของพื้นที่อำเภอเมืองตรังเท่านั้น ซึ่งจากตัวเลขที่จดบันทึกได้ในปีงบประมาณ 2551 พบฆ่าตัวตายสำเร็จ 10 ราย ไม่สำเร็จ 107 ราย ส่วนในปี 2552 พบฆ่าตัวตายสำเร็จแล้ว 9 ราย สำหรับการฆ่าตัวตายไม่สำเร็จนั้นก็คือ การกินยาฆ่าแมลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อทางโรงพยาบาลรับตัวคนไข้เข้ารักษาจนอาการปลอดภัยแล้ว กลุ่มงานจิตเวชก็จะนำตัวมาดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจต่อ เพื่อให้คนไข้มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นและไม่คิดสั้นฆ่าตัวตายอีก

โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากความเครียดที่ผิดหวังในความรัก จากปัญหาเศรษฐกิจ และจากภาวะโรคซึมเศร้า ซึ่งแนวโน้มสถานการณ์การคิดสั้นฆ่าตัวตายในจังหวัดตรัง มองว่าน่าเป็นห่วง เพราะคนไทยเกิดความเครียดมากขึ้น และปรับตัวต่อความเครียดไม่ได้ ซึ่งการช่วยเหลือไม่ให้คนคิดสั้นฆ่าตัวตายนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนในครอบครัวจะต้องมีความเข้าใจกัน หรือหากมีปัญหาก็ต้องเปิดใจคุยกัน เพื่อให้อีกฝ่ายได้ระบายความในใจ และเปิดเผยปมในใจออกมา เพราะความเข้าใจและห่วงใยซึ่งกันและกันจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215