ตรัง - เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ขึ้นบินสำรวจฝูงพะยูนที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลตรัง ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยที่สำคัญ หลังพบชาวประมงพื้นบ้านจากต่างถิ่น และแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาทำประมงแบบผิดกฎหมาย จนทำให้พะยูนต้องตาย และพบพะยูนถูกล่าตามใบสั่งขายพะยูนในตลาดมืด
จากกรณีที่แกนนำกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านตำบลเกาะลิบง อ.กันตัง และเครือข่ายชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ออกมาระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมาได้พบชาวประมงพื้นบ้านจากต่างถิ่น โดยเฉพาะจากจังหวัดสตูล และแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าจำนวนหนึ่ง ลักลอบเข้ามาทำประมงแบบผิดกฎหมายในหลายลักษณะ
จนทำให้พะยูนต้องตายไปลงไปแล้วถึง 25 ตัว ขณะเดียวกัน ก็ยังพบพะยูนถูกล่าตามใบสั่งไปแล้วกว่า 10 ตัว โดยมีราคาขายพะยูนในตลาดมืด ทั้งตัวราคา 50,000 บาท เฉพาะกระดูกราคา 30,000 บาท หรือเฉพาะเขี้ยวคู่ละ 30,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อเอาไปใช้สำหรับการผลิตยาบำรุง และทำเครื่องรางของขลัง โดยตลาดรับซื้อรายใหญ่จะอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันนี้ (23 มี.ค.) นายมีชัย อัยศูรย์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดนำเครื่องพารามอร์เตอร์ พร้อมสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ขึ้นบินสำรวจฝูงพะยูนที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลตรัง ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยที่สำคัญ และมีความสมบูรณ์มากที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้ เนื่องจากในท้องทะเลตรังนั้นเต็มไปด้วยหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของพะยูนที่มีจำนวนมากถึง 11 ชนิด จากหญ้าทะเลที่พบในประเทศไทยทั้งหมด 12 ชนิด
ทั้งนี้ จากการบินสำรวจในตอนเช้าตรู่ เจ้าหน้าที่พบเฉพาะฝูงปลาโลมาปากขวดฝูงใหญ่ ที่กำลังเล่นน้ำอยู่ โดยไม่พบพะยูนแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากน้ำขึ้นได้สักระยะ เจ้าหน้าที่จึงได้นำผู้สื่อข่าวขึ้นไปบินสำรวจอีกครั้ง ก็พบพะยูนกำลังหากินอยู่ตามลำพังเพียง 1 ตัว น้ำหนักประมาณ 200-300 กิโลกรัม
ส่วนสาเหตุที่พบพะยูนจำนวนน้อย คงเป็นเพราาะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นไม่เต็มที่ พะยูนจึงไม่ได้ขึ้นมาหากินเป็นจำนวนมากๆ เหมือนกับเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ ที่ขึ้นไปบินสำรวจพบพะยูนฝูงใหญ่จำนวนกว่า 10 ตัว กำลังกินหญ้าทะเลอยู่บริเวณชายฝั่งของจังหวัดตรัง
นายมีชัย อัยศูรย์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง กล่าวถึงแนวทางการป้องกันการเสียชีวิตของพะยูน โดยล่าสุดพบพะยูนตายลงอีก 2 ตัว ในบริเวณแหลมจุโหย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเขตห้ามล่าฯ ว่า พะยูนตัวนี้ติดอวนปลากระเบน ไม่ใช่อวนปลิง เพราะอวนปลิงจะมีตาถี่ จึงติดได้ยาก แต่อวนปลากระเบนจะมีตาขนาดใหญ่ เมื่อพะยูนว่ายน้ำเข้าไปใกล้จึงติดได้ง่าย
พร้อมยืนยันว่าพะยูนตัวที่ตายลงล่าสุดนั้นไม่ได้อยู่ที่แหลมจุโหย ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยประจำ และมีหญ้าทะเลสมบูรณ์แต่อย่างใด เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ไปคอยลาดตระเวนอยู่เป็นประจำ และไม่เคยพบการวางอวนปลากระเบน ส่วนพะยูนอีกจำนวนหนึ่งที่ตายไปเพราะเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย เช่น เบ็ดราไว ยืนยันได้ว่าอยู่นอกเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ
ดังนั้นจึงเชื่อว่าพะยูนตัวดังกล่าวคงลอยมาจากที่อื่น ประกอบกับอวนปลากระเบนจะต้องวางในร่องน้ำลึก และเป็นปกติของพะยูน เมื่อน้ำลงก็จะว่ายน้ำไปหากินในร่องน้ำที่ลึกลงไป เช่น ร่องน้ำแถบเกาะเหลาเหลียง จึงไปเจออวนปลากระเบนและติดเข้าจนตายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ทำการเฝ้าระวังอยู่เป็นประจำ
และได้ขอความร่วมมือจากชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้ใช้เครื่องมือทำประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน และสัตว์น้ำตัวเล็กๆ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเช่นกัน ส่วนข่าวการล่าพะยูน เพื่อส่งไปขายที่ประเทศสิงคโปร์นั้น คิดว่าคงไม่มี และคงเป็นความไม่ตั้งใจ หรือคงไม่ทราบว่า ในพื้นที่ตำบลเกาะลิบงมีพะยูนอาศัยอยู่
นายมีชัย กล่าวถึงปัญหาที่พบการใช้เครื่องมือแบบผิดกฎหมายว่า ไม่ใช่เกิดจากฝีมือของคนในพื้นที่ แต่เป็นคนที่มาจากต่างถิ่น ที่ลักลอบเข้ามาจับปลาแล้วก็หนีกลับไป เช่น มาจากพื้นที่จังหวัดสตูล เป็นต้น สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา นอกจากจะเพิ่มการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่แล้ว ยังต้องประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ได้ตระหนักถึงความสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งไม่เข้าไปทำประมงในแหล่งอาศัย และหากินของพะยูนโดยเด็ดขาด ตลอดจนการร่วมกันเฝ้าระวังไม่ให้คนจากต่างถิ่น เข้ามาลักลอบทำประมงแบบผิดกฎหมายในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง
นางสาวกาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการ 8 สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ชายฝั่ง และป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต ผู้ซึ่งศึกษาเรื่องพะยูนในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า เรื่องของการนำกระดูก หรือเขี้ยวพะยูน ส่งไปขายยังต่างประเทศ ตนเองเคยได้รับข้อมูลมาตั้งแต่เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว โดยการบอกเล่าของชาวประมงพื้นที่บ้าน ที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ว่ามีการนำส่งไปขายให้กับนายทุนที่ประเทศมาเลเซีย และอีกส่วนหนึ่งถูกนำไปทำเครื่องประดับ เช่น แหวน กำไล เพราะบางคนมองว่าเป็นเรื่องความสวยงาม หรือเป็นเรื่องเครื่องรางของขลัง แต่ปัจจุบันตนไม่ทราบว่าพฤติกรรมดังกล่าวยังมีอยู่อีกหรือไม่
สำหรับกรณีที่แกนนำเครือข่ายชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ออกมาให้ข่าวการล่าพะยูนเพื่อนำชิ้นส่วนส่งไปขายยังต่างประเทศนั้น เชื่อว่าน่าจะมีข้อมูลที่ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้มาในระดับหนึ่ง ส่วนจะมีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหนเพียงใด ขณะนี้ตนคงไม่สามารถตอบได้ และคงเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องไปตรวจสอบ
ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนได้รับทราบข่าวการซื้อขายพะยูนก็ได้แจ้งไปยังนายมีชัย อัยศูรย์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ให้รับทราบในเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปี 2552 เป็นต้นมา มีพะยูนต้องตายลงไปจำนวนมากจนผิดสังเกตุ และถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสนใจ
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์